“ธนาธร” ชวนมองสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า ชวนรณรงค์ให้รบ.ไทยเปลี่ยนนโยบายผู้ลี้ภัย

“ธนาธร” ปาฐกถาเปิดงานวันผู้ลี้ภัยโลก ชวนมองสถานการณ์ผู้หนีภัยสงครามชายแดนไทย-เมียนมา ชี้เข้าขั้นวิกฤตจากสงครามและการถูกรัฐไทยผลักดันกลับ ชวนร่วมรณรงค์สู่การเปลี่ยนนโยบาย อย่าให้คำว่า “โอบอ้อมอารี” เป็นเพียงคำขวัญ

 

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก คณะก้าวหน้า ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านผู้ลี้ภัย ได้แก่ Fortify Rights, APHR (องค์กรสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน) และสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาและนิทรรศการภาพ “วิกฤติที่มองไม่เห็น : สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดนไทย-เมียนมา หลังรัฐประหาร” ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ล่าสุดของผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทย และการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐไทย
.
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้โลกของเราจะก้าวมาสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่สถานการณ์ผู้ลี้ภัย ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเพียงเพราะความแตกต่างด้านความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ และสีผิว ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก บ่อยครั้งผู้ลี้ภัยต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงถึงชีวิต ทั้งจากการเดินทางและจากการปฏิบัติของรัฐ เช่น ในกรณีของโรฮีนจา ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์โดยเจ้าหน้าที่กองทัพเอง และการสร้างความเกลียดชังอย่างเป็นระบบโดยรัฐไทย ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮีนจา ที่ต้องถูกฆ่านำไปฝัง หรือปล่อยทิ้งกลางทะเล หากไม่มีเงินจ่ายให้เจ้าหน้าที่

ธนาธร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ลี้ภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เราเห็นว่าโลกนี้ยังมีความหวัง เมื่อบรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งพลเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรป ต่างกางแขนต้อนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนและให้สถานะแก่พวกเขา ซึ่งขณะที่คนไทยหลายคนชื่นชมยินดีเรื่องราวนี้ แต่กลับไม่มีใครรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่พรมแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ที่หลังการรัฐประหารในเมียนมา และการปะทะสู้รบ การโจมตีทางอากาศ ทำให้เกิดคลื่นผู้หนีภัยที่พยายามข้ามพรมแดนหาที่พักพิงชั่วคราวจำนวนมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักดันกลับไป

การช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากนโยบายเกี่ยวกับผู้หนีภัยอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขณะนี้มีคนที่อาศัยพักพิงอยู่ตามพรมแดน ในเขตป่าตามเขาริมแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินตามยถากรรม เข้าไม่ถึงอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค โดยเมื่อต้นเดือน องค์กรสหประชาชาติสำรวจพบว่าผู้หนีภัยจากสถานการณ์ในเมียนมามีจำนวนถึง 1.038 ล้านคน อพยพไปต่างประเทศกว่า 980,000 คน โดยในจำนวนนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 96,000 คน

“ในฐานะคนธรรมดา เราสามารถช่วยเหลือผู้หนีภัยเหล่านี้ได้ ตั้งแต่การบริจาคบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการรณรงค์ทางการเมือง ให้ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบาย รวมทั้งการรณรงค์เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ รวมถึงสถานการณ์ผู้หนีภัยในขณะนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ดังที่ มินอ่องลาย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากนายกรัฐมนตรีไทยไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะมินอ่องลายเชื่อว่าประยุทธ์จะให้การสนับสนุนและจะมีนโยบายในการผลักดันผู้ลี้ภัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้คือพลังของสังคม อย่าเชื่อว่าเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้ การช่วยกันรณรงค์สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลได้ เราอยากเห็นประเทศไทยที่ไม่สนใจโลก เอาแต่ตัวเราเองรอดก็เพียงพอ หรือเราอยากเห็นปะเทศไทยที่คำว่าโอบอ้อมอารีไม่ใช่เป็นแค่คำขวัญ แต่เป็นการปฏิบัติจริงด้วย” ธนาธร กล่าว