“เอ็นไอเอ” สร้างนวัตกรรมไทยขายได้ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ดีพเทค ซอฟต์พาวเวอร์ และนวัตกรรมบริบทสังคมใหม่ โอกาสที่ไทยต้องรีบคว้า

กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2565 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้เข้าถึงการจดสิทธิบัตรคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ชี้กลุ่มนวัตกรรมที่ต้องเร่งส่งเสริมและผลักดัน ได้แก่ ธุรกิจดีพเทค นวัตกรรมวัฒนธรรมที่สอดรับกับซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 5 F (FOOD, FILM ,FASHION ,FIGHTING และ FESTIVAL) และนวัตกรรมที่รองรับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจใหม่จากการระบาดของโควิด – 19 เช่น ยา วัคซีน การรักษาโรค และการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ NIA ยังมีแนวทางในการสนับสนุนให้ธุรกิจนวัตกรรมเข้าถึงกระบวนการด้านสิทธิบัตรและทรัพย์สินถึงปัญญาไม่ว่าจะเป็นบริการคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา การอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ กลไกการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรม ซึ่งเพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน และค่าดำเนินการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า NIA เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมจดสิทธิบัตรคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และป้องกันไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบเทคโนโลยี การวิจัย หรือสิ่งที่ค้นพบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ซึ่ง NIA ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพในกลุ่มดังกล่าวให้ได้จำนวน 100 ราย ภายในปี 2566

นอกจากนี้ NIA ยังมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรม 5 F ที่สอดรับกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ 1) อาหาร 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 3) การออกแบบแฟชั่นไทย 4) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ 5) เทศกาลประเพณีไทย ผ่านรูปแบบนวัตกรรมกลุ่ม MARTech ซึ่งได้แก่ M – Music (ดนตรี) A – Art (ศิลปะ) โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมดิจิทัล – วิถีชีวิตของคนไทย และ R – Recreation (สันทนาการ) ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมและการละเล่นประจำถิ่น สำหรับนวัตกรรมด้านอาหารก็มีศักยภาพไม่แพ้กัน โดยได้สนับสนุนสตาร์ทอัพกว่า 30 รายใน 8 ประเทศเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับอาหารไทย เช่น เนื้อจากพืชวัตถุดิบไทย การพัฒนารสชาติอาหารใหม่ ฯลฯ

วัฒนธรรม นวัตกรรมการท่องเที่ยว หรือศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบทางธุรกิจได้ค่อนข้างสูง เราจะเห็นว่าหลายประเทศ เช่น เกาหลี ก็ใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาทำให้ธุรกิจเติบโต โดยแกนหลักจะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์มากกว่าสิทธิบัตร เพราะเป็นเรื่องการคุ้มครองมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การสร้างสรรค์กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรม งานเกี่ยวกับบรอดแคสต์ งานดนตรี ซอฟแวร์ และมัลติมีเดีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลิขสิทธิ์สำคัญมาก ประเทศไทยเองมี ซอฟต์พาวเวอร์เยอะมาก เพียงแต่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่มีคนไทยเป็นเจ้าของและสามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ ส่วนเรื่องของอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงซอฟต์พาวเวอร์อันนี้อาจจะมีสิทธิบัตร

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งนับเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิต ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในหลายด้าน และได้เห็นความสามารถของผู้พัฒนานวัตกรรมไทยที่มีโอกาสสร้างมูลค่าและผลักดันเข้าสู่กระบวนการจดสิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นด้านยา เช่น วัคซีน การรักษาโรค และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ด้านการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเกี่ยวกับการประชุมทางออนไลน์ ด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ชและสังคมไร้เงินสด และด้านจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ที่ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทำสินทรัพย์ดิจิทัล ดิจิทัลอาร์ท หรือดิจิทัลคอนเท้นต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ โดยการคุ้มครองจะมีตั้งแต่เทคโนโลยีพื้นฐาน เทคโนโลยีที่มีการต่อยอด และธุรกิจที่มีการเกิดขึ้นใหม่

ทั้งนี้ เพื่อให้นวัตกรรมไทยเข้าถึงกระบวนการจดสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาได้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2565 NIA จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวผ่าน 4 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็น

·    หลักสูตรยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยฐานคิดนวัตกรรม หรือ “SME to IBE” ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 พฤษภาคม 2565

· หลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม https://moocs.nia.or.th/ ในหัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับธุรกิจนวัตกรรม” และ “คู่มือปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรม” เมื่อเรียนครบและทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จะสามารถขอรับใบประกาศนียบัตรออนไลน์จาก NIA ได้

·   กิจกรรมบริการด้านคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการเข้าถึงตลาด เกี่ยวกับการลงทุน ด้านกลยุทธ์ตลาด และด้านทรัพย์สินทางปัญญาประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายที่ควรรู้สำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นในการขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจัดโดยศูนย์ Global Startup Hub สำหรับให้บริการสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผ่านรูปแบบออนไลน์

·    การส่งเสริมความสามารถเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมภายใต้ “กลไกการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมเพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน” หรือ “NIA X Alliance” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและผู้ให้บริการใน 7 สาขา ได้แก่ 1) การออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์/ โรงงานต้นแบบ 2) มาตรฐานอุตสาหกรรม 3) การเงินและการบัญชี 4) การบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรม (แผนธุรกิจ/การตลาด) 5) กฎหมายธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา 6) การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และ 7) การค้าระหว่างประเทศ

“ NIA ยังมีแนวทางส่งเสริมให้นวัตกรเข้าถึงแหล่งทุนด้านการเงินผ่านกลไกที่เรียกว่า Mind Credit ด้วยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสำนักงานกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้าน IP ระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อให้ทนายความสิทธิบัตรที่เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ผ่านการพิจารณาของ NIA ดำเนินการจดสิทธิบัตร โดยที่ NIA ให้ทุนสนับสนุนสูงสุด 1 ล้านบาท (ไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ) ในการดำเนินการจดสิทธิบัตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยทั้งในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้าหรือบริการ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ตลอดจนเป็นเกราะป้องกันการถูกเลียนแบบจากบริษัทคู่แข่งอีกด้วย โดยผ่านมามีตัวอย่างของบริษัทที่ได้รับโครงการสนับสนุนภายใต้ Mind Credit แล้วหลายโครงการ เช่น โครงการโซ่ขับเฟืองล้อรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการแบบใหม่สามารถลดชิ้นส่วนประกอบลงทำให้ส่งผลให้ลดการใช้วัสดุ โครงการเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยง เช่น วีลแชร์ ลู๋วิ่งในน้ำ เครื่องสแกนใบหน้าแบบสามมิติโดยมีความแม่นยำสูงสามารถนำมาสร้างเป็นแบบจำลองของใบหน้าได้เสมือนจริง โครงการระบบการจัดการแปรรูปขยะอินทรีย์ที่อยู่ในชุมชนเพื่อลดปริมาณและค่าใช้จ่ายสำหรับนำขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัด เป็นต้น