‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ ชุมชนปลอดภัย-เมืองอัจฉริยะ สะท้อน ‘บิ๊กปั๊ด’ ผบ.ตร.ไฮเทค/โล่เงิน

โล่เงิน

 

‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’

ชุมชนปลอดภัย-เมืองอัจฉริยะ

สะท้อน ‘บิ๊กปั๊ด’ ผบ.ตร.ไฮเทค

 

“จะมีสักซอยไหม ที่เดินกลางคืน คนไม่กลัวอะไร โดยเฉพาะสุภาพสตรี นี่คือเป้าหมายของโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ที่ต้องไปให้ถึง ตำรวจทั่วประเทศต้องเข้าใจว่าเรามีหลักชัยเดียวกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย” คือคำประกาศของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.

โครงการ Smart Safety Zone 4.0 ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกของการนั่ง ผบ.ตร.คนที่ 12 ของ “ผบ.ปั๊ด”

ตามสไตล์คนมีความทันสมัยในเทคโนโลยี โปรไฟล์การศึกษาจบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์จากจุฬาฯ และเคยฝึกอบรมหลักสูตรเอฟบีไอ สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือสืบสวน จึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสืบสวนอย่างโดดเด่น

สอดรับวิสัยทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคนี้ “องค์กรบังคับใช้กฎหมายที่นำสมัย ในระดับมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา”

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์เล่าถึงที่มาในรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ Smart Safety Zone เมื่อวันก่อนว่า การดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะภัยอันตรายบนพื้นที่สาธารณะ เป็นภารกิจแรกๆ ของตำรวจ การจะทำให้สำเร็จต้องอาศัยทรัพยากรทุกอย่าง ทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาคประชาชน ส่วนราชการอื่นๆ ระดมสรรพกำลังเพื่อภารกิจนี้ ซึ่งการวัดผลโครงการคือการที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดกลัวอาชญากรรม

“การสร้างพื้นที่เซฟตี้โซน เริ่มต้นจากการทำแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่ทดลองก่อน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกำลังคน ดังนั้น จึงเริ่มในแซนด์บ็อกซ์ แล้วใส่เทคโนโลยีเข้าไป ใส่คนเข้าไป และที่สำคัญใส่ความร่วมมือเข้าไป ทั้งความร่วมมือจากส่วนราชการและประชาชน ใช้หลักการตำรวจชุมชน ผสมผสานกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก”

ผบ.ตร.กล่าว

 

Smart Safety Zone 4.0 จึงเกิดขึ้นด้วยการนำนวัตกรรมด้านความปลอดภัย ทั้งเอไอ กล้องวงจรปิดที่สามารถติดตามอัตลักษณ์ของผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะเป็นภัยต่อประชาชน โดยที่ตำรวจให้การช่วยเหลือได้ไม่เกิน 15 นาทีจากจุดเกิดเหตุ และความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนโครงการ

ถือว่าเป็นการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้คนลดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม มีความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ

เริ่มด้วยการ

1. สำรวจกล้องวงจรปิดในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกัน พร้อมติดตั้งเพิ่มเติม

2. นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น การติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น

3. ติดตั้งเสาสัญญาณ S.O.S เพื่อประชาชนจะได้สามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที

4. จัดทำศูนย์ปฏิบัติการและควบคุมการสืบสวนคดีสำคัญ หรือ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฏิบัติการ และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อคอยควบคุมและสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

5. ใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น Police i lert u, Police 4.0, LINE Official

6. ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์พื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดต้นไม้ แต่งกิ่งไม้ในพื้นที่รกล้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง

7. แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม

 

ปรากฏว่าโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 เป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ช่วยสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย จากพื้นที่สายเปลี่ยว เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ และปลอดภัยในชุมชน

นำร่องในพื้นที่แลนด์มาร์ก แหล่งเศรษฐกิจของสถานีตำรวจ 15 แห่ง มี สน.ห้วยขวาง สน.ภาษีเจริญ สน.ลุมพินี สภ.เมืองพัทยา สภ.เมืองราชบุรี สภ.เมืองภูเก็ต สภ.หาดใหญ่ สภ.เมืองสมุทรปราการ สภ.ปากเกร็ด สภ.เมืองระยอง สภ.ปากช่อง สภ.เมืองอุดรธานี สภ.เมืองเชียงใหม่ สภ.เมืองพิษณุโลก และ สภ.เมืองปราจีนบุรี และขณะนี้ขยายโครงการเพิ่มอีก 100 สถานีทั่วประเทศ

หัวใจสำคัญคือการแสวงหาความร่วมมือ โดยช่วงเริ่มต้นได้รับความมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ให้งบประมาณเริ่มต้น

ถือว่าได้เบิกฤกษ์ความสำเร็จ ‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ ได้รางวัล Gold Award จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand research Expo) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี เป็นรางวัลแรกในระดับประเทศ

และต่อมาไปคว้ารางวัลประเภทการป้องกันอาชญากรรม จากเวทีการประชุมสุดยอดตำรวจโลก (World Police Summit) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา รางวัลนี้มอบให้องค์กรตำรวจที่มีผลงานในการพัฒนาแนวคิดตำรวจชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด

 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ที่ ผบ.ตร.ไว้วางใจมอบหมายให้ดูแล ได้ไปรับรางวัลเองบอกว่า “พล.ต.อ.สุวัฒน์สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และผม เป็นผู้กำกับดูแลโครงการนี้ รางวัลที่ได้รับมาเป็นกำลังใจที่สำคัญของทีมงานในการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ ขยายสู่วงกว้าง พร้อมกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม”

“ทีมงานจะมุ่งมั่นเพื่อขยายโครงข่ายของสมาร์ทเซฟตี้โซน ให้สามารถใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนในชุมชนมีความปลอดภัยแม้ว่าจะอยู่ในยามวิกาลก็ตาม จากการประเมินประสิทธิภาพที่ผ่านมาแต่ละท้องที่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ โดยที่ผ่านมามีการทดสอบระบบมาแล้วในท้องที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และจากนี้ไปจะเป็นการทดสอบระบบในพื้นที่ภูมิภาคเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบที่มีการติดตั้งไปสามารถใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนภายใต้นโยบายบำบัดทุกข์บำรุงสุข” ผช.ผบ.ตร.กล่าว

และว่า เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขับเคลื่อนการทำงานตามวิสัยทัศน์ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ที่ต้องการให้องค์กรเป็นหลักประกันความยุติธรรมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากลได้อย่างแท้จริง

ทิ้งท้ายด้วยวลีของเจ้าไอเดียโปรเจ็กต์

“ทุกคนมีลูกมีหลาน ผมเองก็มีลูก ผมอยากให้ลูกผมอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ลูกผมเดินถนนได้โดยไม่ต้องกลัวใครมากระชากกระเป๋า ตีหัวเรา ก็ต้องเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันช่วยกัน” พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว