ปรับแต่งโลกาภิวัตน์ แก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองโลก (ต้น)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ปรับแต่งโลกาภิวัตน์

แก้วิกฤตเศรษฐกิจการเมืองโลก (ต้น)

 

แดนี รอดริก นักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรเคียที่ประจำทำงานเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศอยู่ ณ วิทยาลัยการปกครองจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ เป็นที่รู้จักในฐานที่ตั้งคำถามต่อเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์มาแต่เนิ่นว่า โลกาภิวัตน์ไปไกลเกินไปแล้วไหม? ตั้งแต่ปีเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 1997 https://drodrik.scholar.harvard.edu/publications/has-globalization-gone-too-far)

ต่อมาเขาก็นำเสนอความเชื่อมโยงอันเป็นปริศนาทางสามแพร่งทางการเมือง (political trilemma) ของระบบเศรษฐกิจโลก ได้แก่ [ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์-อธิปไตยแห่งชาติ-ประชาธิปไตยในประเทศ] ซึ่งประเทศหนึ่งๆ จะเลือกได้แค่ 2 จาก 3 สิ่ง ในงานเรื่อง The Globalization Paradox : Democracy and the Future of the World Economy (2011) โดยเฉพาะบทที่ 9 The Political Trilemma of the World Economy หมายความว่า :

– ชาติหนึ่งอาจเป็นประชาธิปไตยและมีอธิปไตยได้ แต่ไม่อาจไฮเปอร์โลกาภิวัตน์

– หรือไม่ก็อาจเป็นไฮเปอร์โลกาภิวัตน์และประชาธิปไตย แต่ถ้างั้นก็ต้องยอมสละอธิปไตยแห่งชาติให้แก่อำนาจปกครองระดับโลก

– หรือมิฉะนั้นก็อาจมีอธิปไตยและเป็นไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ แต่ถ้างั้นก็ต้องยอมละเลิกหลักพร้อมรับผิดแบบประชาธิปไตย

(https://www.matichonweekly.com/column/article_51496)

ล่าสุด รอดริกได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว น.ส.พ. Le Monde ของฝรั่งเศสถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกจากอดีตระยะใกล้ถึงปัจจุบัน และนำเสนอวิสัยทัศน์การค้าเสรีที่แตกต่างออกไปเพื่อเป็นทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตประชาธิปไตยที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผมขอเรียบเรียงมานำเสนอดังต่อไปนี้ :

(https://www.lemonde.fr/economie/article/2022/05/19/l-essor-du-populisme-autoritaire-est-lie-a-la-disparition-des-emplois-de-qualite-dans-la-classe-moyenne_6126795_3234.html)

แดนี รอดริก @มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด & ทางสามแพร่งทางการเมืองของเศรษฐกิจโลก

เลอมงด์ : เราสรุปได้ไหมครับว่าการดวลกันระหว่างเอ็มมานูเอล มาครง กับมารีน เลอ เปน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้นเป็นการเอาพวกผู้ชนะกับผู้แพ้ของโลกาภิวัตน์มาตั้งประชันกัน?

รอดริก : มีการนิยามประชานิยมขวาจัดอยู่ 2 สำนักคิดด้วยกันครับ สำนักแรกเน้นสงครามวัฒนธรรมที่ถูกเคี่ยวข้นด้วยการผงาดขึ้นมาของความเกลียดกลัวต่างชาติและคตินิยมเชื้อชาติ ส่วนสำนักคิดที่สองนั้นถือหางเข้าข้างคำอธิบายทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับตลาดแรงงานซึ่งถูกโลกาภิวัตน์เปลี่ยนโฉมไป

ส่วนตัวแล้ว ผมเองคิดว่าการผงาดขึ้นของประชานิยมแบบอำนาจนิยมในหลายประเทศยุโรปและสหรัฐนั้นเชื่อมโยงกับการหายไปของการงานอาชีพคุณภาพดีในหมู่คนชั้นกลางในประเทศเหล่านั้น นี่เกิดจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกันรวมทั้งโลกาภิวัตน์ซึ่งไปเร่งกระบวนการลดความเป็นอุตสาหกรรมให้รวดเร็วขึ้น (deindustrialization) การสูญเสียโรงงานไปได้ลดอุปทานการงานอาชีพสำหรับประชากรแหล่งหนึ่งลง คนพวกนี้บางทีก็มีสมรรถภาพสูงนะครับ แต่ว่าย้ายถิ่นที่อยู่ไม่ได้คล่องนัก และไม่มีคุณวุฒิที่จำเป็นสำหรับการจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์อีกต่างหาก

แต่โลกาภิวัตน์ก็ไม่ใช่พลังเดียวที่ส่งผลอยู่นะครับ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ก็มีส่วนอยู่ด้วย แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบขุดรากถอนโคนสุดลิ่มทิ่มประตูซึ่งผลักดันให้เปิดเสรีและลดละเลิกระเบียบกฎเกณฑ์กำกับตลาดแรงงานทิ้งหมดมันทำให้ผู้คนพากันวิตกกังวล อันที่จริงไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง มันก็มีคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบเอียงขวาจัดอยู่เสมอแหละครับ

แต่ประเด็นอยู่ตรงพวกผู้นำขวาจัดสามารถฉวยใช้ทั้งความวิตกกังวลและอาการช็อกข้างต้นที่กระทบเศรษฐกิจประเทศต่างๆ อย่างฝรั่งเศสในช่วง 30 ปีหลังมานี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวสำเร็จ

 

เลอมงด์ : อะไรผิดพลาดไปหรือครับถึงได้เป็นแบบนี้?

