จนเงิน จนโอกาส จนปัญญา | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 08/09/2017

อ่านแถลงข่าวจุดยืนเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อค่าครองชีพที่ให้ตัวเลขว่าค่าแรงที่จะทำให้มนุษย์แรงงานคนหนึ่งมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวคือวันละ 700 บาท หรือเดือนละ 21,000 บาท (นั่นแปลว่าต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุดกรณีที่รับค่าแรงรายวัน)

พอข่าวแบบนี้ออกมาปุ๊บ อย่างที่เราเคยได้ยินมาตลอดชีวิตคือเสียงที่บอกว่า “จะบ้าหรือเปล่า ค่าแรงวันละ 700 นี่มันมากกว่าเงินเดือนคนจบปริญญาตรีอีกนะ” (เอ่อ ถ้ามันจะเท่าก็ไปขึ้นเงินเดือนให้พวกปริญญาตรีด้วยสิ)

หรือค่าแรงวันละ 700 นี่ ธุรกิจเจ๊งระนาวแน่ๆ จะเอาอะไรไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ถ้าค่าแรงแพง เราก็ต้องขึ้นราคา ขึ้นราคาก็ไม่มีใครมาอุดหนุน ก็เจ๊งกันพอดี หรือไม่ก็ต้องหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวที่รับค่าแรงถูกกว่า

แล้วแรงงานไทยที่อยากได้ค่าแรง 700 บาทก็ตกงานไปแล้วกัน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็จะหันไปใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์แล้วนะ

พวกที่ค่าแรงเท่าไหร่ก็ไม่พอนี่ก็เตรียมตัวตกงานไปเถอะ

ตัดไปอีกภาพหนึ่งที่ชนชั้นกลางอย่างเราจะชอบอ่านข่าว (ที่บางครั้งฉันเรียกว่าวรรณกรรม) ว่ามหาเศรษฐีทั้งเก่าและใหม่มีรายได้กี่พันล้าน กี่หมื่นล้าน

พลางชื่นชมว่า โอ คนเหล่านั้นช่างเก่ง ช่างฉลาด ช่างมีความคิดสร้างสรรค์ ช่างมีพรสวรรค์ ช่างมีความอุตสาหะ ไม่ย่อท้อ

โอวว คนแบบ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ไม่แคร์ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเลย (แต่เรียนฮาร์วาร์ดนะ)

เห็นไหมล่ะ คนเหล่านี้คิดนอกกรอบ คิดนอกกล่อง มีความกล้าหาญ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ลงหุ้นตั้งแต่อายุ 11 ปี โห อัจฉริยะมาก

ไปเดินดูแผงหนังสือ เราจะเจอหนังสือฮาวทู ที่บอกว่า คนชนชั้นกลางอย่างเรา หากได้อ่านได้เข้าใจวิธีคิดของยอดมนุษย์เหล่านี้ (เช่น ลงทุนแบบกูรู บลา บลา, คิดต่างอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ ฯลฯ) ก็อาจทำให้เราได้มีวิสด้อม ความฉลาดปราดเปรื่อง สามารถประสบความสำเร็จ ร่ำรวยได้เหมือนพวกเขาบ้าง

แต่ถ้าไม่ได้ คำตอบก็ง่ายมากคือ “เราคิดได้แบบคนธรรมดาไง คนเหล่านั้นมันยอดมนุษย์ ที่เราควรบูชา มองดูไว้เป็นเยี่ยงอย่างและแรงบันดาลใจ”

 

ไม่เพียงแต่ความสำเร็จของคนเหล่านั้นจะถูกไฮไลต์มาแต่เรื่องความฉลาด พรสวรรค์ ความแหวกแนว ความกล้าหาญ การทำงานหนัก (ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่ฉลาด แต่ความฉลาดที่ปราศจากโอกาส และเน็ตเวิร์กบางอย่างที่เราเรียกว่าทุนทางสังคมและวัฒนธรรม หรือโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง – เช่น กรณีของ แจ๊ก หม่า – ก็ยากที่แค่ความฉลาดเพียงอย่างเดียวจะทำให้ใครสักคนกลายเป็นอัลตร้ามิลเลียนแนร์ หรือโคตรๆ มหาเศรษฐี)

กระนั้นคนชั้นกลางอย่างเราที่คุ้นเคยกับพล็อต “เสื่อผืนหมอนใบ” ทำงานหนัก อดออม อุตสาหะ ก็พร้อมจะเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

การที่ใครสักคนจะกลายเป็นเศรษฐี หรือประสบความสำเร็จในชีวิต ก็มีเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ ขยัน ทำงานหนัก และประหยัด

