ระเบิดและการวิสามัญ หลังรอมฎอนสันติ จะยิ่งกระทบการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

ระเบิดและการวิสามัญ

หลังรอมฎอนสันติ

จะยิ่งกระทบการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

ความรุนแรง การระเบิด และการวิสามัญจำนวนมากต่อผู้เห็นต่างและตอบโต้ด้วยความรุนแรงสองสามวันก่อนอีดิ้ลอัฎฮาและหลังข้อเสนอ “เข้าพรรษาสันติ” ของเครือข่ายชาวพุทธ

สะท้อนทฤษฎี : พูดไปยิงไป

“เส้นทางกระบวนการสันติภาพไม่ได้เป็นเส้นตรงแต่จะขึ้นๆ ลงๆ ย้อนหรือถอยกลับไปบ้างเป็นระยะ ทว่า บนเส้นทางล้วนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ หยุดความรุนแรงและสร้างสังคมที่เป็นธรรม อันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน” (อ้างอิงจากวง IPP https://peaceresourcecollaborative.org/wp-content/uploads/2020/04/IPP-7.pdf)

ความเป็นจริงก็ต้องเห็นใจรัฐเช่นกันว่า หลังข้อตกลงรอมฎอนสันตินั้นมีเหตุความรุนแรงเรื่อยมา โดยเฉพาะเหตุระเบิดใกล้กับป้อมตำรวจ “หน่วยบริการประชาชนจันทรักษ์” ท้องที่บ้านปาลัส ต.ควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

ระเบิดในรูปแบบ “คาร์บอมบ์” จัดเป็นความรุนแรงระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา

คาร์บอมบ์ครั้งนี้ สำนักข่าวอิศราให้ข้อมูลว่า ถือเป็นระเบิดคาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 2565 และเป็นคาร์บอมบ์ลูกที่ 59 นับตั้งแต่มีสถานการณ์ไฟใต้ปะทุขึ้นมาเมื่อปี 2547 ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2563-2564 พบว่าเกิดเหตุคาร์บอมบ์ขึ้นปีละ 1 ครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงรอมฎอนสันติในภาพรวมการตอบรับการหยุดยิงถือว่าสำเร็จระดับหนึ่ง

“ผลสำเร็จกระบวนการพูดคุยทำให้ไร้เหตุรุนแรงทางทหารช่วงถือศีล แม้พบเพียง 1 ครั้ง จากพูโล G 5 ที่ออกมายอมรับ แต่ก็พบว่าความรุนแรงลดลงจากปีก่อนเกือบ 100 ครั้ง จึงควรได้รับสานต่อ” อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ จากสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ทัศนะต่อผู้เขียน

“ประเด็นสำคัญคือ ความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในห้วงปีปัจจุบัน ซึ่งปรากฏข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวที่มีการเข้าร่วมตกลงจากแกนนำปีกการทหารที่คุมกำลังระดับปฏิบัติ รวมทั้งมีการกำหนดช่องทางและกลไกประสานงานไว้รัดกุม ทั้ง contact person และ hot line ระหว่างกัน แม้บทบาทของผู้อำนวยความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีปัญหาไม่น้อยก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวกระบวนการมีความก้าวหน้ากว่าอดีตมากทีเดียว”

“กระนั้น ความก้าวหน้าที่ว่าก็อาจไม่พอในการทำให้เรามองแนวโน้มในแง่ดีได้มากมายขนาดนั้น ทั้งนี้ ก็เพราะประการแรก ในช่วงของการตกลงหยุดยิงชั่วคราว เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นและเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองของพื้นที่โดยตรง คือ การก่อเหตุของกลุ่มพูโล ซึ่งมีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับชี้ถึงความบกพร่องของกระบวนการพูดคุยที่เป็นอยู่ ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า กระบวนการพูดคุยในระยะต่อไปจะต้องผนวกรวมกลุ่มที่หลากหลายเข้าไว้มากขึ้น”

“ประการที่สองที่สืบเนื่องกันคือ ความบกพร่องของกระบวนการพูดคุยที่พูโลชี้ คือ การจำกัดเพดานการพูดคุยเอาไว้ด้วยกรอบรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเพดานจำกัดนี้ปรากฏทั้งข้อตกลงในกระบวนการพูดคุยรอบ Dialogue I และ Dialogue III สะท้อนถึงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างคู่ขัดแย้งบนโต๊ะเจรจา ซึ่งรัฐไทยสามารถกำหนดเพดานของวาระทางการเมืองได้ ความตีบตันจำกัดข้อนี้อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่แยกตัวออกมาและเชื่อในการสู้ด้วยการทหารต่อไป เพราะไม่เชื่อถือว่าวิธีการพูดคุยจะช่วยให้เขาสามารถถกแถลงวาระทางการเมืองอันเป็นหัวใจรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงได้ มิพักนับไปถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายในพื้นที่และสังคมใหญ่ ก่อตัวเป็นความยากในการบรรลุสันติภาพด้วยกระบวนการพูดคุย”

อาจารย์อาทิตย์ระบุ

 

น.ส.ลม้าย มานะกิจ ตัวแทนชาวพุทธเปิดเผยว่า “10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ลานหอนาฬิกาสามวัฒนธรรมเทศบาลเมืองปัตตานี ชาวพุทธผู้รักสันติ ร่วม 50 คน จากสงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี พร้อมใจกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และข้อเสนอ ‘เข้าพรรษาสันติ-ปลอดภัย สำหรับทุกคน'”

เพื่อเป็นการยืนยันว่า ชาวพุทธเคารพการอยู่ร่วมกัน วันดีของเพื่อนต่างศาสนิกคือวันดีของพวกเรา ในการทำกิจกรรมแห่งความดี ที่ชาวพุทธอย่างเราร่วมกันแสดงตัวตน ผู้รักสันติ เรียกร้องต่อคู่พูดคุยทั้งสองฝ่ายรัฐไทยและกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (บีอาร์เอ็น) และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงทุกกลุ่ม ให้วันเข้าพรรษา ถึงวันชักพระ สามเดือนอันประเสริฐดำเนินไปอย่างสันติ-ปลอดภัย โดยเฉพาะชาวพุทธซึ่งต้องสามารถปฏิบัติกิจทางศาสนาในช่วงเข้าพรรษาทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนได้อย่างปลอดภัย

ไม่เพียงภาคประชาชนชาวพุทธเท่านั้นที่ผลักดันเรื่องนี้ แต่เครือข่ายภาคประชาชนมุสลิมก็เห็นด้วยกับข้อเสนอชาวพุทธ โดยเสนอว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ร่วมกันระหว่างผู้เห็นต่างจากบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย เพราะแม้รัฐบาลไทยไม่ได้มีปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัว มีการปลดป้ายภาพถ่ายผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่ยังมีการดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ อยู่

ดังนั้น แม้ในภาพรวมทั้งสองฝ่ายมีความพยายามในการรักษาคำมั่นในข้อตกลงค่อนข้างดี แต่ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ยังพบว่ามีปฏิบัติการที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต การทุกคุกคามเมื่อแสดงออกที่เห็นต่าง แม้กระทั่งการพูดเรื่องเอกราช (Merdeka) โดยไม่ถูกคุกคาม เพราะที่ผ่านมาความไม่ปลอดภัยนี้ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่กล้าที่จะสื่อสาร

อย่างไรก็ดี เราก็เห็นสัญญาณที่ดีมากๆ จากเวทีมองภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้จากทุกภาคส่วน แม้แกนนำ BRN นอกประเทศ

 

ปัจจัยสำคัญในการบรรลุสันติภาพด้วยกระบวนการพูดคุยนั้น นักสิทธิมนุษยชน เช่น น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 25 มิถุนายน 2565 บอกต่อผู้เขียนว่า “ผลกระทบที่สั่งสมเกือบยี่สิบปีจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง มีผู้ที่ได้ผลกระทบมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดมีจำนวนผู้หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าสูงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ ในช่วงระหว่างปี 2547-2563 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงจำนวน 655 คน และผู้ชายจำนวน 6,526 คน ยิ่งผู้ชายเสียชีวิตมาก ยิ่งเกิดวิกฤตแม่หม้ายเป็นเงาตามตัว และหากแยกตามวัย พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิตจำนวน 271 คน และมีเยาวชน อายุระหว่าง 18-25 ปี เสียชีวิตจำนวน 906 คน”

“จากเหตุผลดังกล่าวจึงควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนร่วมจากโต๊ะเจรจาสันติภาพปาตานี/ชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่อง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ การค้นหาความจริง การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การช่วยซ่อมสร้างชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย (การชดใช้เยียวยา) และการสร้างหลักประกันว่าการละเมิดสิทธิ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก”