‘วิโฐพา’ พระเจ้าผู้ปรนนิบัติรับใช้สาวกของพระองค์เอง / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Vithoba or Vitthala, a form of Viṣṇu worshipped at Pandharpur in Maharashtra. /britishmuseum

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

‘วิโฐพา’

พระเจ้าผู้ปรนนิบัติรับใช้สาวกของพระองค์เอง

 

ก่อนอื่นใดผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องด้วยบทความในคราวที่แล้วผมได้สะกดชื่อเทพเจ้า “วิโฐพา” ผิด โดยสะกดเป็น “วิโฑพา” และอีกพระนาม “วิฐฐลา” ผมสะกดผิดเป็น “วิฑฑลา” ตลอดทั้งบทความ กว่าจะทราบก็ได้ส่งไปยังกองบรรณาธิการแล้ว และเพิ่งได้ตรวจสอบกับอักษรเทวนาครีเองภายหลัง เพราะครั้งแรกอ่านจากเอกสารภาษาอังกฤษ

จึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอให้ท่านได้ทราบใหม่ว่าพระนามของเทพเจ้าที่กล่าวถึงไปแล้วในบทความ “วารกรี” นิกายสำคัญของฮินดูที่เรายังไม่รู้จัก” ที่ถูกต้องคือ วิโฐพา (ออกเสียงว่าวิโทบา) และวิฐฐลา ตามลำดับ

วันนี้จึงขอแนะนำถึงที่มาที่ไปของเทพเจ้าองค์นี้ซึ่งเป็นที่รักของคนฮินดูนับล้านๆ ในอินเดีย ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วครับ

 

ดังที่ได้เคยเสนอไปว่า นิกายวารกรีนับถือพระวิโฑพาเป็นพระเจ้าสูงสุด ชาววารกรีเห็นว่า พระวิโฐพา (เป็นคำเรียกในภาษามาราฐี โดยตัดอักษรท้ายแล้วเติม โอพา หมายถึงพ่อ) หรือพระนามอื่นว่า วิฐฐลาและปาณฑุรังคะ คือการปรากฏของพระกฤษณะในอีกภาคหนึ่ง ดังนั้น จะกล่าวว่าพระองค์คือพระกฤษณะหรืออวตารของพระนารายณ์ก็ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับสาวกแล้ว พระวิโฐพาออกจะมีลักษณะพิเศษเหมือนเป็นเทพเจ้าเอกเทศไปเลย เพราะพระองค์มีรูปร่างและบุคคลิกลักษณะต่างจากพระกฤษณะโดยทั่วไป และที่สำคัญพระองค์รักสาวกมากกว่าเทพเจ้าอื่นใด

รูปเคารพของพระวิโฐพาเป็นเทวรูปพระนารายณ์สองกรซึ่งอยู่ในลักษณะเท้าสะเอว พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือสังข์ สวมกีรีฏะมงกุฎ (มงกุฎทรงกระบอกสูง) สวมต่างหูรูปมกร โดยรวมมีลักษณะคล้ายคลึงเทวรูปพระนารายณ์ที่พบในบ้านเราหลายองค์ เช่น ที่วัดพระเพรง นครศรีธรรมราช พระองค์ยืนอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมที่เชื่อกันว่าเป็นอิฐก้อนหนึ่ง

ตำนานกล่าวว่า พระกฤษณะได้มาเยี่ยมนักบุญปุณฑรีกะที่ริมน้ำจันทรภาค ในเมืองปัณฑรปุระ แต่เผอิญปุณฑรีกะกำลังง่วนดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ไม่ทราบว่าพระเป็นเจ้ามาเยือนถึงบ้าน จึงโยนอิฐไปก้อนหนึ่งแล้วบอกให้แขกผู้มาเยือนจะยืนหรือนั่งรอบนนั้นก็ได้ ให้เขาเสร็จธุระก่อน

เมื่อเสร็จธุระ เขาหันมาก็เห็นพระกฤษณะยืนแข็งอยู่บนอิฐก้อนนั้นแล้ว เป็นตำนานที่มาของรูปลักษณ์เทวรูปและเทวสถานที่นี่

 

นักวิชาการบางท่านเห็นว่า เทวสถานพระวิโฐพาอาจมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยเป็นการเคลื่อนย้ายมาจากแคว้นกรรณาฏก แล้วค่อยพัฒนาขึ้นเป็นนิกายสำคัญของคนมาราฐีในแคว้นมหาราษฎร์

บางท่านอ้างว่า มีปุราณะหลายฉบับที่พูดถึงปัณฑรปุระ เช่น ปัทมะปุราณะ, สกันทะปุราณะ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อในหมู่ผู้ศรัทธาว่า สถานที่แห่งนี้มีความเก่าแก่มาก

ที่น่าสนใจคือพระวิโฐพาประดิษฐานอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เทวรูปพระชายาคือรุกมิณี หรือในภาษามาราฐีเรียกว่า รขุมาอีหรือรขุไม (ไอ ในภาษามาราฐีแปลว่าแม่ เช่น ชื่อเมือง “มุมไพ” (มุมไบ Mumbai) มาจากคำว่า มุมพา ซึ่งเป็นชื่อพระเทวีท้องที่ และไอที่แปลว่าแม่) กลับมีวิหารที่แยกออกไปต่างหาก

เล่ากันว่า พระนางรุกขมิณีหึงหวงที่เห็นพระกฤษณะพลอดรักกับนางราธา เธอจึงหนีมาถึงป่าอันเป็นสถานที่ตั้งวิหารพระวิฐฐลาในปัจจุบัน แต่กระนั้น แม้เมื่อพระกฤษณะตามหาจนพบแล้ว พระองค์ก็ยังคงต้องการอยู่กับสาวกของพระองค์มากกว่าชายา วิหารจึงแยกกันจนบัดนี้

เรียกว่ารักสาวกมากกว่าภรรยาตัวเองซะอีก

 

ด้วยความเชื่อว่าพระองค์มีความรักต่อสาวกมาก ชาววารกรีจึงมีคำเรียกพระวิโฐพาอีกอย่างว่า วิฐุมาอุลี หรือ “พระแม่วิฐฐลาผู้ห่วงใย” คำว่า มาอุลี (Mauli) แปลว่าแม่ซึ่งมีนัยยะของความห่วงใยอยู่ด้วย ต่างกับคำว่าไอ ที่แปลว่าแม่เฉยๆ คำว่าแม่จึงถูกใช้เรียกเทพบุรุษด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่างกับความรู้สึกที่มีต่อแม่นั่นเอง

เหตุใดพระวิโฐพาจึงเป็นที่รักขนาดนี้ ก็ด้วยประวัติของบรรดานักบุญ (เรียกว่า สันตะ) ผู้เป็นสาวกของพระวิโฐพาที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และบทกวีจำนวนมากมายที่ท่านเหล่านั้นประพันธ์ขึ้น

เรื่องราวเหล่านี้จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้คนมาทุกยุคสมัยแม้จนบัดนี้ แม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยก็ตาม

นักบุญของพระวิโฐพามาจากหลายพื้นภูมิ มีตั้งแต่พราหมณ์ไปจนถึงศูทร มีทั้งชายและหญิง ประกอบอาชีพและมีวิถีชีวิตต่างๆ กัน หลายท่านเป็นที่รู้จักในฐานะครูของผู้คน เช่น นักบุญชญานเนศวร (พราหมณ์) ผู้ประพันธ์ “ชญาเนศวรี” หรือภควัทคีตาในภาษาท้องถิ่น นักบุญตุการาม (ไวศยะ) ผู้ประพันธ์กวีนิพนธ์สำหรับขับร้อง (อภังคะ) ไว้จำนวนมาก นักบุญนามเทพ (ศูทร) และนักบุญสตรีอีกหลายท่าน เช่น ชนาพาอีผู้เป็นเพียงสาวใช้ไร้การศึกษาในบ้านนามเทพ มุกตาพาอีน้องสาวของท่านชญาเนศวร ซึ่งล้วนเป็นกวีทั้งคู่

ผมอยากจะขอยกเรื่องราวแสนประหลาดในความสัมพันธ์ของนักบุญเหล่านี้กับพระวิฐฐลาที่แสดงให้เห็นว่า การที่พระเจ้าจะมารับใช้สาวกของพระองค์เองนั้นเป็นอย่างไร

 

นักบุญชนาพาอี สาวใช้ในบ้านนักบุญนามเทพ เธอเป็นคนยากจนไร้ครอบครัวดูแล บิดาของนามเทพรับเธอมาเลี้ยงดูด้วยความสงสาร เธอจึงช่วยงานในครัวเท่าที่จะทำได้ ทั้งที่ครอบครัวของนามเทพก็เป็นคนยากจนเช่นกัน แต่ทั้งหมดมีศรัทธาในพระวิโฐพา

