โจมตีตัวเอง / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

โจมตีตัวเอง

 

วันก่อน “เฮียตึ๋ง” คุณอนันต์ อัศวโภคิน ของ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” มาบรรยายที่ ABC

คุณอนันต์ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรตั้งแต่ ABC รุ่นแรกจนถึงรุ่นนี้

12 รุ่นแล้ว

ทุกครั้งที่ได้สัมภาษณ์คุณอนันต์ ผมได้ความรู้ใหม่ทุกครั้ง

บางเรื่องเคยฟังแล้ว แต่มาขยายความเพิ่มครั้งต่อมา

หรือบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยฟังมาก่อน

โดยเฉพาะตอนที่คุณอนันต์สนุกกับธุรกิจห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 และโรงแรมเซนเตอร์พอยต์

ถามถึง 2 เรื่องนี้จะตาลุกวาว

เล่าอย่างสนุกสนาน

แต่ถามเรื่องบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม จะเล่าแบบเรียบๆ

เพราะเป็นเรื่องที่คุ้นชินมานาน

เหมือนเป็นเรื่องเก่าที่รู้ดีอยู่แล้ว

จะเล่าแค่ว่าบ้านและคอนโดมิเนียมราคาสูง ประมาณ 10 ล้านขึ้นไปขายดี

ยิ่งแพงยิ่งขายดี

เพราะคนรวยยังมีเงินอยู่ ไม่สะเทือนกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ยิ่งเงินเฟ้อสูงเท่าไร คนรวยยิ่งซื้ออสังหาริมทรัพย์

เพราะเอาเงินฝากแบงก์ ดอกเบี้ยก็ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ไม่เหมือนกับซื้ออสังหาริมทรัพย์ ราคามีแต่สูงขึ้น ผลตอบแทนสู้เงินเฟ้อได้

“เฮียตึ๋ง” เป็น “เจ้าพ่อเอาต์ซอร์ส” คือ ทำธุรกิจแบบตัดตอนตลอด

ไม่ทำแบบ “ครบวงจร”

ไม่กินคนเดียว

ไม่เหนื่อยคนเดียว

หน้าที่หลักคือ การควบคุมคุณภาพของ “เอาต์ซอร์ส” ที่จ้าง

โรงแรมก็ “เอาต์ซอร์ส”

ทั้งโรงแรมมีพนักงานอยู่ไม่กี่คน

ซักรีด ก็เอาต์ซอร์ส

แม่บ้าน ก็เอาต์ซอร์ส ฯลฯ

เขาเชื่อมั่นระบบการควบคุมคุณภาพแบบนี้

และเป็น “ท่าไม้ตาย” ที่ใช้มานานและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

ขนาดตอนนี้การออกแบบบ้าน เขาก็เอาต์ซอร์ส เพื่อได้แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร

คุณอนันต์ยกตัวอย่างแบบบ้านรูปแบบหนึ่งของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

“เหมือนตึกแถวสมัยก่อนเลย”

แต่สถาปนิกที่ออกแบบซึ่งเป็น “เอาต์ซอร์ส” บอกว่าคนรุ่นใหม่ชอบแบบนี้

พอเปิดใจกว้างให้ลองดู

ปรากฏว่าขายดีมาก

 

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็น “จุดเด่น” ของคุณอนันต์

คือ การบริหารคน

เขาสร้างคนเก่ง และสร้างบรรยากาศให้คนเก่งอยากทำงาน

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ทั้งหมด ที่สะสมหุ้นสต๊อก ออปชั่น มายาวนาน

บางคนมีหุ้นคิดเป็นเงินพันล้านบาท

ระดับหลัก 100 ล้านเป็นเรื่องธรรมดา

ลองนึกดูสิครับว่า ถ้าเรามีหุ้นเป็นพันล้านบาท เราจะยอมทำงานเป็น “ลูกน้อง” ใครหรือไม่

ส่วนใหญ่คงคิดว่าจะออกไปทำธุรกิจของเราเอง หรือพักผ่อนอยู่ที่บ้านดี

แต่ผู้บริหารกลุ่มนี้ยังยอมทำงานให้คุณอนันต์

เหตุผลคงไม่ใช่แค่เรื่องผลตอบแทน เพราะรวยขนาดนี้ มีเงินมากพอที่จะอยู่เฉยๆ

แต่ที่ยังบริหารงานให้คุณอนันต์ แสดงว่าเขาต้องสบายใจหรือมีความสุขที่ทำงานที่นี่

อย่าลืมว่า “คนเก่ง” ชอบทำงานกับ “คนเก่ง”

ยิ่งคนที่ทั้งเก่งและรวยยิ่งต้องเลือกคนที่จะมาเป็น “หัวหน้า”

