วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามเศรษฐกิจ-การเงินในศตวรรษที่ 21

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (33) : สงครามเศรษฐกิจ-การเงินในศตวรรษที่ 21

สงครามเศรษฐกิจเป็นการต่อสู้ตั้งแต่การแย่งชิงทรัพยากร ไปจนถึงด้านการเงิน การลงทุน และการตลาด เป็นสิ่งที่ดำเนินมาหลายร้อยปีแล้ว ควบคู่กับสงครามเคลื่อนกำลัง

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการพัฒนาไปในทางที่สงครามการเงินและสงครามเงินตรามีความสำคัญมากขึ้น โดยมีสหรัฐแสดงบทบาทนำ

เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 21 สงครามการเงินก็มีฐานะเป็นการสงครามรูปแบบหนึ่งที่ปฏิบัติกันในหลายหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น

ชาติที่ถูกโจมตีด้วยสงครามการเงินและเงินตรา ได้แก่ รัสเซียและจีน รวมทั้งกลุ่ม องค์กรต่ำกว่ารัฐต่างๆ ได้เรียนรู้อานุภาพของสงครามใหม่นี้

ด้านหนึ่งเตรียมรับมือ อีกด้านหนึ่งรุกคืบเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเงิน เกิดเป็นสงครามซ่อนเร้น เข้าใจยาก

แต่ก่อผลรุนแรงยิ่ง สามารถนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ของโลก การสิ้นสุดของเงินตราได้

พัฒนาการของการสงครามการเงินของสหรัฐ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐได้เตรียมตัวขึ้นมาเป็นผู้จัดการโลกเสรีอย่างเต็มที่ โดยอาศัยความเข้มแข็งทางการทหาร การอุตสาหกรรมและการเงิน

ท่ามกลางความอ่อนแอของประเทศทั่วโลกจากภัยสงคราม

เข้าครอบงำองค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ทางการเมืองระหว่างประเทศผ่านองค์การสหประชาชาติ ทางทหารผ่านองค์การนาโต้ (ตั้ง 1949)

ปิดล้อมอิทธิพลสหภาพโซเวียตให้อยู่ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางเป็นสำคัญ

สหรัฐได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วในการใช้อำนาจทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และการเมืองของตน

เช่น ใช้สนับสนุนพันธมิตรทางด้านการทหารและความมั่นคงผ่านแผนมาร์แชล

ใช้ล่อรัฐบาลประเทศโลกที่สามจากอิทธิพลสหภาพโซเวียตมาสู่วงโคจรของสหรัฐ

และยังใช้เพื่อคุกคามหรือทำลายระบบปกครองอื่นโดยที่ไม่ต้องลั่นกระสุน

สหรัฐได้ใช้สงครามการเงินเป็นครั้งสำคัญช่วงแรกในสงครามคลองสุเอซ (ปลายปี 1956)

เรื่องมีอยู่ว่า สหรัฐมีนโยบายใหญ่ในตะวันออกกลางที่จะรักษาการส่งน้ำมันจากภูมิภาคนี้ไปให้แก่อังกฤษและพันธมิตร

แต่มีผู้นำใหม่ในอียิปต์ คือ กามาล นัสเซอร์ ที่มีอิทธิพลสูงมากต่อชาวอียิปต์และชาวอาหรับทั่วไป

สหรัฐต้องการให้นัสเซอร์เข้ามาอยู่ในวงโลกเสรีและต่อต้านสหภาพโซเวียต

แต่นัสเซอร์ต้องการเดินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและต่อต้านอังกฤษที่ยังคงยึดดินแดนบางส่วนของอียิปต์ไว้มากกว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-อียิปต์จึงลุ่มๆ ดอนๆ บางช่วงสนับสนุน บางช่วงกดดัน จนเกิดกรณีเงินกู้เพื่อสร้างเขื่อนอัสวานใหญ่ขึ้น

โดยช่วงหนึ่งสหรัฐรับปากจะระดมเงินกู้ให้ แต่อีกช่วงหนึ่งกดดันบอกเลิกการให้กู้อย่างกะทันหัน

นัสเซอร์โกรธเกรี้ยว ประกาศยึดกิจการคลองสุเอซเป็นของรัฐ และหันไปกู้เงินจากสหภาพโซเวียตแทน

อังกฤษตอบโต้ด้วยการสมคบคิดกับอิสราเอลและฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้าไปหวังยึดกิจการคลองสุเอซคืน

