สำรวจ ‘เด็กจนเงียบเชียบ’ อีกมุมมืด…ระบบการศึกษาไทย / การศึกษา

การศึกษา

 

สำรวจ ‘เด็กจนเงียบเชียบ’

อีกมุมมืด…ระบบการศึกษาไทย

 

เป็นข้อมูลที่สร้างความ “สะเทือนใจ” ให้ผู้คนในสังคมอย่างยิ่ง เมื่อนักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ได้ตีแผ่ข้อมูลเชิงลึกของเด็กๆ ที่ “หลุดจากระบบการศึกษา” ว่า ส่วนหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะต้องออกไป “ทำมาหากิน” หรือ “แอบอยู่ในมุมมืด” ของชุมชนแออัด โดยอยู่ตามสี่แยกไฟแดง ขายของ ขายพวงมาลัย พ่อแม่ฝากไว้ที่วัด ไปอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งพาไปนั่ง “ขอทาน”

ซึ่งเด็กเหล่านี้แทบจะ “ไม่มี” โอกาสกลับมาเรียนได้เลย…

ศ.ดร.สมพงษ์มองว่านโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน” แม้จะเป็นนโยบายเกรดเอของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีเด็กๆ หลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,700 คน แต่ในจำนวนนี้ก็มีถึง 50% ที่เด็กมีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำสอง ศธ.จึงต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือเด็กให้ครอบคลุมที่สุด

ประกอบกับที่ผ่านมา ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้จะติดตามเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบได้จำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีเด็กๆ อีกประมาณ 17,000 คน ที่ไม่สามารถตามให้กลับเข้ามาเรียนหนังสือได้

จากการลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก ยะลา และกรุงเทพฯ ไปติดตามเด็ก 170 คน ที่หลุดจากระบบการศึกษา ศ.ดร.สมพงษ์พบว่าเด็ก 53.93% ไม่เคยได้รับทุนการศึกษา อีกทั้งยังพบลักษณะร่วมของเด็กเหล่านี้คือ “ยากจนเงียบเชียบ” ได้แก่ พูดน้อย เสียงเบา ถามคำตอบคำ แต่น้ำตาจะคลอเบ้า และถ้าเจอคำถามหนักๆ จะร้องไห้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กดี ใฝ่ดี และเรียนหนังสือ เสียสละ เพราะต้องออกมาทำงานหาเงินช่วยพ่อแม่

โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่ขาดรายได้ รายได้น้อย พ่อแม่ตกงาน ไม่มีเงินมาอุปการะเลี้ยงดู เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเด็กเหล่านี้จะทราบปัญหาของครอบครัวดี จึงพร้อมที่จะออกจากระบบการศึกษามาทำงานช่วยเหลือครอบครัว

สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เด็กๆ กลุ่มนี้กลับเข้าระบบการศึกษาได้ เพราะ “ค่าใช้จ่าย” ที่สูงมาก ในกรุงเทพฯ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายสูงถึง 37,257 บาท ส่วนต่างจังหวัดมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,832 บาท

ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่มีเงิน และยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง ทำให้ถูกละเลย!!

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ยังพบข้อมูลว่าในช่วง “รอยต่อ” ของ “ระดับการศึกษา” ที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก อาทิ ระดับชั้นอนุบาล 3 ขึ้นชั้น ป.1 มีโอกาสหลุดจากระบบ 4% ระดับชั้น ป.6 ขึ้นชั้น ม.1 มีโอกาสหลุดจากระบบ 19% และในระดับชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 มีโอกาสหลุดจากระบบมากถึง 48%

โดยส่วนใหญ่กลุ่มยากจนเงียบเชียบ จะหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อมากที่สุด…

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ได้จำแนกเด็กกลุ่มยากจนเงียบเชียบออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. กลุ่มเด็กที่ยากจนเงียบเชียบ เด็กเหล่านี้กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนจะสอดคล้องกับขนาดพื้นที่ และบริบทของจังหวัดนั้นๆ เด็กเหล่านี้จะทราบปัญหาในครอบครัว พร้อมออกจากระบบการศึกษาเพื่อช่วยเหลือครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิตสะสม จนกลายเป็นเด็กที่เครียด เงียบ

2. กลุ่มเด็กพิการ จากข้อมูลพบว่ามีเด็กพิการ 7-8 พันคน มีข้อมูล แต่ติดตามกลับเข้าระบบไม่ได้ ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา แม้ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่กลับถูกสังคมปล่อยปละละเลย และทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งระบบโรงเรียนไม่ได้ใส่ใจเด็กกลุ่มนี้มากเท่าที่ควร

