ตกฟาก / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
“แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ตกฟาก

 

คําบางคำแม้เกิดขึ้นในอดีตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไป แต่ปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ เช่น คำว่า ‘ตกฟาก’ คำเต็มๆ คือ ‘เวลาตกฟาก’

‘ฟาก’ คือ อะไร น. ณ ปากน้ำ ให้ความกระจ่างไว้ใน “พจนานุกรมศิลป์” ว่า

“ฟาก คือ พื้นเรือนที่ปูด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ เช่น ไม้ไผ่สีสุกโดยนำไม้ไผ่มาสับแล้วแผ่ออกเป็นคล้ายแผ่นกระดาน เรียกว่า สับฟาก คนไทยในชนบทที่อยู่นอกเมืองมักจะนิยมปลูกบ้านแบบทับ หรือกระท่อม แล้วนอนฟากกัน ทำให้เย็นสบายดี”

ที่เย็นสบายเพราะ “พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟาก และเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก” (จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ลองนึกภาพบ้านเรือนไทยสมัยก่อนเป็นไม้ยกพื้นสูง พื้นเรือนปูด้วยลำไม้ไผ่ที่ผ่าแล้วสับให้แตกออกเป็นอันเล็กๆไม่ขาดจากกัน แล้วแบคว่ำออกเป็นแผ่น ลมจากใต้ถุนบ้านผ่านขึ้นมาทางร่องไม้ไผ่ได้สบายๆ ช่วยระบายอากาศถ่ายเท

ทำให้ภายในห้องเย็นสบายไม่อบอ้าว

 

‘ฟาก’ เป็นส่วนหนึ่งของกระท่อม ดังที่บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” บรรยายถึงเสนาคุมบ่าวไพร่สร้างที่พำนักให้นางรจนาและเจ้าเงาะตามบัญชาท้าวสามล

“ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่

บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา”

‘ฟาก’ หรือพื้นกระท่อมปูด้วยไม้ไผ่ เวลาเหยียบลงไปจะเกิดเสียงดัง ตอนที่นางรจนา ‘มิได้สนิทนิทรา’ หาโอกาสลักรูปเงาะของพระสังข์ไปทำลาย

“เห็นพระหลับใหลไม่ไหวองค์ โฉมยงยินดีเป็นหนักหนา

ค่อยขยายยกหัตถ์ภัสดา ขยับตัวออกมาเอาหมอนรอง

ฟากลั่นเกรียบเกรียบเหยียบย่าง มืดไม่เห็นทางถลำล่อง

ลุกขึ้นลดเลี้ยวเที่ยวมอง หาเงาะในห้องกระท่อมทับ”

 

‘ฟาก’ มาเกี่ยวกับ ‘เวลาตกฟาก’ หรือ ‘เวลาเกิด’ ของคนเราอย่างไร คำตอบอยู่ที่ “พจนานุกรมศิลป์” ของ น. ณ ปากน้ำ

“ในสมัยก่อนหญิงที่จะคลอดบุตร ท่านจะทำเตียงชั่วคราวหรือฟากเตรียมไว้อยู่ไฟ การใช้ฟากทำให้สะดวกด้วยมีรูร่อง เมื่อคลอดแล้วน้ำเลือดและน้ำสกปรกจะไหลลงตามฟาก ล้างเช็ดได้สะดวก ขณะเมื่ออยู่ไฟจะมีอากาศไหลผ่านข้างล่าง ช่วยให้คลายความร้อนดีกว่าไม้กระดาน เด็กที่คลอดออกมาด้วยวิธีโบราณ จึงเรียกว่า ‘ตกฟาก’ อันหมายถึงคลอดออกมาจากครรภ์มารดาตกลงมายังฟากซึ่งเป็นไม้อ่อนนุ่มเด้งได้ ‘เวลาตกฟาก’ นำเอาไปผูกดวงชะตาตามวิธีการโหราศาสตร์ต่อไป ในภาษาโหรไม่ว่าผู้ดีหรือไพร่ ท่านเรียกเวลาเกิดว่า ‘ตกฟาก’ กันทั้งนั้น”

ตัวละครเอกในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีเวลาตกฟากของตัวเอง เช่น เวลาตกฟากของลูกชายขุนศรีวิชัยกับนางเทพทองเป็นมงคลยิ่ง ตรงกับเวลาที่มีผู้นำช้างเผือกมาถวายสมเด็จพระพันวษา ปู่ย่าตายายปลาบปลื้มยินดี จึงตั้งชื่อหลานตามเหตุการณ์สำคัญที่พ้องกับความฝันของแม่

“แม่ฝันว่านกตะกรุมคาบช้าง บินมาแต่ทางพนาสณฑ์

พาไปให้ถึงในเรือนตน หัวล้านอกขนแต่เกิดมา

เมื่อตกฟากฤกษ์พารของหลานชาย ช้างเผือกมาถวายพระพันวษา

จึงให้นามตามเหตุทั้งปวงมา หลานรักของข้าชื่อขุนช้าง”

