ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์/AMERICAN MADE “ตัวป่วนต่อสันติภาพโลก”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

AMERICAN MADE “ตัวป่วนต่อสันติภาพโลก”

กำกับการแสดง Doug Liman

นำแสดง Tom Cruise, Sarah Wright, Domnhall Gleeson

ด้วยโทนหนังแบบสนุกสนานทีเล่นทีจริง และรัศมีดาราของ ทอม ครูส ซึ่งถ้าไม่คิดอะไรเลยก็นับเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงอย่างยิ่ง

ทว่า ผู้เขียนรู้สึกอย่างรุนแรงว่าเป็นหนังที่ชวนสลดใจเป็นที่ยิ่งกับความเป็นไปอันแทบจะเหลือเชื่อในโลกใบนี้ของเรา

โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่อวดอ้างเสมอว่าประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ถ้าใครดูเอามันส์อย่างเดียว จะต้องเอาใจช่วยพระเอกที่ไม่รู้จะสรรหาถ้อยคำใดมาบรรยายความโลภแบบสิ้นคิดขนาดนั้น โดยเป็นการเสียดสีระบบการเมืองระหว่างประเทศและองค์กรข่าวกรองที่ฉาวโฉ่ที่สุดของอเมริกา

ในลักษณะเดียวกับที่ สตีเฟน สปีลเบิร์ก เคยกำกับหนังอาชญากรบันลือโลกที่เล่นไล่จับกับตำรวจมานานหลายปีอย่างสนุกสนานด้วยรัศมีดารา ในเรื่อง Catch Me If You Can ที่มี ทอม แฮงส์ เล่นกับ เลโอนาร์โด ดิคาปริโอ ในสีสันย้อนยุคอันสดใสของช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

แต่หนังเรื่องนี้ชวนสังเวชและขยะแขยงยิ่งกว่าต่อสภาพการณ์ ความโลภ การฉกฉวยผลประโยชน์ และการบริหารนโยบายผิดพลาดในระดับสูงจนเกินจะบรรยายได้ถูก

ด้วยการตัดต่อคลิปข่าวจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์หลายตอน หนังนำเสนอเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1980 ในสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ซึ่งแอบโดนหยิกแกมหยอกแบบเจ็บๆ คันๆ ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากนักแสดงภาพยนตร์ที่เคยเล่นหนังงี่เง่ามาก่อน

ในยุคที่อเมริกาเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างยิ่ง ในช่วงที่โลกตกอยู่ใน “สงครามเย็น” ระหว่างมหาอำนาจสองขั้ว มหาอำนาจในโลกเสรีพยายามรณรงค์ต่อสู้ทุกทางที่จะขจัดระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ออกไป โดยเพ่งเล็งไปที่ประเทศโลกที่สามหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้

การแทรกซึมและบ่อนทำลายเป็นหน้าที่อันแข็งขันขององค์กรลับอย่างสำนักข่าวกรองกลางที่เรียกชื่อโดยทั่วไปด้วยอักษรย่อว่า ซีไอเอ

หนังเปิดในปี ค.ศ.1978 เมื่อ แบร์รี่ ซีล (ทอม ครูส) นักบินของสายการบิน ที.ดับเบิลยู.เอ ได้รับการทาบทามจากเจ้าหน้าที่ซีไอเอท่าทางไม่น่าไว้ใจคนหนึ่ง ชื่อ แชฟเฟอร์ (ดอมนอลล์ กลีสัน) ให้ปฏิบัติงานลับโดยจัดหาเครื่องบินเล็กแบบล้ำยุคให้บินไปมาระหว่างประเทศ เพื่อถ่ายภาพการต่อสู้และการปราบปรามพวกกบฏในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปฏิบัติการนี้เป็นเรื่องลับที่จะบอกให้ใครรู้ไม่ได้ แม้แต่ภรรยาคนสวยของเขา ลูซี่ ซีล (ซาราห์ ไรต์) และแบร์รี่ก็จัดการกับชีวิตครอบครัวตามแบบของหนุ่มอเมริกันรักเสรี และทำตัวเป็นพ่อพวงมาลัย แม้ว่าภรรยาจะห้ามปรามไม่ให้เขาทิ้งงานนักบินที่มั่นคงกว่า มาทำธุรกิจบริษัทที่ตั้งชื่อว่า เอ.ไอ.ซี. (ตัวย่ออ่านย้อนหลังของ ซี.ไอ.เอ.)

งานชิ้นแรกๆ ของ แบร์รี่ ซีล สร้างความประทับใจอย่างดีแก่หน่วยงานข่าวกรอง และทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานได้รับคำชมเชยและความดีความชอบจากเบื้องสูงมาก เพราะสามารถเสี่ยงภัยเข้าไปในฐานปฏิบัติการและถ่ายภาพการสู้รบจากเบื้องสูงได้ชัดเจน

นอกจากบินโฉบไปถ่ายภาพกิจกรรมทางทหารและการสู้รบเบื้องล่าง แบร์รี่ยังรับหน้าที่เดินเอกสารกับนักการเมืองและผู้นำทางทหารของปานามา อย่าง นายพลมานูเอล นอริเอกา ซึ่งเป็นสายส่งข้อมูลทางทหารให้แก่ซีไอเอมาเป็นเวลายาวนาน

ขณะนั้นประเทศนิการากัวกำลังสู้รบกับฝ่ายกบฏที่เรียกตัวเองว่า “คอนทรา” ซึ่งได้รับการเรียกขานในประวัติศาสตร์ว่า “นักสู้เพื่อเสรีภาพ” และ “กบฏผู้ก่อการร้าย” ขึ้นอยู่ว่าจะมองจากมุมไหน ทั้งนี้ กลุ่มคอนทราได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐให้ต่อต้านรัฐบาลทหารฝ่ายแซนดินิสตา

งานปฏิบัติราชการลับของ แบร์รี่ ซีล เป็นหนทางสร้างความร่ำรวยแก่ตัวเขาเอง ด้วยการลักลอบขนเฮโรอีนจากโคลอมเบียเข้าประเทศสหรัฐด้วยข้อมูลที่ได้จากซีไอเอเกี่ยวกับเส้นทางการบินที่ปลอดภัยจากการติดตามของหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยปราบปรามยาเสพติด

การลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาเที่ยวละหลายร้อยกิโล ทำให้เขามีเงินมีทองเหลือใช้ ขนาดยัดใส่กระเป๋าฝังไว้ใต้ดินไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยกระเป๋า ไม่นับรายจ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและกิจการฟอกเงินหน้าฉากอีกต่างหาก

ปฏิบัติการสำคัญอีกอย่างของ แบร์รี่ ซีล คือขนอาวุธจำนวนมากไปให้แก่พวกกบฏคอนทรา แถมยังลักลอบพาพวกคอนทราเข้าประเทศเพื่อให้อเมริกาฝึกการสู้รบให้

แบร์รี่ติดต่อกับเจ้าพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ของโคลอมเบีย คือ ปาโบล เอสโกบาร์ โดยที่อาวุธที่สหรัฐขนไปเพื่อสนับสนุนกลุ่มคอนทรา ถูกขายต่อให้แก่กลุ่มค้ายาเสพติดในโคลอมเบีย ซึ่งติดอาวุธสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตัวเองอีกชั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อแบร์รี่ใกล้จะถูกจับได้ในเรื่องลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ เขาก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากซีไอเอให้หลบหนีไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐอันหนาวเย็นภาคเหนือของอเมริกา ในเมืองที่ชื่อ “มีนา”

นี่เป็นการเสียดสีแบบหยอกเอินอีกอย่างของหนัง เนื่องจากคำว่า MENA เป็นคำเรียกตามอักษรย่อของภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ (Middle East and North America region)

หนังเดินเรื่องในลักษณะของวิดีโอที่ แบร์รี่ ซีล ทำขึ้นเอง ด้วยการเล่าเรื่องราวของเขาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะมาทำงานลับให้ซีไอเอและสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้แก่ตัวเอง…โดยไม่นับความเสียหายล่มจมมหาศาลแก่ประเทศและเพื่อนร่วมชาติ จากการชักศึกเข้าบ้านของตน

เทปที่เขาทำไว้นี้ลงวันที่และตั้งชื่อไว้อย่างเรียบร้อย และมีหลายสิบม้วน โดยเล่าเรื่องการเสี่ยงภัยและผจญภัยของเขาอย่างสนุกสนานเหมือนพระเอกในอินเดียนา โจนส์ก็ไม่ปาน

และแน่นอนว่า แบร์รี่ ซีล ย่อมถูกติดตามตัวโดยหน่วยงานป้องกันและปราบปรามหลายหน่วยงานของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจรัฐ สำนักงานสืบสวนกลาง (เอฟบีไอ) หน่วยงานปราบปรามยาเสพติด และกระทรวงยุติธรรม

จนเมื่อเขาจนมุมโดนจับได้ อย่างที่ดูยังไงก็ผิดเต็มประตู

และไม่น่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมาได้อีก

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า

แบร์รี่ ซีล เป็นภัยต่อหน่วยงานและบุคคลสำคัญในประเทศที่นั่งอยู่ในทำเนียบขาว จนกระทั่งมีคำสั่งสายตรงให้ปล่อยตัวเขาให้เป็นอิสระ

แต่อิสรภาพก็ไม่ได้ดำรงอยู่นาน

พูดง่ายๆ คือคนที่เลือกเดินทางสายนี้ ไม่มีใครมีตอนจบที่ดี ยิ่งกุมความลับไว้มาก ก็ยิ่งอันตรายมาก

เรื่องราวของ “สิ่งที่ผลิตในอเมริกา” ยังต่อเนื่องไปถึงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอิหร่าน-คอนทรา หรือการขายอาวุธให้แก่อิหร่านเพื่อใช้สนับสนุนพวกคอนทรา ที่เกือบจะทำให้รัฐบาลของ โรนัลด์ เรแกน พังลง

เพียงแต่มีการหักมุมตอนจบหาคนรับผิด (ชอบ) อื่นๆ ให้รับกรรมไป เช่น นายพลโอลิเวอร์ นอร์ธ เป็นต้น

อย่างที่บอกแต่ต้น คือ หนังเรื่องนี้ชวนสังเวชใจต่อความเป็นไปเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกค่ะ