พระบูชา-พิมพ์สรงน้ำ หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท พระเกจิชื่อดังวัดจุฬามณี / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

พระบูชา-พิมพ์สรงน้ำ

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท

พระเกจิชื่อดังวัดจุฬามณี

พระเกจิอาจารย์สายแม่กลอง “หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท” หรือ “พระครูโกวิทสมุทรคุณ” วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีชื่อเสียงโด่งดัง

เป็นศิษย์เอกของพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี และหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เป็นต้น

พระเครื่องและวัตถุมงคล ได้รับความนิยม ทั้งที่สร้างเองและร่วมนั่งปรก ล้วนแล้วแต่พุทธคุณสูง ผู้ครอบครองต่างมีประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์

“พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

สร้างเมื่อปี พ.ศ.2527 ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชา ปั้นหุ่นพระและหล่อโดยช่างบุญเรือน หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อพระย่านท่าพระธนบุรี กรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบกัน คือ 1.ส่วนของหลวงพ่อเนื่อง 2. เก้าอี้ 3.ฐาน แล้วนำมาเชื่อมติดกัน

น้ำหนักองค์พระ อยู่ที่ราว 6.8-7.8 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความหนาของแต่ละชิ้นส่วน

ส่วนกรณีนั่งชิดหรือนั่งห่าง ไม่มีผลต่อการพิจารณา เพราะตอนช่างนำมาประกอบกันอาจวางองค์พระห่างหรือชิด ตามแต่ใจช่างผู้สร้าง

สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ถือเป็นรูปหล่อบูชาที่มีราคาแพงที่สุดของหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนเก้าอี้ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมือ อ่านได้ว่า “พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)” อักขระให้การแกะ ลูบด้วยนิ้วมือจะมีความคม มีการปิดทองที่สังฆาฏิ

ด้านหลัง ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมือ เขียนคำว่า “วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ ๑” บรรทัดที่ 2 แกะด้วยมือ เขียนคำว่า “๑๕ เม.ย.๒๕๒๗” ใต้ฐานมีร่องรอยการเทเพื่อหล่อโลหะและการเชื่อมโลหะ

สมัยก่อนนิยมนำมาสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลภายในบ้าน ด้วยจะทำให้ค้าขายดี มีโภคทรัพย์

ทุกวันนี้ กลายเป็นอีกวัตถุมงคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง

หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท

อัตโนประวัติมีนามเดิมว่า เนื่อง เถาสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2452 ปีระกา ที่บ้านคลองใหญ่ หมู่ที่ 4 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ในช่วงวัยเยาว์ จบการศึกษาชั้นประถม 4 จากโรงเรียนวัดบางกะพ้อม เมื่อปี พ.ศ.2463

เมื่ออายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2475 ที่พระอุโบสถวัดบางกะพ้อม ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มี หลวงพ่อคง ธัมมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อแช่ม โสฬส เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปล้อง วัดบางกะพ้อม เป็นอนุสาวนาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นเอก เมื่อปี 2479 ขณะเดียวกัน ก็มีความเชี่ยวชาญในทางวิปัสสนาและพุทธาคม เพราะได้อาจารย์ดีเป็นเบื้องต้น ตั้งแต่อุปสมบท ประกอบกับความตั้งใจมั่นในการศึกษา และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

โดยศึกษาจากหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังของ จ.สมุทรสงคราม เจ้าของเหรียญ 1 ใน 5 ชุดเบญจภาคีเหรียญยอดนิยมของวงการพระเครื่องเมืองไทย

นอกจากนี้ ยังได้เรียนสรรพวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี และหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ผู้สร้างตำนานตะกรุดลูกอม อันลือลั่น ไล่เรียงรายนามอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่องแล้ว จึงมิต้องแปลกใจแต่อย่างใด ในความรู้ความสามารถและความเข้มขลังในสายพุทธาคม

ถือเป็นพระเถราจารย์ที่ชาวสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงให้ความความศรัทธาเลื่อมใส อุทิศตนในการทำงานพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดจุฬามณีและชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด

ลำดับสมณศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ.2476 หได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูโกวิทสมุทรคุณ

เมื่อปี พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาคันธุระ ในราชทินนามเดิม

 

สําหรับวัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี 2172-2190 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เดิมชื่อวัดแม่เจ้าทิพย์ เป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับราชวงศ์จักรี ฝ่ายราชนิกุล (ตระกูล ณ บางช้าง) โดยเดิมกุฏิและอุโบสถ ล้วนสร้างจากไม้สัก ซึ่งย่อมผุพังและเสื่อมโทรมไปตามกาล

ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพคงทนแข็งแรงและมีความสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถของหลวงพ่อเนื่องอย่างแท้จริง

ดูแลบูรณปฏิสังขรณ์จนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะอุโบสถจตุรมุข หินอ่อน 3 ชั้น กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร สูง 10 เมตร มูลค่าการก่อสร้างนับสิบล้านบาท วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2511 โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) เสด็จทรงประกอบพิธี

มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า เคยต้องอธิกรณ์ โดนตั้งกรรมการสอบสวนถอดสมณศักดิ์ เนื่องจากมีชื่อเสียงเรื่องการใบ้หวย จนมีชาวบ้านหลั่งไหลขอเลขเด็ดกันไม่ขาดสาย

จนมีพระเถระรูปหนึ่ง ท้าทายท่านว่า “คุณเนื่อง ถ้าคุณแน่จริงเห็นเลขจริง ให้มาพิสูจน์สักสองตัวได้ไหม” หลวงพ่อเนื่องตอบกลับไปว่า “พระเดชพระคุณจะให้สัจจะกับเกล้ากระผมได้ไหมว่าจะไม่เอาไปแทง ถ้าให้สัจจะ เกล้ากระผมก็จะให้เลขเพื่อพิสูจน์ว่า เกล้าเห็นจริงหรือไม่จริง”

หลังจากท่านเจ้าคุณให้สัจจะ จึงได้เขียนตัวเลขรางวัลที่ 1 ใส่กระดาษแล้วขอให้เก็บไว้ในตู้เซฟ ครั้นประกาศผลก็ให้เปิดกระดาษนั้นคลี่ดู ปรากฏว่า “ตัวเลขที่ท่านเขียนไว้ในกระดาษตรงกับรางวัลที่ 1 ของกองสลากไม่ผิดเพี้ยน”

ต้นปี พ.ศ.2530 หลวงพ่อเนื่องเริ่มมีอาการอาพาธ จนมีอาการทรุดหนักลง

กระทั่งในช่วงเช้าเวลา 06.20 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จึงละสังขารลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 56 •