ขวัญข้าว-ขวัญนา แรกนาขวัญ พิธีกรรมแบบ ผี-พราหมณ์-พุทธ ในศาสนาไทย / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ขวัญข้าว-ขวัญนา แรกนาขวัญ

พิธีกรรมแบบ ผี-พราหมณ์-พุทธ

ในศาสนาไทย

 

แต่ดั้งเดิมนั้น “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพิธีกรรมในศาสนาผี ไม่ใช่พิธีพราหมณ์ (ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีก็เถอะ) หลักฐานก็เห็นอยู่ทนโท่จากชื่อของพิธีที่มีคำว่า “ขวัญ” เป็นส่วนสำคัญ

เพราะอะไรที่เรียกกันว่า “ขวัญ” นั้น เป็นความเชื่อที่ไม่มีในอินเดีย

ภูมิภาคอุษาคเนย์ยุคก่อนรับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย เชื่อว่าวัตถุต่างๆ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ต่างก็มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน

คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ “ร่างกาย” กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ “ขวัญ”

แม้แต่สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ ต่างก็มีขวัญกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมีพิธีแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญของท้องนา

“ขวัญ” จึงต่างจากสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” ตามคำสอนทางศาสนาจากอินเดียมากทีเดียว เพราะเมื่อคนตายวิญญาณก็ดับหายไป หรือจะวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละศาสนา แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก

ขวัญ มีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้น ร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ดังนั้น “ขวัญ” จึงแตกต่างจาก “วิญญาณ” เป็นอย่างมาก เพราะวิญญาณตามความเชื่อที่เราอิมพอร์ตมาจากอินเดียนั้น เรามีอยู่เพียงคนละดวงเท่านั้น ผิดจากขวัญ ที่เราแต่ละคนมีกันอยู่เพียบดวง

แรกนาขวัญนั้นจึงเป็นพิธีการ “ทำขวัญ” ให้กับ “นาผืนแรก” ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก “นาตาแฮก” และเรียก “แรกนาขวัญ” เมื่อเป็นพิธีหลวง

 

แต่นอกจากจะมี “ขวัญนา” คืออำนาจในเชิงนามธรรมของผืนนาแล้ว ก็ยังมี “ขวัญข้าว” คือผีต้นโคตรของข้าว ที่คนโบราณเรียกว่า “แม่ข้าว” (ศาสนาผีของอุษาคเนย์เดิมนับถือผู้หญิงเป็นใหญ่ อะไรๆ ที่ยิ่งใหญ่หรือสำคัญจึงยกย่องให้เป็น “แม่” ไปเสียหมด เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ แม่พิมพ์ เป็นต้น)

พระยาอนุมานราชธนได้เคยเขียนบทความอธิบายถึงความเชื่อเรื่อง “แม่ข้าว” ในบทความที่ชื่อ “แม่โพสพ” ในวารสารศิลปากร ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2492 ภายใต้นามปากกาเสฐียรโกเศศ มีใจความสรุปได้ว่า

เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวออกจากรวงแรก ขวัญของข้าวจะหนีออกไปสิงอยู่ในรวงที่สอง ซึ่งยังไม่ถูกเกี่ยว แต่เมื่อรวงที่สองถูกเกี่ยวอีกขวัญของข้าวก็จะหนีไปอยู่รวงที่สาม เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็หนีไปจนมุมอยู่ในรวงสุดท้าย และเมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวรวงสุดท้ายแล้ว ขวัญข้าวก็จะหนีไปสิงอยู่ในรวงข้าวตก ชาวนาจึงพร้อมใจกันยกย่องรวงข้าวตกเป็นแม่ข้าว

การเกี่ยวข้าว จึงเท่ากับชาวนาเป็นผู้ฆ่าแม่ข้าว หรือทำให้แม่ข้าวตาย เพื่อเอาเลือดกับเนื้อแม่ข้าวคลุกเป็นเนื้อดินท้องนาเป็นอาหารต้นข้าว เมื่อเพาะปลูกปีต่อไปต้นข้าวจะได้จำเริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดและเนื้อของแม่ข้าว ขณะเดียวกันขวัญของแม่ข้าวจะสิงอยู่ในต้นข้าวที่เพาะปลูกใหม่นั่นเอง

“แม่ข้าว” ที่เจ้าคุณอนุมานฯ กล่าวถึง เรามักจะรู้จักกันในชื่อของ “พระแม่โพสพ” นั่นแหละครับ แต่ถึงแม้จะมีชื่อเรียกในปัจจุบันอย่างแขกๆ พระแม่องค์นี้ก็ไม่ได้เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และไม่ได้มีในอินเดียเสียหน่อย

 

และเอาเข้าจริงแล้ว ก็ยังมีหลักฐานในทวาทศมาสโคลงดั้น วรรณกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่เรียก “พระแม่โพสพ” ว่า “พระไพศพ” ที่ปราชญ์ทางภาษาเขาอธิบายกันว่า มาจากคำสันสกฤตว่า “ไพศฺรพณะ” (ไวศฺรวณะ) ตรงกับคำบาลีว่า “เวสฺสวณฺ” หรือที่ไทยเรียกว่า ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรนั่นเอง