เช่นเดียวกับลูกชายขุนไกรกับนางทองประศรี จะเห็นได้ว่าวันเดือนปีเกิดและเวลาตกฟากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเป็นที่มาของชื่อโดยตรง

“พ่อแม่ปรึกษากับย่ายาย จะให้ชื่อหลานชายอย่างไรปู่

ฝ่ายตาตะแกเป็นหมอดู คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย

ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย

กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา

ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่ สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา

เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว”

 

ทั้งขุนช้างและขุนแผน (พลายแก้ว) เกิดในบ้านไทยโบราณ พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เรียกว่า ‘ฟาก’ เวลาที่ทารกทั้งสองคลอดออกมาตกถึงฟากพื้นเรือน เรียกว่า ‘เวลาตกฟาก’ หมายถึงเวลาเกิด บ้านเรือนสมัยนี้ไม่มีฟากเหมือนสมัยโบราณ เวลาทารกคลอดที่โรงพยาบาลหรือที่ใดก็ตาม เวลาเกิดหรือเวลาที่คลอดก็ยังเรียกว่า ‘ตกฟาก’ หรือ ‘เวลาตกฟาก’

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ระบุเวลาเกิดของพลายแก้วว่า

“ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย”

พลายแก้วหรือขุนแผนเกิดปีเสือ วันอังคาร เดือนเมษายน ทางโหราศาสตร์ถือว่าวันเดือนปีแข็ง เป็นดวงชะตาทหารเก่งกล้าสามารถ เวลาเกิดหรือเวลาตกฟาก คือ ‘สามชั้นฉาย’ คนสมัยนี้เห็นคำว่า ‘ชั้นฉาย’ ถึงกับอึ้ง ยิ่งเจอคำบอกจำนวนด้วยแล้ว อึ้งยกกำลังสอง

ชั้นฉาย เป็นการกำหนดเวลาจากเงาแดดสมัยที่ยังไม่มีนาฬิกา หนังสือ “ภาษาไทยวันละคำ ฉบับรวมเล่ม” โดย กาญจนา นาคสกุล และคณะ อธิบายไว้โดยละเอียด ดังนี้

“ชั้นฉาย แปลว่า เหยียบเงา ชั้น เป็นคำมาจากภาษาเขมร ชาน่ (จ็อน) แปลว่า เหยียบ

ชั้นฉาย เป็นคำบอกเวลาในช่วงกลางวันของคนสมัยโบราณ โดยวิธีที่เรียกเหยียบชั้น คือ เอาเท้าวัดความยาวของเงาที่ทอดออกไปจากตัวคนที่ยืนอยู่กลางแดด ชั้น คือความยาวของเงาที่ทอดออกจากตัว 1 ช่วงเท้า เท่ากับ 15 องคุลี หรือประมาณ 30 เซนติเมตร

ถ้าดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะพอดี เวลายืนกลางแดดจะไม่มีเงาทอดออกไป นั่นคือ เวลาเที่ยงตรง ถ้าเงาที่ทอดออกจากตัวยาว 1 ช่วงเท้า จะเป็นเวลา 11 โมงหรือบ่ายโมง เรียกว่า 1 ชั้นฉาย ถ้าเงาที่ทอดจากตัวยาว 2 ช่วงเท้า จะเป็นเวลา 10 โมงหรือบ่ายสองโมง เรียกว่า 2 ชั้นฉาย ถ้าเงาที่ทอดออกจากตัวยาว 3 ช่วงเท้า จะเป็นเวลา 9 โมงหรือบ่ายสามโมง เรียกว่า 3 ชั้นฉาย ยิ่งเป็นเวลาที่ใกล้เที่ยงเท่าไร เงาที่ทอดออกจากตัวจะสั้นลงทุกที จำนวนชั้นฉายก็จะน้อยลงไปด้วย วิธีบอกเวลาโดยใช้เงาแดดนี้ใช้ได้เฉพาะเมื่อยังมีแดดอยู่เท่านั้น แดดหมดเมื่อไรก็ใช้ไม่ได้”

ชั้นฉาย เป็นคำพ้นสมัย ไม่มีใช้ในปัจจุบัน แต่มีใช้ในวรรณคดี ข้อความว่า ‘ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย’ หมายถึง เกิดตอน 9 โมงเช้าหรือบ่ายสามโมง

ใครอยากรู้ว่าตัวเองลัคนาราศีใดก็ต้องเอาวันเดือนปีเกิด รวมทั้งเวลาเกิดหรือเวลาตกฟากไปให้โหรหรือหมอดูผูกดวงชะตาให้ สมัยนี้มีนาฬิกาเป็นตัวช่วยจับเวลา ไม่ต้องอาศัยเงาแดดอย่างสมัยก่อน

สบายกว่าเห็นๆ •