“ใจ” เป็น “ประธาน” พุทธทาส บรรยาย “ความว่าง” เริ่มต้นจาก “ความคิด”

เสร็จธรรมบรรยาย “หมวดธรรมที่พึงใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง” (ความว่าง-จิตว่าง ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อเดือนมกราคม 2508)

อีก 1 ปีต่อมา

ในเดือนมกราคม 2509 ท่านพุทธทาสภิกขุได้ไปแสดงธรรมบรรยาย ณ สวนอุศมฯ ในหัวข้อเรื่อง “ทำอย่างไรจึงจะว่าง”

“ถ้าประสงค์จะฟังเรื่องความว่างก็เป็นอันว่าเราจะพูดกันเรื่องความว่าง”

เป็นอันแจ่มชัดว่า ประเด็นเรื่อง “ความว่าง” ประเด็นเรื่อง “จิตว่าง” ฮ็อตมาจากหอประชุมคุรุสภา

“เวลาน้อยเอาแต่ใจความ”

ใจความดำเนินไปดังนี้

เราจะต้องทราบว่า “โลก” นั้น ตามธรรมดามัน “ว่าง” เป็นของว่าง

ถ้าจิตรู้ว่าโลกเป็นของว่าง จิตก็พลอยว่างไปด้วย คือ เป็น “จิตว่าง” ไปด้วย ไม่ยึดถือและไม่มีทุกข์

ถ้าจิตเข้าใจผิด

เข้าใจโลกผิด ไม่เห็นว่าโลกเป็นของว่าง จิตก็เลยเป็นจิตวุ่น ปรุงแต่งให้วุ่น ก็เป็นทุกข์ เป็นจิตวุ่น

นี่ หัวใจของเรื่องมีเพียงเท่านี้

ตามความเป็นจริงของธรรมชาติจริงแท้ๆ นั้น โลกนี้เป็นของว่าง

ถ้าจิตเห็นว่าเป็นของว่าง จิตก็ว่างเท่านั้นเอง คือ ไม่ยึดถืออะไรหมด ก็ไม่มีทุกข์ มีแต่สติปัญญาที่รู้ตามที่เป็นจริง

แต่ถ้าโลกนี้มันหลอกเอาจนจิตของปุถุชนเห็นเป็นของไม่ว่าง มีสิ่งที่น่ารักและน่าเกลียด จิตนี้ก็เลยโง่ไป เผลอไป ถูกปรุงให้กลายเป็นจิตผิดปกติ คือ ไม่ว่าง กลายเป็นจิตวุ่นขึ้นมา ก็เป็นทุกข์

นี่แหละหัวใจของเรื่องมีเพียงเท่านี้

เพราะฉะนั้น ขอย้ำแล้วย้ำอีกให้ช่วยจำไปว่า “โลกเป็นของว่าง”

ทีนี้ จิตจะวุ่นหรือว่างมันแล้วแต่ไปมองโลกในลักษณะอย่างไร

มองโลกผิด จิตก็เป็นของวุ่นขึ้นมา มองโลกถูก จิตก็ว่างอยู่ตามเดิม ทำอะไรไปได้โดยไม่มีความทุกข์

เท่านี้ก็พอแล้ว พูด 5 นาทีก็หมด

แต่การปฏิบัตินั้น อาจจะปฏิบัติกันนานมากจนตายก็ได้ ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ฉลาดพอ คือ จิตมันไม่ว่างได้ตามที่ควร มันวุ่นเสียเรื่อย

นี่เป็นใจความโดยย่อในเบื้องต้น เป็นหัวข้อของเรื่องทั้งหมด

ที่ว่าโลกว่างนั้นเป็นอย่างไร ตามธรรมดาโลกเป็นของว่างนั้นเป็นอย่างไร เรื่องนี้สำคัญมาก

คือ มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ทำอย่างไรจึงจะอยู่นอกอำนาจของความตาย”

แต่ภาษาบาลีมีสำนวนว่า “ทำอย่างไรมัจจุราชจึงจะมองไม่เห็นข้าพระองค์” หมายความว่า “ทำอย่างไรมัจจุราชจึงจะไม่จับตัวพระองค์ได้” พูดเป็นไทยๆ ก็ว่า “ทำอย่างไรจึงจะอยู่นอกอำนาจของความตาย”

พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า

“สุญญโต โลกัง อะเวก ขัสสุ โมฆะราชะ สะทา สะโต” ดูก่อน โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ “มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด” เอวัง โลกัง อะเวกขันตัง มัจจุราชา นะ ปัสสะติ “เมื่อท่านมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ดังนี้ มัจจุราชจักมองไม่เห็นท่าน”

นี่ มีใจความอย่างนี้

เมื่อผู้ใดมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ เมื่อนั้นมัจจุราชจะจับตัวผู้นั้นไม่ได้ คือ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความตายนั่นเอง ความตายเป็นของว่างไป ไม่มีคนก็ไม่มีทุกข์ ทั้งๆ ที่ร่างกายจะแตกตายตามธรรมชาติก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความตาย หรือเป็นทุกข์

เรียกว่า ไม่ยึดถือในความตาย

ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ให้มองโลกให้เห็นว่าเป็นของว่าง

ข้อนี้ไม่ใช่แกล้งมองให้เห็นว่าเป็นของว่าง คือ มองให้เห็นตามที่มันเป็นจริงว่า มันเป็นของว่าง

เราโดยมากมองไม่เห็น

มองไม่เห็นก็แสร้งทำเอา แกล้งทำเอา ตลอดถึงมีคำพูด มีระเบียบให้พูด ให้ท่อง หรือแม้แต่จะให้คิด ก็คิดไปตามระเบียบที่อาจารย์หรือใครบางคนเขาวางระเบียบไว้

มันก็เห็นไม่ได้

มันเป็นเรื่องแสร้งให้เห็น หรือแสร้งคิดอยู่เรื่อยไป เลยไม่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องถูกต้อง

เห็นโลกโดยความเป็นของว่างให้ได้แล้วก็จะหมดปัญหาเรื่องความทุกข์

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ท่านพุทธทาสเริ่มต้นจากบาทฐานอันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา นั่นก็คือ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

ใจเป็นเครื่องกำหนด

กระนั้น การกำหนดของใจก็ดำเนินไปตามสภาพความเป็นจริง นั่นก็คือ ไม่สามารถอยู่นอกเหนือไปจากวัตถุ

วัตถุอันเป็นพื้นฐาน

วิเวกา นาคร


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่