ตามคติในศาสนาพุทธแล้ว ท้าวเวสสุวรรณเป็นหนึ่งในสี่ของท้าวจตุโลกบาล โดยประจำอยู่ทางทิศเหนือ ในสวรรค์ชั้นแรกซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาวงแหวนยุคนธร ที่มีชื่อว่า จาตุมหาราชิกา โดยทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ เป็นประธานใหญ่ของหมู่อสูรและรากษส ตลอดจนภูตผีทั้งปวง

อันที่จริงแล้วคำ “โพสพ” ในชื่อของพระแม่องค์นี้ จึงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับข้าวเลยสักนิด แถมชื่อของเจ้าแม่ยังไปหยิบยืมเอามาจากชื่อของเทพเจ้าที่เป็นผู้ชายอีกด้วยต่างหาก

ดังนั้น พ่อพราหมณ์จากชมพูทวีป ท่านจึงไม่คุ้นหูเมื่อมีใครเอ่ยถึงชื่อพระแม่โพสพ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ก็ไม่มีเทพ หรือเทพีองค์ไหนที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นข้าวเป็นการเฉพาะ

ที่จริงแล้ว อะไรที่คนไทยในปัจจุบันเรียกกันว่า “พระแม่โพสพ” นั้น จึงกลายมาจาก “แม่ข้าว” ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ ในกรณีของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น เมื่อพระยาแรกนาขวัญโปรยปรายเมล็ดข้าวแจกจ่ายให้กับราษฎรแล้ว เมล็ดข้าวที่ถูกชาวนาเก็บไปนั้นก็คือ “ขวัญข้าว” ที่จะเอาไปใช้เป็น “ขวัญนา” ของตนนั่นเอง

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าในอินเดียจะไม่มี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวผืนแรกหรอกนะครับ ตัวอย่างชัดๆ มีปรากฏอยู่ในพุทธประวัติว่า พระเจ้าสุทโธนะ ผู้เป็นบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ได้ประกอบพิธีที่ในภาษาบาลีเรียกว่า “วัปปมงคล”

คำว่า “วัปปะ” เป็นกริยาธาตุ แปลว่า “หว่าน” ตรงกับคำว่า “วาปยะ” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “พึงหว่าน (เมล็ดพันธุ์)” หรือ “พึงเพาะปลูก” พิธีวัปปมงคลที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบขึ้นนั้นจึงเป็นพิธีที่คล้ายๆ กับแรกนาขวัญ เพราะเป็นพิธีที่เชื่อว่าจะให้การเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ใช่แรกนาขวัญ เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องขวัญ แถมวิธีการประกอบพิธีที่ว่าในอินเดีย ยังแตกต่างออกไปจากพิธีแรกนาขวัญอีกด้วย

พิธีวัปปมงคลเอาไว้ว่า เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคพระเวท (คือช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับพุทธกาล หรือเก่าแก่กว่าเล็กน้อย) ที่กษัตริย์จะทรงเป็นผู้ไถนาบนผืนนาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีด้วยพระองค์เอง โดยบางข้อมูลได้ระบุลงไปด้วยว่า ในพิธีวัปปมงคลนั้น พระราชา หรือตัวแทนของพระองค์ จะ (ทรง) ใช้คันไถที่ทำขึ้นมาจากทอง หรือเงินเท่านั้น

ลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงเค้าเดิมของพิธีกรรมอันเก่าแก่ในชุมชนแบบดั้งเดิม ที่มีอยู่ในชุมชนเครือข่ายวัฒนธรรมพระเวทในอินเดียเหนือ และยังตกทอดให้เห็นในศาสนาพุทธยุคต่อมา ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพุทธประวัติอย่างที่ผมบอกไว้นี่แหละ

 

พิธีวัปปมงคลนี่จึงเป็นพิธีกรรมรวมๆ ที่กระทำกันทั่วไปในอินเดีย ไม่ได้เป็นพิธีเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และมันก็ฟังดูคล้ายกับพิธีแรกนาขวัญมากเลยทีเดียว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดถ้า เมื่อมีการรับอิทธิพลของพุทธศาสนา และพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาในดินแดนอุษาคเนย์แล้ว จะมีการนำเอาพิธีวัปปมงคลเข้ามาผสมผสานกับพิธีแรกนาขวัญ ดังปรากฏเป็นร่องรอยจากคำว่า “จรดพระนังคัล” โดยคำว่า “นังคัล” แปลว่า “ผาลไถนา” แถมยังให้พ่อพราหมณ์มาเทกโอเวอร์กิจการไปประกอบพิธีแทนเสียด้วย

แต่เรื่องก็ยังไม่จบเท่านี้หรอกนะครับ เพราะต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 4 ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิธีสงฆ์ในโบสถ์วัดพระแก้วมรกต ผนวกเข้าไปในทุกพระราชพิธี

โดยในกรณีของพิธีแรกนาขวัญ ให้ชื่อว่า “พิธีพืชมงคล” ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

ที่ผสมผสานไว้ทั้งความเชื่อแบบผี-พราหมณ์-พุทธ แบบไทยๆ นั่นเอง •