เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เล่าถึงสายรุ้งเล็กๆ ที่อาจารย์ทำขึ้นจากน้ำฉีดสนามหน้าบ้าน เหมือนจะบอกว่าอยากดูไหมจะทำให้ดู

พลันก็คิดถึงบทกวีของอาจารย์ในหนังสือ “ขอบฟ้าขลิบทอง” ด้วยบทเรื่อง “อย่าหมายหมิ่นกลบศรัทธาวิญญาเธอ” บทหนึ่งที่ว่า

ในสายฝนโปรยสราญทั่วลานทุ่ง

ในโค้งรุ้งร่มเงาและเขาขุน

ในธารใสไหลซ่าเกื้อการุณ

ในแดดอุ่นอาบยิ้มอิ่มละไม

เห็นไหม อาจารย์พูดถึงสามฤดูกาลไว้ในสี่วรรคกวีนี้แล้วครบถ้วน

สายฝนและโค้งรุ้ง คือ ฤดูฝน

ธารใส คือ ฤดูร้อน ที่เราถวิลหา

แดดอุ่น คือ ความยินดีที่เราอยากได้ในฤดูหนาว

ใครจะคิดได้และแต่งได้อย่างนี้

นี่แหละคือ “อุชเชนี”

“ขอบฟ้าขลิบทอง” เป็นแรงบันดาลใจให้เรารักกวี กระทั่งอยากเขียนกวีให้ได้อย่างนั้นบ้าง ซึ่งใครๆ อีกหลายคนยอมรับว่า “ขอบฟ้าขลิบทอง” คือครู และคือแรงใจให้มุ่งมั่นเขียนหนังสือ รวมทั้งทำงานศิลปะอย่างหลงใหล เอาจริงเอาจัง

ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเอกผู้ล่วงลับ เล่าว่า จำกลอนใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” ได้แทบทุกบท

จำเพาะบท “ขอบฟ้าขลิบทอง” นี้เอง ดูจะเป็น “ชิ้นเอก” ของ “อุชเชนี” เอาเลยทีเดียว

มิ่งมิตร เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น

ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม…

การขึ้นต้นกลอนด้วยคำ “มิ่งมิตร” เป็นสิ่งใหม่ในยุคนั้น หรือแม้ในยุคนี้ก็เถิด ถ้าหลักไม่มั่นก็จะตกม้าตายเอาได้ง่ายๆ หาไม่ก็เสี่ยงเชยสุดๆ

แต่อุชเชนีใช้คำนี้ขึ้นต้นได้งามสง่านัก ด้วยวรรคต่อไปที่ว่า “เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น”

คำว่า “เธอมีสิทธิ์” นี่แหละ ที่รองรับและส่งให้คำ “มิ่งมิตร” งามสง่าและทรงศักดิ์ขึ้นมาทันที

เช่นกันกับคำว่า “ที่จะ” ที่จะขึ้นต้นวรรคถัดไปทุกวรรค จนถึงบทสุดท้ายจึงขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า “เพื่อ”

“ล่องแม่น้ำรื่น” “บุกดงดำกลางค่ำคืน” และ “ชื่นใจหลาย” ล้วนเป็นคำแปลกใหม่ ทั้งสิ้น

เป็นคำที่คิดใหม่ มิใช่กลอนพาไปหรือเร่หาสัมผัส หรือดัดจริต

ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม

ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

คำ “โลมเรียวข้าว” “ยิ้มกับดาว” “เหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม” “ขมขื่นลึกโลกหมึกมน”

ล้วนเป็นคำใหม่ที่ให้ภาพใหม่ๆ กับเราทั้งสิ้น

เรียวข้าวนั้นอยู่ตรงไหนของต้นข้าว ทำให้เราต้องหลับตานึกถึงเรียวใบข้าว และหรือปลายรวงข้าว ซึ่งเป็น “เรียวข้าว” ได้ทั้งสิ้น

