“สุ่มดอก” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“สุ่มดอก”

 

สุ่มดอฯก

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สุ่มดอก”

สุ่มดอก หรือต้นดอก หรือหลักบายศรี เป็นหนึ่งในเครื่องสักการบูชาของชาวล้านนา ใช้ใบไม้ ดอกไม้สด ประดับตกแต่ง ทำรูปลักษณะเหมือนกรวยหรือเป็นพุ่ม คล้ายดอกบัวตูม

เมื่อมีกำหนดการจัดงานพิธีกรรม งานบวงสรวง หรืองานประเพณีสำคัญ ที่ต้องมีเครื่องสักการบูชาดังกล่าว คนในชุมชนจะร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น

เพราะนอกจากจะมีอานิสงส์ผลบุญ ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองแล้ว

ยังสร้างความสามัคคี สร้างศรัทธาในพุทธศาสนา และยังเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนสืบทอดวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษอีกด้วย

เครื่องสักการบูชาของชาวล้านนางดงามและมีเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงความคิดที่ลึกซึ้งมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่สมควรบูชา โดยการน้อมนำสิ่งของที่มีคุณค่าในธรรมชาติ มาประกอบกันเป็น หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน พุ่มพลู และต้นดอก

มีวัตถุประสงค์เพื่อการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือใช้คารวะบุคคลผู้ที่ตนเคารพนับถือ หรือครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในช่วงประเพณีสงกรานต์

สุ่มดอฯกแบบฯฯล้านฯนาฯ สุ่มดอกแบบล้านนา

ลักษณะของต้นดอก มีส่วนฐานตั้ง และส่วนโครงด้านบนอาจทำจากวัสดุหลายประเภท กล่าวคือ ต้นดอกแบบดั้งเดิม ทำจากวัสดุในพื้นถิ่น เช่น ต้นกล้วย ไม้ไผ่ โดยการนำไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น นำไปแช่น้ำให้อ่อนตัว ก่อนนำมาขัดหรือสาน ให้ได้รูปทรงที่ต้องการ แล้วจึงนำไปตกแต่งด้วยดอกไม้ที่มีในท้องถิ่น ส่วนต้นดอกแบบประยุกต์ ทำจากไม้แกะสลักหรือโลหะ มีความคงทนถาวรมากกว่าแบบดั้งเดิม นำไปใช้ได้หลายวาระ หลายโอกาส

การจัดสุ่มดอกคือการนำดอกไม้พื้นบ้านมาแซมใส่ในฐานตั้ง ส่วนมากจะเป็นดอกไม้ที่เก็บจากบริเวณบ้าน เช่น ดอกหางนกยูงไทย กระดังงา

จะว่าไป สุ่มดอกหรือต้นดอก ก็คือการจัดดอกไม้สดในรูปแบบของล้านนา นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของศิลปะการจัดดอกไม้

ด้วยลักษณะของการประดับดอกไม้สดที่มีสีสันสดใส และรูปทรงสวยงามของต้นดอก ปัจจุบันจึงมีความนิยมในการนำไปประดับสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและความสดชื่น แต่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม

และสมกับคำกล่าวที่ว่า ล้านนาเป็นถิ่นดอกไม้งาม •