พวกเราจึงชอบอ่านวรรณกรรม “ข่าว” ที่ว่าด้วยชีวิตสมถะของเศรษฐีอีก เช่น กรี๊ดดด เจ้าของอีเกียนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดทุกครั้งเลยนะเธอ

 

โอ๊ย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ชอบใช้ชีวิตง่ายๆ ติดดิน ไม่เคยใส่สูท ใส่แต่เสื้อยืดเก่าๆ พวกเขาอ่านหนังสือ ทำงานหนัก มัธยัสถ์ ใจบุญ มีเงินก็เอาไปบริจาคเพื่อคนยากจน

นี่สิ ชีวิตที่พวกเราควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ในขณะที่เราพยายามจะมีเศรษฐีเหล่านี้เป็นแบบอย่างในชีวิต

เราก็ไม่ค่อยตั้งคำถามว่า เฮ้ยย ในขณะที่คนประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของโลกมีเงินเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แต่ทำไมยังมีแรงงานจำนวนมากในโลกนี้อยู่ด้วยค่าแรงขั้นต่ำที่บางครั้งแทบจะไม่พอเป็นค่ารถมาทำงาน!

และเรายังมีตัวเองอีกว่าในปี 2543 นั้น ในอเมริกาเงินเดือนของซีอีโอกับพนักงานต่างกันถึง 376 เท่า ส่วนในปี 2557 ต่างกันประมาณ 303 เท่า

สิ่งที่ฉันเห็นว่าน่าขัน (และบางครั้งก็สังเวชตัวเองในฐานะชนชั้นกลาง) คือ ในขณะที่เรารู้สึกว่าตัวเลข 700 บาทสำหรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นตัวเลขที่-เป็นไปไม่ได้, สูงเกินไป-และเรามีแนวโน้มจะเชื่อในคำอธิบายว่า

“คนงานพวกนี้ ก่อนจะเรียกค่าแรงสูงๆ เคยหันมามองดูตัวเองบ้างไหมว่ามีทักษะในการทำงานสมกับค่าแรงที่เรียกร้องหรือเปล่า ทำงานไปวันๆ ไม่เคยพัฒนาทักษะ ไม่เคยหาความรู้เพิ่มเติม เผลอๆ ขี้เกียจ ทำงานแบบเอาเปรียบนายจ้าง อู้ได้เป็นอู้ ได้เงินมาก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นหนี้นอกระบบ แบกดอกเบี้ยแพงๆ แล้วก็บ่นค่าแรงไม่พอ คนจนพวกนี้ก็ดีแต่โทษคนอื่น ใช้เงินแบบนี้ ทำงานแบบนี้ เมื่อไหร่จะลืมตาอ้าปากได้”

มันตลกมากเลย ที่เรามีแนวโน้มจะชื่นชมเศรษฐีว่า ฉลาด ทำงานหนัก มัธยัสถ์ ติดดิน บอกว่าคนจนเพราะขี้เกียจ ใช้เงินไม่เป็น สุดท้าย เราไม่เคยยืนอยู่ข้างการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำของแรงงาน และมักเห็นว่า ค่าแรงสูงนั่นแหละจะกลับทำร้ายแรงงานเสียเอง เพราะจะทำให้ธุรกิจเจ๊ง แล้วแรงงานตกงาน จากนั้นจะโทษใคร?

เราบอกว่าแรงงานคนมีรายได้น้อย ไม่มีวินัยทางการเงิน กินเหล้า เล่นการพนัน เล่นหวย กู้เงินนอกระบบ ทำให้ต้องตกอยู่ในวังวนความยากจน แต่เราได้ทำอะไรที่มากไปกว่าสร้างแคมเปญ จน เครียด กินเหล้า หรือแคมเปญ เรียกร้องให้พวกเขาเป็นคนดี เลิกเหล้า เลิกการพนัน แบบทื่อๆ

แต่เราไม่เคยคิดว่า อะไรที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องพึ่งเหล้า การพนัน หวย เงินกู้นอกระบบ

เขากินเหล้าเพราะชีวิตไม่มีทางเลือกสำหรับการผ่อนคลายราคาถูกกว่านี้ ดีกว่านี้หรือเปล่า?

