‘ผลพลอยได้’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ผลพลอยได้’

 

ในป่าย่อมไม่ได้มีต้นไม้ต้นเดียว บางต้นอายุน้อย บางต้นเกิดมาแล้วกว่าร้อยปี บางต้นเพิ่งเกิด บางต้นล้มไปแล้ว บางต้นเหลือเพียงขอนไม้ เอนต้นขนานไปกับพื้นดิน ทิ้งร่างไว้ให้คนเคยพบเห็นรู้ว่า ขอนไม้นี้เคยเป็นต้นไม้ใหญ่ทะมึน เคยมีชีวิต

มีต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งผมรู้สึกผูกพันราวกับเป็นญาติผู้ใหญ่ เราเรียกต้นไม้ต้นนี้ว่า “ลุงไทร” ส่วนน้องๆ ที่เข้ามาทำงาน และใช้ที่นี่เป็นที่พักแรมในระยะหลังๆ เรียกว่า “ปู่ไทร”

บริเวณที่ลุงไทรอยู่ เป็นที่ราบเล็กๆ ริมน้ำ ซึ่งเหมาะสมสำหรับใช้เป็นที่พักแรม กลางวันช่วงฤดูแล้งที่ร้อนอบอ้าว ใต้ร่มไทรให้ความร่มเย็น ไม่มีใครรู้ว่า ลุงไทรอายุเท่าไหร่ คะเนจากโคนต้นที่ประมาณว่าต้องใช้คนสักสิบคนก็โอบไม่รอบ ลุงไทรน่าจะมีอายุเกินร้อยปี

ลุงไทรเป็นคล้ายญาติผู้ใหญ่ของคนที่เข้ามาทำงานบริเวณนี้นานแล้ว ที่นี่เคยเป็นแคมป์ถาวรของนักวิจัย ถูกทิ้งร้างไปนาน แทบจะไม่เหลือร่องรอยว่าเคยเป็นแคมป์ และก่อนที่ไม่ไกลจากนี่จะมีหน่วยพิทักษ์ป่า ใต้ร่มลุงไทร จะเป็นจุดหมายสำหรับพักแรมของคนที่เข้ามาทำงาน

ผมเข้ามาที่นี่ตั้งแต่ครั้งที่ไม่ไกลจากลุงไทร ริมลำห้วยมีโป่งขนาดใหญ่ กระแสน้ำหลากเพราะฝนตกต่อเนื่องในปีหนึ่ง สายน้ำเซาะตลิ่งกว้าง โป่งหายไป

อีกครั้งหนึ่งผมมาช่วงลูกไทรกำลังสุก นกเงือกกรามช้างมากมาย ลิง, ค่าง และนกเขาเป้า

ผมเห็นการเกื้อกูลระหว่างสัตว์ที่บินได้ ขึ้นต้นไม้เก่ง กับสัตว์ที่ไม่มีทักษะเช่นนั้น

ที่นี่ทำให้การเห็นสัตว์หลายชนิดของผม เป็นเพียงผลพลอยได้

 

ว่าตามจริง ไทรเป็นต้นไม้ซึ่งเป็นคล้ายร้านสะดวกซื้อของบรรดาสัตว์ป่า เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

โดยเฉพาะในป่าซึ่งเป็นสังคมพืชผลัดใบ ในขณะป่าแห้งแล้ง พันธุ์ไม้ชนิดอื่นๆ เตรียมตัวเข้าสู่ฤดูแล้งลดการใช้น้ำ ใบไม้ทยอยเปลี่ยนสี และร่วงหล่นลงพื้น

ป่าดูเหมือนจะมีเพียงต้นไทรที่ยังมีใบเขียวชอุ่ม

ไม่แค่นั้น ไทรในพื้นที่ต่างๆ ยังทยอยออกลูกสุกเพื่อให้เป็นอาหารกับสัตว์ป่าหลากชนิด

คล้ายกับร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกมุมถนน

 

ที่ต้นไทรช่วงเวลามีลูกสุก ภาพการทำงานเพื่อนำพาลูกไทรไปแพร่กระจาย รวมทั้งการช่วยเหลือ อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาปรากฏชัด

นกนานาชนิดตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ไปถึงตัวโตๆ มาชุมนุม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหากินบนเรือนยอด อย่างชะนี, ค่าง และลิงมาร่วมด้วย