ก็นี่ไง “เธอมีสิทธิ์” มิใช่หรือ

ยิ้มกับดาว เหม่อมองหญ้า นี่ก็ให้ภาพสูงต่ำตัดกันทั้งพื้นที่ (ดาวกับหญ้า) และความรู้สึก (สุขกับทุกข์) ดิ่งด่ำยิ่งกว่านั้นคือ ขมขื่นลึกโลกหมึกมน

โลกหมึกมน…มันดำมืดจนไม่ต้องอธิบายอย่างไรกันอีกแล้ว หมึกมน นี่แหละ

ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงษ์ร่อน ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน

ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

แล่นเริงเล่นเช่นหงษ์ร่อน นี้เป็นจินตนาการแบบไทยๆ ที่คนยุคใหม่อาจนึกไม่ออก เหมือนราชสีห์กับสิงโต งูกับนาค ด้วยเป็นสัตว์ “ทรงเครื่อง” ตามคตินิยมโบราณเรา

บทนี้เช่นกัน ที่เล่นคำและความเปรียบตรงข้ามดีนัก คือ หงษ์ร่อนนั้นอยู่สูงเกินจริง ส่วนความจริงก็เพียงแค่ยอดสนที่ยังต้องถอนใจทอดอยู่เท่านั้น

หว่านสุขไว้กลางใจ กับ ทุกข์เข้มเต็มหัวใจ นี่ก็ตรงข้ามกันเต็มที่

ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม

ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

เกลาทางกู้ นี้ดีนัก ใครจะกล้าใช้คำเช่นนี้ได้ ด้วยคำ เกลา ให้ภาพเหมือน เหลา เมื่อ เกลาทาง ย่อมให้ภาพใหม่ กับการกระทำว่าจะทำอย่างไรกับทางที่มีอยู่แล้วให้มันเป็นทางที่ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องสร้างทางใหม่

ก็เหมือน “ปฏิรูป” นี่กระมัง

จากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม นี่ก็งามนัก
ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง

ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา


“ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก” วรรคเดียวนี่แหละเด็ดใจได้เลย คือไม่มี “สัมผัสคำ” แต่ “สัมผัสใจ” เต็มที่

บทสุดท้ายคือ

เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น

เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา

เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ ฯ

เธอมีสิทธิ์ที่จะ… มาตลอด ที่สุด “สิทธิ์ที่จะ” นี้ก็ “เพื่อ” สี่วรรคนี้เอง คือ

วรรคแรก คือ ผองเพื่อนชาวนาผู้ทุกข์ยาก

วรรคสอง คือ ยังยืนหยัดท้าทายอธรรม

วรรคสาม คือ ชัยชนะของแผ่นดินเกษตรกรรม

วรรคสี่ คือ ความใฝ่ฝันและความหวังอันเป็นจริง

กวีบท “ขอบฟ้าขลิบทอง” ของ อุชเชนี หรือ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา นี้เขียนเมื่อ พ.ศ.2495

ยังทันสมัย และทำให้กวีอุชเชนี เป็นอมตะ

14627003661462700453l

เอกอักษราวุธ “อุชเชนี”

“เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น

เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา

เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ ฯ”

 

เพียงคำไม่กี่คำก็กำจาย

ความเรียบง่ายความงามความอบอุ่น

อันหนึ่งอันเดียวกันอันสมดุล

ให้เห็นคุณเห็นค่าความเป็นคน

ให้ดวงเทียนต่อเทียนประดังทอง

ให้ “ดาวผ่องนภาดิน” ประดังหน

ให้เห็นวิญญาณไทยใจสากล

ให้เห็นตนพ้นตนอันไม่ตาย

เจียระไนใจประหนึ่งอนรรฆมณี

คำทุกคำคือกวีมีความหมาย

เป็นกำลังใจรู้อยู่มิวาย

เป็นสร้อยสายอักษราทิพย์วาที

คือรวงข้าวพราวรอบขอบโค้งคุ้ง

คือเรียวรุ้งเริงตะวันปานประสี

คือเอกอักษราวุธ “อุชเชนี”

คือกวีของกวี…ที่เรารัก!