วาทกรรมไบเดน จุดประเด็นร้อน ที่ยังหลอนอเมริกัน/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

วาทกรรมไบเดน จุดประเด็นร้อน

ที่ยังหลอนอเมริกัน

 

“เพื่อเห็นแก่พระเจ้า ชายผู้นี้ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ก่อนปิดฉากการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณชนในระหว่างเยือนกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน

สะท้อนท่าทีแข็งกร้าวของไบเดนที่มีต่อวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่เปิดฉากสงครามนองเลือดอย่างโหดเหี้ยมขึ้นในยูเครน

คำพูดดังกล่าวของไบเดน เป็นการด้นสด ไม่ได้มีการยกร่างคำกล่าวขึ้นมาก่อน ได้ก่อให้เกิดกระแสตีกลับและสร้างความอึดอัดไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะชาติพันธมิตรตะวันตกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เมื่อถ้อยคำนั้นถูกจับไปตีความว่าสิ่งที่ไบเดนพูดออกมานั้น กำลังสะท้อนถึงนโยบายของสหรัฐที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซีย นั่นก็คือ การกำจัดปูตินให้พ้นจากอำนาจ

ท่าทีนี้ถูกมองว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปเลวร้ายลงหนักไปมากกว่าเดิม

และสุ่มเสี่ยงที่จะขยายวงกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างที่หวั่นกลัวกันขึ้นได้

 

กระแสตีกลับที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ทีมงานระดับสูงในรัฐบาลไบเดนต้องรีบออกโรงปฏิเสธอย่างแข็งขันในทันทีว่า สิ่งที่ไบเดนกล่าวนั้น ไม่ได้หมายความถึงการจะเปลี่ยนระบอบปกครองในรัสเซีย

โดยแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ออกมาชี้แจงแก้ต่างว่าสิ่งที่ไบเดนกล่าวนั้นเพียงเพื่อจะบอกว่าปูตินไม่สามารถใช้อำนาจเหนือชาติอื่น หรือกระทำการรุกรานยูเครนหรือชาติใดได้ ส่วนการเลือกผู้นำรัสเซียนั้น ขึ้นอยู่กับชาวรัสเซียเอง

ตามมาด้วยจูเลียน สมิธ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำนาโต ที่กล่าวย้ำสำทับว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในรัสเซียแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ออกโรงยืนยันว่า ทั้งนาโตและสหรัฐอเมริกาต่างไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนระบอบปกครองในรัสเซีย หลังจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ออกมาเตือนก่อนหน้านั้นแล้วว่า การเพิ่มระดับความรุนแรงด้วยคำพูดหรือการกระทำ จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ที่รวมถึงการจะขอเปิดทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมืองมารีอูปอลของยูเครน ที่ฝรั่งเศสร่วมเป็นโต้โผจัดการด้วย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของไบเดนยังคงยืนกรานจะไม่ถอนคำพูดที่เขาพาดพิงถึงปูติน โดยยืนยันว่านั่นเป็นความคิดเห็นของตนเองที่สะท้อนมาจากความรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของปูติน แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ

 

ริชาร์ด ฮาสส์ นักการทูตอเมริกันผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาวิเทศสัมพันธ์ ออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า วาทกรรมของไบเดนได้ทำให้สถานการณ์ที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้น ที่อันตรายอยู่แล้ว ยิ่งอันตรายมากขึ้น และจะยิ่งไปเข้าทางปูตินที่ยืนยันมาตลอดในสิ่งเขาเชื่อ ซึ่งเสี่ยงต่อการขยายขอบเขตและระยะเวลาของสงคราม

ขณะเดียวกันวาทกรรมร้อนๆ ของไบเดนยังจุดประเด็นโต้เถียงถึง “กลยุทธ์เปลี่ยนระบอบปกครอง” ยุทธศาสตร์ที่เคยเป็นที่นิยมในกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ (นีโอ-คอนเซอร์เวทีฟ) ขึ้นในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่สหรัฐอเมริกาผ่านประสบการณ์ล้มเหลวที่ได้รับกลับมาจากการลงแรงไปในหลายสมรภูมิรบ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน หรือลิเบีย

ซาราห์ เครพส์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล กล่าวว่า การเปลี่ยนระบอบปกครองอาจฟังดูน่าดึงดูด เพราะเป็นการกำจัดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายที่เราไม่พึงใจ แต่ส่วนมากมักนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพเสมอ

โดยการยื่นมือเข้าไปแทรกแซงในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ เพื่อมุ่งส่งเสริมโมเดลประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ทั้งในอัฟกานิสถาน อิรัก และลิเบีย ที่เป้าหมายแรกซึ่งมุ่งล้มระบอบปกครอง ดูจะบรรลุผลโดยเร็ว

แต่ในทางกลับกัน เป้าหมายของการสร้างชาติ หรือการทำให้เป็นชาติที่มั่นคงและพันธมิตรกับตะวันตกนั้นจบลงด้วยความล้มเหลว

 

ในอิรัก กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ยังคงแสวงหาประโยชน์จากความไร้เสถียรภาพในอิรัก

ขณะที่ผ่านไป 20 ปี กลุ่มทาลิบันได้ฟื้นคืนชีพสู่อำนาจปกครองในอัฟกานิสถาน หลังจากการเร่งถอนทหารออกไปอย่างหมดท่าของสหรัฐอเมริกา

ส่วนลิเบียยังคงไม่สามารถหลุดพ้นจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายมานานนับทศวรรษหลังการล่มสลายของระบอบปกครองโมอัมมาร์ กัดดาฟี

เครพส์ชี้ว่าแม้แต่ผู้กำหนดนโยบายสายเหยี่ยว ก็ดูเหมือนจะได้เรียนรู้ผลลัพธ์จากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

การยังคงไร้เสถียรภาพความมั่นคงในลิเบีย อิรัก และอัฟกานิสถานนั้นแย่พอแล้ว

แต่ความไม่มั่นคงในประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์นับหลายพันลูกอยู่ในครอบครอง อาจเป็นหายนะ!