ถ้าเพียงแต่เราจริงจังกับคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ แทนการประณามว่าพวกเขาโง่ ขี้เกียจ ไร้วินัย เราต้องคิดเรื่อง public housing หรือสวัสดิการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

เพียงแต่คนงานและผู้มีรายได้น้อยจะมีที่อยู่อาศัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี มีสวนสาธารณะ มีการจัดการและออกแบบพื้นที่อันจะโน้มนำให้ผู้อยู่อาศัยเลือกกิจกรรมที่มีคุณต่อร่างกายมากกว่าเป็นโทษต่อร่างกาย

เช่น ทำให้การออกกำลังกายเป็นไปได้ง่าย ทำให้เหล้าเป็นเครื่องดื่มเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อดับทุกข์

มีพื้นที่สำหรับครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกัน มีห้องสมุดสำหรับลูกๆ ของพวกเขา

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเหล่าผู้ใช้แรงงานได้รับค่าแรงมากพอที่จะไม่ต้องแบกรับความเครียด ความเสี่ยงในชีวิตมีความมั่นคงทางใจพอที่จะรู้สึกว่า เฮ้ย ตอนเย็นๆ เราก็ออกไปเดินเล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก ออกกำลังกายหรืออะไรก็แล้วแต่

ด้วยค่าแรงอันน้อยนิด แรงงานอาจจะไม่ยากจนถ้าเขามีสวัสดิการเรื่องบ้าน และอยู่ในสังคมที่มีขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี ซึ่งไม่ใช่ราคาถูกหรือฟรี แต่ต้องรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย ลูกหลานของพวกเขาได้รับการบริการทางการศึกษา สาธารณสุข

 

เราบอกว่า แรงงานไม่ยอมพัฒนาทักษะ ฝีมือ ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ด้วยค่าแรงวันละ 300 บาท ที่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่ารถ ค่าอาหาร จะยังมีเงินเหลือไปเรียน ไปเข้ารับการอบรม ไปอ่านหนังสือในห้องสมุด เพื่อพัฒนาตัวเองหรือไม่?

เราบอกว่าคนจนจนดักดาน จนยันรุ่นลูกรุ่นหลาน

แต่เรามักลืมตั้งคำถามว่าช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมของเราเป็นอย่างไร

คุณภาพของโรงเรียนและการศึกษา โอกาสในการสะสมต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้นทุนทางคอนเน็กชั่น ระหว่างลูกหลานคนจนกับคนมั่งมีต่างกันกี่เท่า

ลูกคนรวยเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เรียนโรงเรียนทางเลือก

ลูกหลานคนจนเรียนโรงเรียนประชาบาลตามมีตามเกิด เจอครูบังคับกราบเต้าหู้บ้าง เอารองเท้าวางบนหัวบ้าง เจอระบบอำนาจนิยมตลอดเวลา ในขณะที่โรงเรียนแพงๆ ใช้ระบบฟินแลนด์ ระบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก

ถ้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นแบบนี้ ถามว่า เราจะเตรียมแรงงานสำหรับเศรษฐกิจ 4.0 ไว้ที่ไหน

ลูกหลานแรงงานรายได้น้อย เรียนอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้ให้พวกเขาเลย จะเติบโตไปอยู่ตรงไหนของตลาดแรงงาน?

เมื่อพวกเขากลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไร้ทักษะ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือ เป็นแรงงานราคาถูก ไร้คุณภาพ ขณะเดียวกันก็ถูกตัดสินจากสังคมว่า-นี่ไง พวกไม่ขยัน ไม่ขวนขวาย เวียนว่ายตายเกิดกับบ่วงความจน ขาดจินตนาการ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทะเยอทะยาน ขาดความรู้รอบตัว วันๆ ดูละคร อ่านข่าวดารา โลกแคบ ฯลฯ

วนกลับมาที่เดิมว่า อ้าว แล้วระบบโครงสร้างสังคมแบบไหนที่สร้างพวกเขามาเป็นแบบนี้

 

แล้วสังคมไทยก็เดินวนไปในวงจรนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนที่มั่งมีก็ยิ่งมีอย่างไม่ขาดตอน สืบต่อความมั่งคั่ง โอกาสทางสังคม การครอบครองทุนทางวัฒนธรรม ลูกหลานคนเหล่านี้ก็จะยิ่งได้รับการศึกษาดี ได้รับการอบรมที่ดี ได้รู้จักโลกกว้าง

ในขณะที่คนจนก็ยิ่งจนต่อไปเรื่อยๆ จนเงิน จนโอกาส อับจนไปถึงทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรม สังคมบีบให้เขาต้องจนทั้งทรัพย์และปัญญาไปในเวลาเดียวกัน

และต่อให้วงจรความจนนี้หมุนไปอีกสามรอบ สี่รอบ ค่าแรงขั้นต่ำของไทยก็คงยังไม่ถึง 700 บาท