รอดริก : ปฏิทรรศน์ย้อนแย้งชวนฉงนของโลกาภิวัตน์กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาก็คือมันได้บูรณาการชาติต่างๆ เข้ามาในเศรษฐกิจโลกขณะเดียวกับที่กระแทกกระทั้นเศรษฐกิจของชาติต่างๆ เหล่านั้นจนข้อต่อโครงสร้างหลุดเลื่อนผิดที่ผิดทางไป

เอาเข้าจริงก่อนคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นั้นน่ะ เรามีตัวแบบโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียวนะครับ สมัยนั้นด้านหลักแล้วพวกผู้วางนโยบายใช้การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกมาสนับสนุนเศรษฐกิจชาติให้เติบโตก่อนอื่น เวลาสองอย่างนี้มันไปกันไม่ได้ พวกเขาก็เจรจาต่อรองให้มีข้อยกเว้นหรือมาตรการปกป้อง ตัวอย่างเช่น เมื่อมีกระแสคลื่นการนำเข้าเสื้อผ้าราคาถูกจากบรรดาประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เหล่าประเทศร่ำรวยก็เจรจาต่อรองทำข้อตกลงมัลติไฟเบอร์กับพวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของตัวขณะเดียวกันก็หยิบยื่นข้อผ่อนปรนอ่อนข้อบางอย่างให้เป็นการแลกเปลี่ยน จะเห็นได้นะครับว่าเหล่าประเทศร่ำรวยรู้ทางหนีทีไล่ว่าจะปลีกตัวออกห่างโลกาภิวัตน์ยังไงถ้าหากมันคุกคามตัวเองเข้า

แต่ว่าทำอย่างนี้ไม่ได้เสียแล้วในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เมื่อมีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ขึ้น พวกผู้นำสมัยนั้นรวมทั้งฝ่ายซ้ายด้วย อาทิ โทนี แบลร์ ในสหราชอาณาจักร แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ในเยอรมนี และบิล คลินตัน ในสหรัฐอเมริกา ดันเชื่อว่าจำเป็นต้องปรับตัวรับโลกาภิวัตน์แทนที่จะปรับโลกาภิวัตน์ให้เข้ากับตัว แม้ในยามที่มันไม่ได้เสนอให้แต่ข้อได้เปรียบเท่านั้นด้วยซ้ำไป

ส่วนผมกลับเห็นว่าการถือหางเข้าข้างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศตัวเองไม่จำต้องทำให้เศรษฐกิจโลกเสียเปรียบเสมอไป เพราะถึงไงการค้าการลงทุนทั่วโลกก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี 1945 ถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 นี่ครับ

 

เลอมงด์ : ในจังหวะที่สงครามในยูเครนจุดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ให้ลุกติดขึ้นมาอีกนี่น่ะ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่อโลกาภิวัตน์ (de-globalization) รูปแบบหนึ่งอยู่หรือเปล่าครับ?

รอดริก : ผมว่าทางเลือกของเราไม่ใช่ระหว่างการพอเพียงในตนเองทางเศรษฐกิจกับไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ทางใดทางหนึ่งหรอกครับ (hyper-globalization ศัพท์บัญญัติของแดนี รอดริก หมายถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงพลิกโฉมไปนับแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาโดยไปไกลเกินไปทั้งในแง่ขนาด ขอบเขตและความเร็วจนไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติและขัดแย้งกับการดำเนินงานของรัฐชาติ – ผู้แปล)

คำถามเป็นทำนองนี้มากกว่าว่าเราจะเอาโลกาภิวัตน์ชนิดไหน ในทำนองเดียวกับที่บรรดาประเทศยุโรปทั้งหลายต้องตัดสินใจเลือกระดับบูรณาการทางเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องการสำหรับยุโรป ในแง่นี้ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันหมดนะครับ ที่ผ่านมาเราทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจของบริษัททั้งหลายในโลก แต่เราไม่ได้ทำอะไรเรื่องสิทธิของคนงานเลย ดังนั้น โลกาภิวัตน์ที่เสียดุลก็เลยผลักดันผลประโยชน์ของพวกสถาบันการเงินและบริษัท แต่ไม่ยักผลักดันผลประโยชน์ของแรงงานหรือสิ่งแวดล้อม

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)