บางครั้งเธอก็ยุ่งเสียจนไม่สามารถสักการบูชาพระวิโฐพาได้ วันหนึ่งพระวิโฐพาได้มายังกระท่อมของเธอแล้วร้องขออาหาร เพราะพระองค์ประสงค์จะกินอาหารจากสาวกผู้ภักดีไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือพื้นๆ ก็ตาม แต่ด้วยงานที่ยุ่งมาก ชนาพาอียังเตรียมอาหารไม่เสร็จ พระวิโฐพาจึงช่วยเธอโม่แป้งด้วยหินโม่ที่หนักแสนหนัก และร้องขอให้ชนาพาอีขับร้องเพลงถึงพระองค์ไปด้วย

ปัจจุบันมีวิหารของนักบุญชนาพาอี ได้ตั้งหินโม่ที่เชื่อว่าเป็นของเดิมจากคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ไว้ให้สาธุชนได้สักการะ

ความรักที่ชนาพาอีมีต่อพระวิโฐพาปรากฏในกวีบทหนึ่งของเธอว่า

“ขอให้ข้าฯ เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏตามแต่ปรารถนาของพระองค์เถิด แต่โปรดประทานพรให้ความปรารถนาของข้าสำเร็จ นั่นคือข้าขอได้เห็นปัณฑรปุระและได้รับใช้ท่านนามเทพไปทุกภพทุกชาติ ข้าไม่เกี่ยงว่าจะเกิดเป็นนกกา เป็นหมูโสโครกหรือหมาแมว แต่ขอให้สภาพในชาตินั้นยังคงทำให้ข้าได้เห็นปัณฑรปุระและได้รับใช้นามเทพ นี่เป็นความปรารถนาของสาวใช้ของท่านนามเทพ”

 

นักบุญอีกท่าน คือนักบุญเอกนาถเป็นพราหมณ์ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม มีการศึกษาที่ดี ท่านช่วยเหลือผู้คนทุกวรรณะแม้จะต้องละเมิดกฎทางชนชั้นของพวกพราหมณ์ด้วยกัน เช่น ท่านเชิญบรรดาศูทรผู้หิวโหยมากินอาหารแทนพราหมณ์ในพิธีศราทธ์ พวกพราหมณ์ในเมืองจึงรังเกียจท่านมากและจ้องหาเรื่องตลอดเวลา

ท่านมีภารกิจมากมายในแต่ละวัน เพราะนอกจากจะดูแลครอบครัวและยังต้องดูแลผู้อื่น วันหนึ่งมีเด็กชายอายุราวสิบสองขวบเข้ามาที่บ้านชื่อกัณฑิยา กฤษณัน เด็กคนนี้บอกเพียงว่ามาจากเมืองทวารกา และขออยู่เป็นศิษย์รับใช้เอกนาถ

ตั้งแต่กฤษณันมาอยู่ในบ้าน เขาก็ช่วยงานในบ้านทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ปัดกวาดเช็ดถู ล้างถ้วยจาน เตรียมเครื่องบูชา ไปซื้อผักที่ตลาดหรือหาบน้ำมาให้ และบางครั้งก็แก้เผ็ดพวกพราหมณ์แทนเอกนาถ

กฤษณันอยู่รับใช้เอกนาถถึงสิบสองปี จนวันหนึ่งเอกนาถถึงได้รู้ว่าที่แท้เด็กชายลึกลับ ผู้ที่รับใช้เขามาเนิ่นนานนั้นเป็นพระวิโฐพาที่เขารักบูชานั่นเอง

และแล้วเด็กชายคนนั้นก็หายตัวไปเฉยๆ

 

ผมลืมเล่าไปอีกว่า วิหารของพระวิโฐพามีประเพณีที่ต่างจากที่อื่น คือต้อนรับคนทุกชนชั้นวรรณะและทุกศาสนา และยังเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถที่จะกราบที่เท้าเทวรูปพระวิโฐพาได้โดยตรง ซึ่งปกติแล้วพราหมณ์มักจะหวงห้ามไม่ให้ผู้สักการะแตะต้องเทวรูปในวิหารเพราะเกรงจะมีมลทิน

นอกจากนี้ เทวสถานพระวิโฐพายังมีการแต่งตั้งผู้หญิงและคนวรรณะต่ำมาเป็นผู้ปรนนิบัติเทวรูปหรือ “ปูชารี” ประจำเทวสถาน โดยอ้างว่าเป็นเทวสถานแรกในอินเดียที่ทำเช่นนี้ด้วย

เรื่องเกี่ยวพระวิโฐพาและบรรดานักบุญของท่านยังไม่จบ เพราะยังมีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง

ไว้ผมจะเล่าให้ทุกท่านฟัง •