พวกที่บินไม่ได้ บินไม่เก่ง ขึ้นต้นไม้ไม่เป็น จะมาบริเวณรอบๆ โคนต้น รอให้พวกอยู่บนต้นไทรเก็บลงมาให้

พวกลิงดูจะมีน้ำใจมาก ลิงจะเขย่ากิ่งไทรแรงๆ ให้ลูกไทรหล่น แต่ก็หลังจากกักตุนไว้ที่แก้มจนเต็มแล้ว

สัตว์ป่ารู้กำหนดว่า ไทรต้นไหนจะออกลูกสุกอย่างแม่นยำ

นอกจากจะเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากรุ่นต่อรุ่นแล้ว คงต้องยอมรับความจริงว่า เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม

ความจริงอีกประการคือ ลูกไทรได้รับการแพร่กระจายไปทุกทิศ ทั้งทางอากาศ และทางพื้นดิน

การกินเป็นแค่ผลพลอยได้ของสัตว์เท่านั้น

ชะนีมือขาว – การแพร่กระจายพันธุ์พืช เป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งของชะนี

ผมเข้ามาพักแรมตอนลุงไทรกำลังมีลูกสุก ดังนั้น ตั้งแต่ตีห้าท้องฟ้ายังไม่สว่าง หมอกหนาทึบ ก็ต้องตื่นเพราะเสียงอึกทึกจ้อกแจ้กดังสนั่นจากบรรดานกแก๊ก และอื่นๆ เหมือนนกจะไม่สนใจเลยว่าเราอยู่แถวนั้น

น้ำค้างยามเช้าหล่นเปาะแปะราวสายฝน ผมเดินทางไปซุ้มบังไพรตามปกติ หลายวันแล้วที่ไม่พบสัตว์ป่าในแหล่งอาหารที่พวกมันจะเข้ามาใช้

มีรอยตีนเสือโคร่งจางๆ บนด่านที่นี่ มีปัจจัยสำคัญคือ เหยื่อมากพอที่จะทำให้เสืออยู่ได้

แม้มีเหยื่อให้ล่า แต่หลักประกันความอยู่รอดของเสือนั้น คือการล่าต้องประสบผล

ในพื้นที่เหมาะสม สำหรับการอยู่อาศัยของเสือ แต่ใช่ว่าจะพบตัวพวกมันได้ง่าย

อดทน เฝ้ารอ และเริ่มต้นใหม่ ยอมรับหากพลาด ถ้าอยากพบกับเสือ ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้วิธีเดียวกับที่เสือกระทำ

 

แถวๆ ลุงไทร จะคึกคักจนถึงสัก 7 โมง และค่อยคลายความจอแจ ความคึกคักจะเริ่มอีกราวบ่ายสามโมง

ไทรต้นหนึ่งจะออกลูกสุกอยู่หนึ่งสัปดาห์ เมื่อไทรต้นนี้หมด สัตว์ต่างๆ จะเคลื่อนย้ายไปต้นอื่น

บางวันผมนั่งทำงานอยู่ที่แคมป์ใต้ร่มเงาลุงไทร บนคาคบที่สูงราว 15 เมตร เป็นที่เราปีนขึ้นไปใช้วิทยุสื่อสารเพื่อความชัดเจนตอนที่จะส่งข่าวสารกับสถานีแม่ข่าย

ผมมองรอบๆ ท่ามกลางผืนป่าใหญ่ เห็นสัตว์ป่าดำเนินไปตามวิถี

ดูเหมือนว่า ความเป็นไปของตัวเองจะเป็นภาพชัด

 

หลายปีแล้วที่ลุงไทรล้ม อาจเพราะความชราจนทนทานกระแสน้ำไม่ไหว

หลังจากล้ม ผมเข้าไปหาลุงไทร ลำต้นนอนขนานกับพื้น

ไม่มีร่มเงาอันร่มรื่นอีกแล้ว ไม่มีต้นไม้สูงใหญ่ทะมึน

ลุงไทรสอนอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะสูงใหญ่อยู่มานานแสนนาน

การเกิดขึ้น มีอยู่ และดับไป ก็เลี่ยงไม่พ้น

นี่ย่อมไม่ใช่ผลพลอยได้ แต่คือความจริงที่เราต่างรู้ดี เป็นความจริงที่เรามักหลงลืม •