ถ้าไม่เก่งจริง ไม่ใจกว้างจริง เขาคงไม่ทำงานด้วย

เพราะรวยขนาดนี้ เขาเลือกได้

คุณอนันต์นั้นคงเหมือนกับ “หนังสือ” ที่อ่านเท่าไรก็อ่านไม่จบ

“มืออาชีพ” เหล่านั้นยังอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ต่อไป

เขาจึงยังทำงานกับคุณอนันต์

“เฮียตึ๋ง” บอกว่าถ้าเป็นเจ้าของกิจการ เราต้องกล้าจ้างคนที่เก่งกว่าตัวเรา

อย่าไปกลัวว่าลูกน้องจะเก่งกว่า

เพราะถ้าองค์กรไหนจ้างแต่ลูกน้องที่ไม่เก่ง

องค์กรนั้นจะไม่เติบโต

บริษัทจะโตได้ต้องกล้าจ้างคนที่เก่งกว่าเจ้าของมาทำงาน

แต่ลูกน้องที่เก่งมักจะชอบเถียง

เพราะถ้าเห็นด้วยกับเราทุกเรื่อง

คนนั้นไม่เก่งจริง

คนเป็นเจ้าของจึงต้องเปิดใจรับฟังความเห็นที่ไม่ตรงกับเรา

คุณอนันต์บอกว่าคนเป็นเจ้าของหรือหัวหน้าต้องมองลูกน้องเป็น “เพื่อนร่วมงาน”

หากลูกน้องระบายอารมณ์กับเราครั้งเดียว แล้วเราเอาความโกรธครั้งนั้นไปตัดสินผลงานทั้งหมดของลูกน้อง

แบบนั้น ไม่มีใครจะอยู่กับเรา

เพราะบางคนทำดีมาตลอด แต่เพราะเขาทำไม่ดีกับเราครั้งเดียว

เราก็ลงโทษเขารุนแรงเหมือนกับไม่เคยทำดีมาเลย

อย่าลืมว่าถ้าเราโกรธได้

เขาก็โกรธได้

คำพูดของคุณอนันต์เตือนสติคนทำงานได้เป็นอย่างดี

เพราะทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์คล้ายกัน

โดยเฉพาะคนที่เป็น “หัวหน้า”

ลูกน้องทำงานดีมาทั้งปี พลาดแค่ครั้งเดียว

ก็โดนลงโทษอย่างหนัก

ลืมเรื่องดีๆ ที่เขาเคยทำในอดีต

บางทีหลักการใช้ชีวิต เราต้องอยู่กับ “ปัจจุบัน”

ช่วงเวลาที่มีความหมายมากที่สุด คือ “เวลานี้”

แต่การตัดสินคน เราต้องไม่ตัดสินแบบ “ปัจจุบันขณะ”

ต้องไม่เป็น “คนขี้ลืม”

คิดแต่ “ปัจจุบัน”

ลืม “อดีต” ที่ผ่านมา

 

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณอนันต์สอน คือ เทคนิคการเป็น “หัวหน้า”

เราจะทำอย่างไรให้ลูกน้องเปิดใจ

เขาบอกว่าหัวหน้าที่ดีต้องกินข้าวโต๊ะเดียวกับลูกน้องได้

เข้าห้องน้ำเดียวกัน

และที่สำคัญคือ ต้องกล้ายอมรับความผิดของตัวเอง

คุณอนันต์บอกว่า ที่ผ่านมาในการประชุมทุกครั้ง ผู้บริหารแต่ละคนจะใช้เวลานานในการสรุปงานของตัวเอง

ถ้าผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เขาจะอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้

มีเหตุผลมากมาย

แม้กระทั่งฝนตก รถติด หรือวันหยุดเยอะก็เป็นเหตุผลได้

คุณอนันต์เสนอเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่

ไม่ต้องโทษอะไรทั้งสิ้น

ให้เริ่มต้นจากตัวเอง

คุณทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง

และเพื่อให้ทุกคนกล้าเล่าเรื่องความผิดพลาดของตัวเอง

คุณอนันต์จะเริ่มก่อนเลยว่าเดือนที่ผ่านมา เขาตัดสินใจอะไรพลาดบ้าง

พอคนหัวโต๊ะกล้าว่าตัวเอง

ลูกน้องก็กล้า

ที่น่าสนใจก็คือ การประชุมที่เคยใช้เวลา 4 ชั่วโมงเพราะหาเหตุผลว่าทำไมไม่ได้ตามเป้าหมาย

พอให้พูดถึงความผิดพลาดของตัวเอง

เวลาการประชุมลดลงทันที

เหลือแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง

เพราะไม่มีใครอยากพูดเรื่องความผิดพลาดของตัวเองยาวๆ •