‘รอมฎอน’ ห่วงคำสั่งคดี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ยังคลุมเครือ หวั่นความยุติธรรมรัฐก่ออุปสรรคสร้างสันติภาพ

คณะทำงานยุทธศาสตร์ชายแดนใต้/ปาตานี ‘ก้าวไกล’ ชี้ คำสั่งศาลต่อคดี ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ยังคลุมเครือ หวั่น กระบวนการยุติธรรมของรัฐกลายเป็นอุปสรรคของการสร้างสันติภาพเสียเอง

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 รอมฎอน ปันจอร์ ชี้ คำสั่งศาลไม่ทราบสาเหตุการตายในค่ายทหารของ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ยังมีหลายข้อน่ากังขาและจะสร้างความคลุมเครือในพื้นที่ต่อไป เผยอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพ ยืนยัน การแก้ไขความขัดแย้งในชายแดนใต้ ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างถึงที่สุด
.
หลังการต่อสู้ทางคดีมานานกว่า 2 ปี ในวันที่ 9 พ.ค.2565 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการตายออนไลน์ ในคดีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่หมดสติหลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อปี 2562 ซึ่งพบว่า มีอาการสมองบวมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยคำสั่งของศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้นไม่ทราบสาเหตุ ในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
.
รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีศาลมีคำสั่งคดีไต่สวนการตาย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า สาระของคำสั่งยังไม่อาจให้ความกระจ่างถึงสาเหตุการตายได้ ยังมีข้อเท็จจริงแวดล้อมที่น่ากังขาหลายประเด็น รวมไปถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงหลักฐาน โดยเฉพาะบันทึกกล้องวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ผลการไต่สวนที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ได้แตกต่างไปจากคำแถลงที่มีมาก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะใช้เวลาถึงสองปี
.
“กรณีนี้ยังคงต้องติดตามต่อไป เพราะทางญาติกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในคดีทางแพ่งหรือไม่ คำสั่งของศาลในวันนี้ถือเป็นก้าวแรก ๆ ของเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงถามความจริงและความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีผลต่อเฉพาะกรณีของอับดุลเลาะเท่านั้น แต่จะเป็นการต่อสู้ที่จะวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปะทะกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแพร่ระบาดและซึมลึกในสังคมไทย” รอมฎอน กล่าว
.
รอมฎอน ยังระบุอีกว่า กรณี อับดุลเลาะ เป็นหนึ่งในกรณีที่มีการหยิบยกมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาที่สังคมไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีตัวบทกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมอย่างการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน
.
“กรณีของ อับดุลเลาะ ถูกปักหมุดเอาไว้ในแผนที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจข่มเหงประชาชนตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรณีนี้ยังเผยให้เห็นข้อกังขาต่อการใช้อำนาจที่เกินเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในทางปฏิบัติที่ปกป้องคุ้มกันเจ้าหน้าที่ให้ลอยตัวพ้นไปจากภาระความรับผิดชอบที่ควรจะเป็น ”
.
รอมฎอน กล่าวอีกว่า สำหรับคำสั่งศาล แม้ผลที่ออกมาจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ไม่อาจไขปริศนาการตายได้ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมที่ติดตามและรับรู้ความคืบหน้าล่าสุดนี้จะไม่ได้คาดหวังว่าคำสั่งศาลจะสามารถชี้ไปถึงสาเหตุการตายในค่ายทหารของอับดุลเลาะได้อย่างตรงไปตรงมา
.
“พูดง่าย ๆ ก็คือความคลุมเครือที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจอะไรไปแล้ว คำถามก็คือเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ คำตอบซึ่งอาจจะพูดได้กว้างและไกลไปกว่ากรณีของอับดุลเลาะ คือเราพอจะเห็นได้ว่าในขณะนี้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันกองทัพและตุลาการกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต อาจไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในหล่มของความรุนแรงทางการเมืองมาเกือบ 20 ปีเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสิ้นหวังและหมดศรัทธาของผู้คนในวงกว้างด้วย”
.
รอมฎอน ทิ้งท้ายว่า สิ่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า การสร้างสันติภาพที่จะคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้โดยความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายยังคงเป็นเรื่องลำบากยากเย็น แม้ว่าเราจะมีกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าความไม่เป็นธรรมในแต่ละกรณีจะถูกให้น้ำหนักที่มากพอ ที่สำคัญความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนจะมีต่อรัฐคือฐานสำคัญการแสวงหาทางออกและความชอบธรรมของอำนาจรัฐ หากความเชื่อมั่นเหล่านี้พร่องลงไป ผู้คนจะยอมรับอำนาจรัฐน้อยลงไปตามกัน

“แต่ดูเหมือนว่าการสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอำนวยความยุติธรรมในฐานะที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐเองนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง กรณีของ อับดุลเลาะ เป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าหากจะมุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้อย่างจริงจัง ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างถึงที่สุดในการที่จะขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เปิดเผยความจริงและทำให้งานความมั่นคงโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะปูทางไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป” รอมฎอน ระบุ
.
สำหรับคดีของอับดุลเลาะ เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ทหารระบุว่า พบนายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในห้องควบคุม ศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและรับการรักษาต่อเนื่อง และได้เสียชีวิตในวันที่ 25 ส.ค.2562 ต่อมา ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของผู้ตาย จึงได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อกรณีการเสียชีวิตดังกล่าว