สหรัฐหวั่นเกรงว่า สงครามครั้งนี้จะบานปลาย และชาวอาหรับหันมาเข้าข้างอียิปต์ กระทบต่อนโยบายรักษาเส้นทางน้ำมันสู่พันธมิตรของตนได้ จึงเข้าขัดขวาง โดยใช้ปฏิบัติการทางการเงิน

ปฏิบัติการทางการเงินของสหรัฐเพื่อบีบให้อังกฤษยอมถอนทหารจากอียิปต์อย่างรวดเร็ว มีอยู่สามประการ ได้แก่

1) ยับยั้งไม่ให้ไอเอ็มเอฟปล่อยสินเชื่อจำนวน 561 ล้านดอลลาร์แก่อังกฤษ

2) ยับยั้งไม่ให้ธนาคารส่งออก-นำเข้าสหรัฐปล่อยสินเชื่อจำนวน 600 ล้านดอลลาร์แก่อังกฤษ

3) คุกคามว่าจะเทขายพันธบัตรของอังกฤษ ที่สหรัฐซื้อไว้จำนวนมากในการสนับสนุนอังกฤษก่อนหน้านี้

ปฏิบัติการดังกล่าวได้ผลเกินคาด อังกฤษยอมรับเป็นผู้ตามสหรัฐมาตั้งแต่นั้น (ดูบทความของ Ryan McMaken ชื่อ Financial Warfare and the Declining Dollar ใน mises.org 07.05.2017)

นับแต่ทศวรรษ 1970 มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเศรษฐกิจการเงินและเทคโนโลยี ได้แก่

ก) การแปรเศรษฐกิจให้เป็นเชิงการเงิน ภาคการเงินและระบบธนาคารขึ้นมามีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราหลักของโลกไม่ได้ผูกค่ากับทองคำอีกต่อไป ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบการเงินโลก

ข) การแพร่ไปของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันโดยสหรัฐ เปิดเสรีทางการเงินสำหรับสถาบันการเงินทั้งหลายในการประกอบการ สามารถ เคลื่อนย้ายเงินทุนไปได้ทั่วโลกในระบบโลกาภิวัตน์

ค) การพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารที่ช่วยให้สามารถโอนเงินข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ มีการสร้างเครือข่ายการสื่อสารทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกขึ้น เรียกว่าระบบสวิฟต์ ควบคุมโดยสหรัฐและตะวันตก การได้ยืนอยู่ในที่สูงเห็นการเคลื่อนไหวของเงินทั้งโลก ทำให้สหรัฐยิ่งเห็นชัดถึงอำนาจของเงินว่า ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐหรือต่ำกว่ารัฐ ล้วนดำเนินงานไปได้ก็ด้วยอาศัยการไหลเวียนของเงิน ซึ่งสามารถตรวจจับร่องรอยได้ในโลกอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะทำให้ซับซ้อนและยอกย้อนอย่างไร เพียงแต่ว่าต้องสร้างเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมขึ้น

เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ไม่เพียงเปิดโอกาสให้สหรัฐทำสงครามก่อการร้าย ส่งกองทัพยึดครองอัฟกานิสถาน และต่อมายึดครองอิรักเท่านั้น

ยังเปิดโอกาสให้สหรัฐใช้สงครามการเงินอย่างถูกต้องชอบธรรม เป็นส่วนเสริมสงครามเคลื่อนกำลังด้วย

หลังเหตุการณ์ 9/11 กระทรวงการคลังสหรัฐได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำสงครามการเงินยุคใหม่ เปิดการรณรงค์ในสามเรื่องหลักซึ่งได้กลายเป็นลักษณะทั่วไปของการสงครามการเงินสหรัฐในเวลาต่อมา ได้แก่

1) การขยายการต่อต้านการฟอกเงินระหว่างชาติของกลุ่มเป้าหมาย

2) พัฒนาเครื่องมือและข่าวกรองทางการเงินเพื่อใช้สำหรับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในความหมายกว้าง (กว่าความมั่นคงทางทหาร)

3) การสร้างยุทธศาสตร์หลากหลาย บนพื้นฐานของความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับระบบการรวมศูนย์การเงินระหว่างประเทศ และบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน ต่อประเด็นและการคุกคามทางสากลที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการออกแบบสงครามการเงินนี้ ได้แก่ นายฮวน ซาระเต เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก เขาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ชื่อ “สงครามของกระทรวงการคลัง : การเปิดยุคใหม่ของสงครามการเงิน” (Treasury”s War : The Unleashing of a New Era of Financial War เผยแพร่ครั้งแรกปี 2013)

