หนทางของยูเครน สู่อ้อมอกสหภาพยุโรป/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

หนทางของยูเครน

สู่อ้อมอกสหภาพยุโรป

 

เป็นที่คาดหมายว่ากลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จะประกาศรับรอง “สถานะผู้สมัคร” เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของยูเครนอย่างเป็นทางการ ในระหว่างการประชุมสุดยอดชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ชาติที่จะมีขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้

หลังจากทางการยูเครน รวมถึงมอลโดวาและจอร์เจีย ได้ยื่นแสดงเจตจำนงขอผนึกกำลังเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย เพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครน ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะเปิดไฟเขียว ประกาศสนับสนุนการยื่นขอสถานะดังกล่าวของยูเครนและมอลโดวาไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เว้นแต่จอร์เจีย ที่คณะกรรมาธิการยุโรปมองว่ายังไม่มีความพร้อมสำหรับสถานะผู้สมัคร

แม้การจะประกาศรับรองสถานะผู้สมัครของยูเครน รวมถึงมอลโดวา จะเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นบนเส้นทางการรวมเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มความร่วมมือที่แข็งแกร่งอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งอาจใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

แต่ถือเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มแข็งของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับยูเครนและยังจะเป็นบททดสอบแนวร่วมสำคัญของชาติสหภาพยุโรปในการเผชิญความท้าทายต่างๆ ที่รวมถึงการแผ่ขยายอิทธิพลอย่างแข็งกร้าวของรัสเซียในภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวมาข้างต้น แม้การจะเปิดประตูรับยูเครนและมอลโดวาเข้าร่วมกลุ่ม ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์สู่ยุโรปตะวันออกครั้งสำคัญของสหภาพยุโรป ในการเผชิญความท้าทายจากรัสเซีย

ทว่า ทั้งยูเครนและมอลโดวาอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยสมบูรณ์

โดยเฉพาะยูเครนที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองให้ได้ตามมาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรป และไม่น่าเป็นไปได้ที่สหภาพยุโรปจะรับประเทศที่ยังคงตกอยู่ในภาวะสงครามเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม

 

ตัวอย่างกรณีของโปแลนด์ ชาติเพื่อนบ้านของยูเครนที่อยู่ในภาวะสงบ ซึ่งมีขนาดประชากรใกล้เคียงและมีประวัติศาสตร์ความเป็นดินแดนคอมมิวนิสต์มาก่อนเหมือนกัน ยังใช้เวลาถึง 10 ปี นับจากที่โปแลนด์ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1994 ก่อนจะได้เข้าเป็นสมาชิกจริงๆ ในปี 2004

ขณะที่ตุรกี ซึ่งได้สถานะผู้สมัครอย่างเป็นทางการในปี 1999 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากการเจรจาเรื่องสมาชิกภาพอียูของตุรกีต้องชะงักงันไป หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหภาพยุโรปย่ำแย่ลง เมื่อรัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ได้ดำเนินการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักและยังมีอีกหลายกรณีที่ชาติอียูมองว่าผู้นำตุรกีได้กระทำการที่เป็นการกัดกร่อนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในประเทศ

ส่วนการสมัครสมาชิกอียูของ 6 ประเทศแถบบอลข่าน ก็ยังเผชิญอุปสรรคอันซับซ้อนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่รวมถึงปัญหาผู้อพยพ องค์กรอาชญากรรมและความขัดแย้งในภูมิภาค

จนทำให้กระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูของชาติเหล่านี้ยังคงคาราคาซัง

 

ขณะที่อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ยูเครนได้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานและมาตรฐานของสหภาพยุโรปไปแล้วประมาณ 70%

แต่มีสิ่งสำคัญที่ยูเครนยังคงต้องทำเกี่ยวกับหลักนิติธรรม กลุ่มผู้มีอำนาจ การต่อต้านการทุจริต และสิทธิขั้นพื้นฐาน นี่เป็นโจทย์ที่ทางกลุ่มอียูให้ไว้กับยูเครนที่จะต้องเร่งดำเนินการ แม้ว่าอียูจะเปิดทางในการรับพิจารณาใบสมัครของยูเครนเข้าร่วมกลุ่มก็ตาม

ทั้งนี้ หากยูเครนดำเนินการตามกฎเกณฑ์ข้อกำหนดทั้งหมดของอียูเสร็จสิ้น การเข้าร่วมของยูเครนจะต้องได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากรัฐบาลของสหภาพยุโรปทั้งหมด ตลอดจนรัฐสภายุโรป ซึ่งหมายความว่ากระบวนการนี้ยังสามารถหยุดชะงักได้หากมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง

ก่อนหน้านี้เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นหนึ่งในชาติสมาชิกอียู ที่คัดค้านการรับสมาชิกใหม่เข้ากลุ่ม แต่กล่าวได้ว่าการเปิดฉากสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นสิ่งที่ทลายกำแพงขวางกั้นดังกล่าว โดยเราได้เห็นการตบเท้าเดินทางไปเยือนเคียงข้างนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ถึงกรุงเคียฟ ของผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และโรมาเนีย เมื่อเร็วๆ นี้

ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกสำหรับยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งให้สถานะผู้สมัครแก่ยูเครน ยังเป็นสิ่งท้าทายและอาจกระทบต่อแนวทางการขยายกลุ่มของอียูที่มักดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการรับสมาชิกใหม่ได้

โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่าผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม ในการส่งสัญญาณไปยังยูเครนว่าประตูของสหภาพยุโรปเปิดแง้มไว้ให้อยู่

ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความมั่นใจกับชาติอื่นๆ ที่ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกว่าสหภาพยุโรปไม่ได้ปฏิบัติต่อยูเครนด้วยความลำเอียง

เนื่องจากหลายชาติทุ่มเทดำเนินความพยายามที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป และยังต้องใช้เวลารอคอยนานเท่าไรกว่าจะได้เข้าร่วมอยู่ใต้ร่มชายคาสหภาพยุโรป