และ 3. กลุ่มเด็กชายขอบ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กมุสลิม และกลุ่มเด็กข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษาเช่นกัน เพราะปัจจุบันการเรียนรู้อยู่ในลักษณะรวมศูนย์ ประกอบกับเด็กกลุ่มนี้เรียนภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ทำให้เด็กลาออกกลางคัน และหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก

โดยเด็กทั้ง 3 กลุ่มนี้จะเร้นกายออกจากระบบอย่างเงียบๆ และเด็กอาจรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับตนเอง จึงกลายเป็นปมในชีวิตเด็ก

ดังนั้น พื้นที่ที่มีเด็กเหล่านี้ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยต้องมีเป้าหมายเพื่อช่วยเด็กเหล่านี้ให้ไปต่อ และมีชีวิตรอดในสังคม!!

 

อย่างไรก็ตาม เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยข้อมูลของ ศธ.เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่น และออกกลางคัน รวม 121,642 คน

ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวม 67,129 คน

พบตัว 52,760 คน พากลับเข้าระบบ 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน

ที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับ และต้องการประกอบอาชีพ

สำหรับกลุ่มเด็กที่ “ไม่กลับเข้าระบบ” 21,314 คน แม้จะติดตามตัวพบแล้ว ดังนี้

ระดับการศึกษาภาคบังคับ ไม่กลับเข้าระบบ 10,929 คน แบ่งเป็น จบการศึกษาภาคบังคับ และไม่ประสงค์เข้าเรียนต่อ 3,953 คน อายุพ้นเกณฑ์ และไม่ประสงค์เรียนต่อ 1,283 คน ความจำเป็นทางครอบครัว 1,128 คน ย้ายถิ่นที่อยู่ 1,148 คน ไม่ระบุ 707 คน ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 666 คน ผู้ปกครองมีรายได้น้อย 594 คน สุขภาพของครอบครัว 409 คน ความพิการ 243 คน สุขอนามัย 246 คน ปัญหาการปรับสภาพตัวเองในสังคม 233 คน การคมนาคมไม่สะดวก 105 คน การประพฤติปฏิบัติขัดระเบียบของสถานศึกษา 70 คน เสียชีวิต 64 คน อยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยง 48 คน และได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ 32 คน

และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่กลับเข้าระบบ 10,385 คน แบ่งเป็น ความจำเป็นทางครอบครัว 2,780 คน จบการศึกษาภาคบังคับ และไม่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อ 1,697 คน สุขภาพของครอบครัว 1,094 คน ผู้รายงานไม่ระบุ 1,071 คน ผู้ปกครองรายได้น้อย 764 คน ปัญหาการปรับสภาพตัวเองในสังคม 682 คน ย้ายถิ่นที่อยู่ 534 คน อายุพ้นเกณฑ์ และไม่ประสงค์จะเรียนต่อ 423 คน การประพฤติ ปฏิบัติขัดกับระเบียบของสถานศึกษา 335 คน ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 330 คน อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 221 คน สุขอนามัย 203 คน การคมนาคมไม่สะดวก 178 คน ได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ 51 คน ความพิการ 14 คน และเสียชีวิต 8 คน

ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่าพอใจผลการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนในเฟสแรก และประกาศเดินหน้าพาน้องกลับมาเรียนในเฟส 2 ต่อ โดยตั้งเป้าจะพาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีก 21,314 คน กลับเข้ามาเรียนให้ได้ 100% ภายในเดือนกันยายนนี้!!

 

ล่าสุด ผู้บริหาร สพฐ.ได้ประชุมกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการพาน้องกลับมาเรียน เฟส 2 โดยมอบหมายให้ สพท.และโรงเรียน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน เพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเด็กที่อยู่ในการศึกษา “ภาคบังคับ” กลับเข้ามาเรียน

ส่วนเด็กที่อายุ “พ้นเกณฑ์” การศึกษาภาคบังคับ จะใช้วิธีโน้มน้าวให้ผู้ปกครองส่งเด็กไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป

โดย สพฐ.จะมีแนวทางดูแล ป้องกันกลุ่มเด็กที่กลับเข้าระบบการศึกษา ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาอีก โดยให้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อดูแลช่วยเหลือตามสาเหตุ

ต้องตามติดใกล้ชิดว่า ศธ.จะ “พาน้องกลับมาเรียน” ได้ครบ 100% ตามที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้หรือไม่!! •