คำเตือนจากยูเอ็น ถึงชาติ-ชุมชนริมทะเล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ออกฤทธิ์” ออกมาให้เราเห็นกันมากขึ้นทุกที

ผลกระทบที่เด่นชัดประการแรกที่เราสัมผัสได้ชัดเจนคือ “ภาวะโลกร้อน” ที่ทำให้รูปแบบของลมและคลื่นเปลี่ยนไป อุณหภูมิเหนือพื้นผิวเปลี่ยนไป ฝนฟ้าไม่เป็นไปตามฤดูกาลอีกต่อไป

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นผลชัดเจนอีกประการ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลก, แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งต่างๆ หลอมละลายกลายเป็นน้ำเร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

น้ำทะเลที่เพิ่มระดับสูงขึ้นนั้นเป็นภัยคุกคามสำคัญประการหนึ่ง โดยเฉพาะต่อพื้นที่ริมฝั่งทะเลทั้งหลาย เพราะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังมากขึ้นและนานขึ้น, เกิดสตอร์มเสิร์จที่เป็นอันตรายยิ่งขึ้น, ทำนองเดียวกันกับสึนามิ และพลังคลื่นแบบเอ็กซ์ตรีม ที่สามารถกัดเซาะหรือทำให้พื้นที่ชายฝั่งพังทลายได้รุนแรงขึ้นนั่นเอง

ความตกลงปารีส เมื่อปี 2015 เสนอให้นานาประเทศร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกไว้ ไม่ให้สูงเกินกว่าระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส ถ้าจะให้ดี ควรไม่ให้สูงกว่าระดับดังกล่าวเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ถ้าเราสามารถคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราอาจลดภาวะระดับน้ำทะเลขึ้นสูงลงได้ถึงเกือบครึ่ง

ข่าวร้ายก็คือ ในรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) หน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติ สำหรับการประเมินสถานการณ์ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับที่ 6 เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ไม่เพียงไม่สามารถชะลอไม่ให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น

ระดับน้ำทะเลในทุกวันนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ไอพีซีซีระบุว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มสูงขึ้นเร็วขึ้นกว่าเดิมที่อัตราเฉลี่ย 3.6 มิลลิเมตรต่อปี

ที่ระดับความเร็วนี้ อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาประเทศต่างๆ โดยเฉพาะต่อชุมชนเมืองและที่ตั้งหลักแหล่งซึ่งอยู่ริมทะเล จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัวเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้

รายงานของไอพีซีซีชี้ให้เห็นว่า เมืองและชุมชนริมทะเลจะเริ่มเผชิญกับอันตรายจากภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น “ชนิดเข้มข้น” นับตั้งแต่ปี 2050 เป็นต้นไป และจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ไปจนถึงปี 2100

หลังจากปี 2100 หายนภัยระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ อันเกิดจากภาวะน้ำทะเลสูงขึ้นระดับสูงสุด จะเกิดขึ้นให้เห็นในทุกๆ ปี แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะยุติลงในปีนั้นแล้วก็ตาม

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลคุกคามต่อประชากรหลายล้านคนที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชายฝั่ง ซึ่งทำให้อันตรายจากภาวะน้ำทะเลสูงขึ้นนี้กระทบอย่างหนักต่อชุมชนเมืองซึ่งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วสู่พื้นที่ลุ่มชายฝั่งทะเล

ตัวอย่างเช่น ในภาคพื้นทวีปแอฟริกา ในปี 2030 จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ จะมีมากถึงระหว่าง 108-116 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 190-245 ล้านคนในปี 2060

ตามรายงานฉบับที 6 ของไอพีซีซี เมื่อถึงปี 2050 ประชากรทั่วโลกราว 1,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่น้อยบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งทะเลจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยจากภาวะน้ำทะเลขึ้นสูงนี้

และหากค่ามัธยฐานของระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 0.15 เมตร จำนวนประชากรทั่วโลกที่เผชิญกับหายนภัยจากภาวะน้ำท่วมตามแนวชายฝั่งจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถึงจุดสิ้นศตวรรษที่ 21 มูลค่าความเสียหายจากมาตรการเพื่อปรับตัวหรือบรรเทาความเดือดร้อนที่ต้องดำเนินการสำหรับประเทศภาคพื้นยุโรป จะเพิ่มขึ้นจากที่คาดกันในเวลานี้ “อย่างน้อย” 10 เท่าตัว

ในส่วนของทั้งโลกนั้น ไอพีซีซีระบุว่า ประชากรราว 510 ล้านคน และทรัพย์สินอีกคิดเป็นมูลค่า 12,739,000 ล้านดอลลาร์ จะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการเผชิญกับอันตรายระดับทำลายล้างในปี 2100

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะเมืองใหญ่น้อยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเท่านั้น แต่ไอพีซีซีเชื่อว่าจะขยายวงลุกลามออกไปสู่ส่วนอื่นๆ ของประเทศอีกด้วย

ความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเมืองท่าต่างๆ จะก่อให้เกิดอันตรายกับระบบห่วงโซ่อุปทานและการค้าขายทางทะเลทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่เศรษฐกิจและการเมืองของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ทะเลหรือไม่ก็ตามที

ลีโฮ ซัง ประธานคณะกรรมการไอพีซีซี ชี้ว่า หายนภัยที่คาดการณ์เอาไว้นี้เตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องตระหนักและเร่งวางแผนเพื่อรับมือหรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติในอนาคต

บรรดาประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้ควรเริ่มวางแผน หาหนทางขยายเป้าหมายบรรเทาผลกระทบและหันไปให้ความสำคัญกับการปรับตัว ทั้งของผู้คนและตัวเมืองเพื่อให้ยืดหยุ่นและสามารถรองรับกับภาวะอันตรายและเสี่ยงภัยได้มากขึ้นในอนาคต

ลี โฮ ซัง เตือนว่า แม้ว่าเราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างฮวบฮาบ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนและการใช้ชีวิตของคนเหล่านั้นก็ยังเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง แต่ก็จะช่วยให้อย่างน้อยที่สุดก็กลายเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้มากกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย

หนทางแก้เดียวเท่าที่มีสำหรับมนุษยชาติในเวลานี้ก็คือ ต้องเริ่มต้นกระบวนการปรับตัว, วางแผน และวางโครงสร้างที่ยืดหยุ่นได้ดี มีศักยภาพในการฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ช้าไม่นานนี้นั่นเอง