สงครามการเงินยุคใหม่ในทัศนะของนายซาระเต ได้แก่ การใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ การกดดันทางการเงิน และพลังของตลาดเพื่อเพิ่มพลังของภาคการธนาคาร ผลประโยชน์ภาคธุรกิจเอกชน และหุ้นส่วนต่างประเทศ ในการโดดเดี่ยวกลุ่มเกเรทั้งหลาย (ได้แก่ รัฐเกเร กลุ่มก่อการร้ายและผู้ให้การสนับสนุน และนักค้ายาเสพติดและพวกฟอกเงิน) ออกจากระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศ และขจัดแหล่งทุนของกลุ่มเหล่านี้

สงครามการเงินยุคใหม่นี้ต่างกับยุคเก่า โดยยุคเก่าใช้การแซงก์ชั่นแบบเหมารวม แต่ยุคใหม่เป็นการจำกัดเป้าเฉพาะบางกลุ่ม

อนึ่ง จุดมุ่งหมายของสงครามการเงินสหรัฐมีสองประการ ได้แก่ การโดดเดี่ยวกลุ่มเกเรออกจากระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศ และการขจัดแหล่งทุนของกลุ่มเหล่านี้

สำหรับชาติที่ถูกสหรัฐทำสงครามการเงิน ตอบโต้ด้วยการมีเป้าหมายของตนเอง ตรงข้ามกับของสหรัฐ ได้แก่

ก) สร้างระบบการเงินและการค้าระหว่างประเทศของตน

ข) สร้างแหล่งทุน เช่น สถาบันเงินทุนและธนาคารเพื่อการลงทุนของตนเอง

การที่สหรัฐสามารถก่อสงครามการเงินแบบใหม่นี้ได้ เนื่องจากความเหนือกว่าทางการเงินหลายประการ ได้แก่

1) การมีกรุงนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการเงินโลก

2) การมีดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

3) ความสามารถของสหรัฐหรือสถาบันเงินหลักของสหรัฐ ในการออกกฎระเบียบหรือมาตรการที่ส่งผลกระเทือนต่อระบบการเงินโลกได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการเงินของโลก

แต่ในการทำสงครามนี้ สหรัฐเองกลายเป็นผู้สอนให้ประเทศในโลก ได้มองเห็นอำนาจทางการเงินในศตวรรษที่ 21 จนมีความสามารถที่จะท้าทายอำนาจครอบงำทางการเงินของสหรัฐและเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง การสงครามการเงิน จึงไม่ได้อยู่ที่อำนาจของสหรัฐเพียงผู้เดียว มีผู้แสดงทั้งระดับรัฐและต่ำกว่ามากหน้าหลายตาที่ต้องการแสวงอำนาจและอิทธิพลทางการเงิน คาดหมายว่าสงครามการเงินใหญ่กำลังจะมาถึง จะต้องเตรียมรับมือไว้

(ดูบทความของ Juan C. Zarate ชื่อ The Coming Financial Wars ใน ssi.armywarcollege.edu 2013)

สงครามการเงินสหรัฐ-รัสเซีย

สงครามการเงินที่สหรัฐโจมตีในตอนแรกนั้นเป็นกลุ่มก่อการร้ายและ “รัฐเกเร” ทั้งหมดที่มีขนาดเล็กกว่าสหรัฐมาก ได้แก่ กลุ่มอัลเคด้า ประเทศอิรัก อิหร่าน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ

ซึ่งดูแล้วก็ไม่ได้ผลตามที่ต้องการมากนัก เพียงแต่ก่อความยากลำบากหนักบ้าง เบาบ้างแก่กลุ่มองค์กรเหล่านี้เท่านั้น

เช่น กลุ่มอัลเคด้าทุกวันนี้ก็ยังมีเครือข่ายปฏิบัติการในหลายประเทศ อิหร่าน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ ก็ยังคงยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วยการช่วยเหลือจากรัสเซีย-จีน

และเกาหลีเหนือกลับยิ่งท้าทายต่อสหรัฐยิ่งขึ้น

FILE PHOTO: North Korean leader Kim Jong Un waves at a photo session with attendants in the fourth Active Secretaries of Primary Organization of KPA Youth in this undated photo released by North Korea’s Korean Central News Agency (KCNA) in Pyongyang September 1, 2017. KCNA via REUTERS/File Photo ATTENTION EDITORS – THIS PICTURE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. REUTERS IS UNABLE TO INDEPENDENTLY VERIFY THE AUTHENTICITY, CONTENT, LOCATION OR DATE OF THIS IMAGE. NO THIRD PARTY SALES. NOT FOR USE BY REUTERS THIRD PARTY DISTRIBUTORS. SOUTH KOREA OUT. NO COMMERCIAL OR EDITORIAL SALES IN SOUTH KOREA. THIS PICTURE IS DISTRIBUTED EXACTLY AS RECEIVED BY REUTERS, AS A SERVICE TO CLIENTS.

