คุยกับทูต : ระห์หมัด บูดีมัน สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย 72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ระห์หมัด บูดีมัน

สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย

72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (จบ)

 

ไทยกับอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์มายาวนาน พระมหากษัตริย์ไทยเคยเสด็จดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันถึงสามพระองค์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสามครั้งในปี พ.ศ.2414 (1871), พ.ศ.2439 (1896) และ พ.ศ.2444 (1901)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนในปี พ.ศ.2472 (1929)

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยือน (State Visit) ในปี พ.ศ.2503 (1960) โดยได้เสด็จไปกรุงจาการ์ตา เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก จังหวัดยอกยาการ์ตา และจังหวัดบาหลี

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

 

เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย

(Bhinneka Tunggal lka)

ดินแดนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ท่ามกลางภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะนับหมื่นเกาะ แต่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยการปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จากการประนีประนอม ให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

อินโดนีเซียมีวันหยุดราชการที่เป็นวันสำคัญของศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นอิสลามอยู่ด้วย

เช่น วันวิสาขบูชาของศาสนาพุทธ วันคริสต์มาสของศาสนาคริสต์

และวันดิวาลี เทศกาลแห่งแสงสว่างของศาสนาฮินดู ฯลฯ

 

ความร่วมมือกับอาเซียนประเด็นทะเลจีนใต้

ขณะที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ปักกิ่งกลับขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวาง ทะเลจีนใต้ ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาค และหลายประเทศ ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและแนวปะการังเพื่อเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในน่านน้ำแถบนี้

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า

“อินโดนีเซียมีจุดยืนร่วมกับอาเซียนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เพื่อรักษาความสงบสุขในภูมิภาค และยินดีต่อการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามปฏิญญา (Code of Conduct : COC) ว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน-จีนในฐานะคู่เจรจา อินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความสำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ด้วยการมีความยับยั้งชั่งใจและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดความขัดแย้งอย่างสันติ”

“อาเซียนและจีนต่างมีเอกสารที่เรียกว่าปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of the Conduct of Parties in the South China Sea : DOC) แล้ว ตั้งแต่ปี 2002 โดย DOC มีเป้าหมายเพื่อการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างอาเซียนและจีน เป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ตลอดจนความร่วมมือการปฏิบัติทางทะเล”

“ในทางปฏิบัติ อ้างถึง DOC อาเซียนและจีนได้แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและให้คำมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (The United Nations Conference on the Law of the Sea : UNCLOS) ปี 1982 ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานประการหนึ่งในการบริหารเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 บรรดาผู้นำอาเซียนและจีนเห็นพ้องต้องกันอย่างมากว่า COC จะต้องได้รับการสรุปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึง 1982 UNCLOS”

“นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางทะเลระหว่างอาเซียนและจีนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคทะเลจีนใต้ เพื่อมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นและอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วจากการประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซียน-จีนว่าด้วยการสื่อสารและนำทางอย่างปลอดภัยในทะเลจีนใต้เมื่อปี 2018”

“อินโดนีเซียยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ในปี 2019 ซึ่งมุ่งพัฒนาความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในการสนับสนุนสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในทะเลจีนใต้”

“การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทูตแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเจรจาในแนวทางแรก (ระหว่างรัฐบาล) ให้เกิดความวางใจ (มาตรการสร้างความมั่นใจ) ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในภูมิภาค”

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

ความท้าทายที่นายระห์หมัด บูดีมัน กำลังเผชิญนับตั้งแต่เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

“แน่นอนที่สุด การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความท้าทายอย่างมาก ไม่เพียงแต่สำหรับผมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย”

“ผมมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สอง และไม่นานหลังจากนั้น ประเทศไทยก็ประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สาม ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการที่เข้มงวด รวมถึงการล็อกดาวน์สถานประกอบการบางแห่ง สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การชุมนุมในที่สาธารณะ และขอให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (WFH)”

“สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ทำให้เราต้องมีการปรับเปลี่ยน ใช้นโยบายการทำงานที่บ้าน 100% โดยมีการประเมินเป็นครั้งคราว และติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด”

“การปรับเปลี่ยนอีกประการหนึ่งคือ โปรแกรมที่หลากหลายของเราได้ดำเนินการแบบเสมือนจริง เช่น การพบปะกับชุมชนของเราในประเทศไทยและเมืองหลวงของเรา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนกับคู่ค้าของเราที่นี่”

“ผมเป็นประธานการประชุม UNESCAP โดยมีการจัดกิจกรรมบางอย่างบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย เช่น การส่งเสริมวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย หรือการสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ”

“เริ่มรู้สึกโล่งใจเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นมากในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งทำให้เราสามารถจัดประชุมและกิจกรรมจริงๆ โดยไม่ต้องออนไลน์ได้บ้าง”

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดโอไมครอนอย่างรวดเร็ว ทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปรับกิจกรรมของเรากันใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าความท้าทายนี้จะไม่ยุติไปในเร็ววัน แต่เราต้องสามารถอยู่กับมันได้โดยปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านสุขภาพอย่างเข้มงวด”

นายระห์หมัด บูดีมัน (HE. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในหน้าที่การงาน

“ผมมีชีวิตในฐานะนักการทูตมากว่า 30 ปี งานที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติ มีทั้งที่สถานทูตและสถานกงสุลอินโดนีเซีย ประจำกรุงเฮก เมืองเพิร์ธ กรุงเวียนนา และนครนิวยอร์ก”

“ได้พบว่าการเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ผมได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิต แตกต่างกันไปตามแบบฉบับของแต่ละประเทศ ได้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย เช่น วัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร และภูมิทัศน์”

“ผมมีโอกาสได้พบผู้คนใหม่ๆ และสร้างมิตรภาพกับคนเหล่านั้น ประสบการณ์ที่ได้รับเกินกว่าคำบรรยาย อันยากที่จะลืมเลือน และได้หล่อหลอมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้”

“มาตอนนี้ ผมก็ตั้งตารอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ในประเทศไทย เพื่อเก็บบันทึกไว้ในความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน เช่นเดียวกัน” •

 

ประวัติ

นายระห์หมัด บูดีมัน

(H.E. Mr. Rachmat Budiman)

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

เกิด : 23 ธันวาคม 1959 ที่เมือง Tasikmalaya ในจังหวัดชวาตะวันตก

สถานภาพ : สมรสกับนาง Reitanty Budiman มีธิดา 1 คน

 

ประสบการณ์การทำงาน

2020-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำราชอาณาจักรไทย

2017-2019 : ผู้ตรวจการทั่วไป กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

2012-2017 : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สถานทูต/คณะผู้แทนถาวรของอินโดนีเซียประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

2008-2012 : ผู้อำนวยการฝ่ายสนธิสัญญาและกฎหมายทางดินแดน ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ

2007-2008 : เลขานุการ อธิบดีกรมสารนิเทศและการทูตสาธารณะ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ

2007-2007 : ผู้ประสานงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะผู้แทนถาวรอินโดนีเซียประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

2004-2006 : ผู้ประสานงานฝ่ายการเมือง สถานทูต/คณะผู้แทนถาวรของอินโดนีเซีย ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

2002-2004 : รองผู้อำนวยการฝ่ายการเจรจาทางทะเล กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ

1997-2001 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล สังคม-วัฒนธรรม สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย

1995-1997 : หัวหน้าฝ่ายกฎหมายอากาศและอวกาศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ

1991-1995 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล สังคม-วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

1989-1991 : หัวหน้าฝ่ายกิจการทั่วไป ฝ่ายข้อมูล สังคม-วัฒนธรรม กรมพหุภาคี

 

การศึกษาและฝึกอบรม

1985 : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย (University of Indonesia)

1986 : การฝึกอบรมนักการทูตระดับต้น

1997 : การฝึกอบรมนักการทูตระดับกลาง

2002 : การฝึกอบรมนักการทูตอาวุโส ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรม กระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย