ภูมิฐานถิ่นใต้ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบ : songkhla.go.th

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ภูมิฐานถิ่นใต้

 

ขอรายงานร่วมสัมมนาเรื่อง “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา ระหว่าง 14-16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งร่วมจัดโดยคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และ สสส. พอสังเขปดังนี้

แบ่งเป็นสามกลุ่มคือ

ภูมิภาษาและวรรณศิลป์

ภูมิบ้านภูมิเมือง

ภูมิปัญญาแผ่นดิน

พิเศษคือ มีตัวแทนจากสถาบันเดวันบาฮาซาดันปุสตากา ประเทศมาเลเซีย กับตัวแทนจากสภาศิลปะแห่งนครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียร่วมด้วย

มีสมาชิกศิลปินหลากหลายสาขาจากภาคใต้ และนักวิชาการหลายสถาบันการศึกษาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจยิ่ง

โดยเฉพาะต้องการให้มีกลไกขับเคลื่อนในรูปสถาบัน ด้วยการร่วมมือของสามภาคส่วน คือภาครัฐ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาสังคม

แม้เรื่องนี้จะอยู่ในความดูแลของรัฐในปัจจุบัน แต่มีลักษณะกระจัดกระจายขาดความเป็นเอกภาพไร้พลังเท่าที่งานด้านศิลปวัฒนธรรมจะพึงมี

จำเพาะมาเลเซียนั้นน่าจะเป็นตัวอย่างสถาบันด้านภาษาได้ดียิ่ง ด้วยบทบาทครอบคลุมครบวงจรกระทั่งการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างชาติให้เป็นภาษามาเลย์คือภาษาชาติ เป็นที่รับรู้ร่วมกันเป็นหลัก เป็นต้น

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งมีสภาศิลปะแห่งจาการ์ตาก็มีพื้นที่รวมศิลปะหลากหลายสาขาจัดแสดงอยู่อย่างมีชีวิตชีวายิ่ง

 

วันแรกของงานสัมมนาจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากสองประเทศได้เสนอข้อมูลเพื่อได้รับรู้แลกเปลี่ยนกันเต็มที่

วันที่สองเป็นการระดมความคิดเห็นด้วยการแบ่งกลุ่มเป็นสามภูมิดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดถึงความสำคัญของทั้งสามภูมินั้น

โดยเฉพาะภูมิบ้านภูมิเมืองทำให้ได้ข้อคิดถึงลักษณะความสำคัญของแผ่นดินถิ่นใต้โดยเฉพาะสงขลา และปัตตานี ในฐานะเมืองท่าที่ชุมนุมของชุมชนนานาชาติทั้งพื้นถิ่นไทยจีนแขกฝรั่งมาแต่โบราณ อันก่อให้เกิดความหลากหลายทางวิถีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

แต่ละถิ่นที่จึงมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดฐานวัฒนธรรมสำคัญทั้งสามฐานคือ รากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐาน

จำเพาะภาษาและปัญญาแผ่นดินถิ่นใต้นี้รากฐานคือคำพื้นถิ่นที่รับรู้กันเฉพาะซึ่งเวลานี้เหลือน้อยลง ตัวอย่างเช่นคำ “ดับตัว” ที่แปลว่า “แต่งตัว” เป็นต้น

ส่วนที่เป็นพื้นฐาน เช่น เพลง “ชาน้อง” คือเพลงกล่อมเด็กทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่แฝงคติธรรม เช่น

อ้ายเตอ้ายเต เอาลูกนอนเปล เอาตีนคาใน

น้ำมันสองขวดค่อยนวดค่อยไกว

ถ้าใครคิดได้ เป็นลูกอ้ายเต

อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนที่เป็นภูมิฐานโดดเด่นเห็นชัดเวลานี้คือหนังตะลุง และโนรา น่าสังเกตคือ ทั้งสองการแสดงนี้เสมือนจิตวิญญาณของชาวใต้คือเป็นทั้งปาก เสียง และท่าทีของชาวใต้โดยแท้

เหมือนหมอลำและคำผญาของชาวอีสาน และสะล้อ ซอซึง ของหมู่เฮาชาวเหนือ

 

ภูมิฐานสำคัญอีกประการของถิ่นใต้ นอกจากมีศิลปิน หนังลุง โนราแล้ว ยังมีนักคิดนักเขียนทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรองโดยเฉพาะกวีมากแทบจะว่ามากกว่าทุกภาคนั่นเลย

ความคิดเห็นที่ได้จากสองวันนี้ คณะทำงานจะนำมากลั่นกรองเพื่อนำเสนอขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดยจะมีงานระดมความคิดเห็นอย่างนี้อีกสามภาคคือ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง

 

วันสุดท้ายคือวันที่ 16 พฤษภาคม คณะฯ ได้ไปรับฟังข้อมูลเรื่องปัญหาการบุกรุกพื้นที่ประวัติศาสตร์หัวเขาแดงจากตัวแทนกรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

นอกจากเยี่ยมเยือนป้อมปราการโบราณ หัวเขาแดงแล้ว คณะเรายังได้ไปเยี่ยมชมอาคารเรือนเก่าที่วัดท้ายยอ ซึ่งมีคติการสร้างเรือนเป็นภูมิฐานภูมิธรรมของชาวสงขลาโดยแท้

กลุ่มทอผ้าของชาวเกาะยออันมีเอกลักษณ์เฉพาะนี่ก็น่าสนใจควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ด้วยนอกจากมีลายผ้าต้นฉบับคือผ้าเกาะยออันมีลักษณะจำเพาะหลายลายแล้ว เครื่องมือคือกี่กระตุกนี่ก็ว่าไม่เหมือนที่อื่น นับเป็นงานหัตถศิลป์น่าชมนัก

ทอใจทอกาย ทอลายทอแรง

ลายไทยลายแทง แหล่งย่านเกาะยอ

สุดท้ายคือโรงสีแดง ย่านเมืองเก่าสงขลา ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องเมืองสงขลาได้อย่างน่าชมยิ่ง

อิ่มตา อิ่มใจนัก •