สำหรับอิรักเองนั้น ต้องใช้กองทัพใหญ่จำนวนนับแสนคนจึงโค่นล้มระบบซัดดัมลงได้ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถสร้างระบบปกครองที่เป็นบริวารของตนขึ้น แม้ว่าไม่ได้ผลมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไร

อย่างน้อยก็ทำให้ประเทศต่างๆ พากันเกรงขาม หรือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าถ้าหากหัวแข็งต่อสหรัฐแล้วผลจะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้ ยังทำให้กลุ่มที่เป็นอริคู่แข่งอ่อนกำลัง ยืดเวลาของการขึ้นมาท้าทายสหรัฐออกไป หรือยืดเวลาโครงการที่เห็นว่าเป็นอันตรายต่อสหรัฐ เช่น โครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน และอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดประเทศขนาดเล็กในการทำสงคราม ก็จำต้องเลือกประเทศที่ใหญ่ขึ้นที่ตั้งตัวเป็นฝ่ายค้านสหรัฐ ได้แก่ รัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก็คาดหมายว่ายิ่งจะไม่ประสบความสำเร็จหนักขึ้น และสหรัฐจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น หากยังจะทำสงครามเศรษฐกิจกับจีนต่อไปอีก

สงครามการเงินที่สหรัฐกระทำต่อรัสเซียที่เริ่มตั้งแต่ปี 2014 กล่าวอย่างย่อได้ดังนี้

ก)เป็นสงครามที่ใช้ข้ออ้างทางการเมือง นั่นคือใช้ข้ออ้างที่รัสเซียเข้าสนับสนุนกลุ่มแยกดินแดนในยูเครน และการผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย เพื่อกดดันรัสเซียเลิกให้การสนับสนุนและยอมคืนไครเมียให้แก่ประเทศยูเครน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการกดดันที่รัสเซียไม่มีวันยอม ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าสหรัฐก็จะเปิดสงครามการเงินอยู่ดี แม้รัสเซียจะไม่ผนวกดินแดนไครเมีย เป็นที่สังเกตว่าข้ออ้างนี้สหรัฐใช้มาตั้งแต่แรก ในปัจจุบัน การแซงก์ชั่นเวเนซุเอลาก็อ้างเรื่องทางการเมืองว่า ประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร ทำตัวเป็นเผด็จการ (เวเนซุเอลาตอบว่าการปฏิบัตินี้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม) และการแซงก์ชั่นบางบริษัทในจีนและรัสเซีย ก็ใช้ข้ออ้างการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เป็นต้น

ข) เป็นสงครามที่ซ่อนเร้น มองเผินๆ การแซงก์ชั่นกระทำต่อบางบริษัทหรือบางบุคคล แต่เนื้อหาเป็นการแซงก์ชั่นต่อสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมน้ำมัน ไปจนถึงอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของรัสเซีย (ดูบทความของ Frances Coppola ชื่อ U.S. Sanctions On Russia Are Financial Warfare ใน forbes.com 18.07.2014) การแซงก์ชั่นครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรง ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียตกฮวบ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่สามปี นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐจำนวนหนึ่งคาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะล้มทั้งยืนหรือล้มลุกคลุกคลานยาวนาน แต่ในปี 2017 คาดกันว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะฟื้นตัว

ค) มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อสหรัฐแซงก์ชั่นเศรษฐกิจประเทศใดก็มักไม่เลิกราง่ายๆ (กรณีคิวบาตั้งแต่ปี 1960) กระทั่งเพิ่มความรุนแรงขึ้น กรณีรัสเซียก็เช่นเดียวกัน ปลายเดือนกรกฎาคม 2017 รัฐสภาสหรัฐลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นผ่านกฎหมายให้ดำเนินการแซงก์ชั่นรัสเซียอย่างเข้มข้นและเป็นการถาวร นายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ ประกาศว่า การแซงก์ชั่นแบบนี้เป็นการทำ “สงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ” ต่อรัสเซีย “ความหวังว่าสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐจะฟื้นคืนดีกันเป็นอันสิ้นสุด” (ดูข่าวชื่อ Trump signs Russia sanction bills, Moscow called it “trade war” ใน reutors.com 02.08.2017)

ฉบับต่อไปกล่าวถึง สงครามเงินตรา สงครามเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน