พรรค นตว.กำชัย เนติวิทย์ ส่งไม้ต่อ ‘มายมิ้น’ แนวร่วมต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยม เขย่าอาณาจักรสีชมพู ‘จุฬาฯ’ ต่อ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

พรรค นตว.กำชัย

เนติวิทย์ ส่งไม้ต่อ ‘มายมิ้น’

แนวร่วมต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยม

เขย่าอาณาจักรสีชมพู ‘จุฬาฯ’ ต่อ

 

ถ้าจะบอกว่าการเมืองระดับชาติกับการเมืองในมหาวิทยาลัยของไทยนั้นแยกกันไม่ออก ก็คงไม่ดูเกินเลยไปนัก

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอกย้ำข้อคิดเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มีบทบาทเป็นที่รู้จักของคอการเมืองไทยมานาน ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจากนิสิตจุฬาฯ

ต้องยอมรับว่าจุฬาฯ มีภาพลักษณ์ความเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นอนุรักษนิยม มีการสืบทอดทางประเพณี ธรรมเนียมดั้งเดิมของนิสิตหลายเรื่องมายาวนาน แม้ในปัจจุบันจะเปิดกว้างมากกว่าอดีต แต่ก็ยังมีระบบกฎเกณฑ์หลายอย่างที่สะท้อนธรรมเนียมดั้งเดิมสืบเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดตอน

แต่วันดีคืนดีนิสิตของมหาวิทยาลัยดังกล่าว กลับเลือกนักกิจกรรมการเมืองขึ้นมาเป็นผู้นำของพวกเขา คนที่เคยถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยลงโทษจากการไม่ทำตามธรรมเนียมประเพณี เพื่อไปถ่วงดุลกับผู้บริหารสถาบันการศึกษา แต่สุดท้ายเขาก็ถูกปลดลงจากตำแหน่ง

กลายเป็นนิสิตคนแรกของมหาวิทยาลัยที่เคยดำรงตำแหน่งท่านประธานสภานิสิตฯ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ และยังเคยเป็นหัวหน้าพรรคจนชนะการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ จุฬาฯ (อบจ.) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารอีก แต่ต้องมาถูกปลดด้วยข้อหาที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าไม่สมเหตุสมผล

 

หลังจากคำสั่งปลดนายเนติวิทย์ออกมาเป็นข่าวดังทั่วประเทศเพียง 2 วัน จุฬาฯ ก็จัดการเลือกตั้งซ่อมโดยทันทีในวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เนติวิทย์วิจารณ์ว่าสำนักกิจการนิสิตปลดตนเอง พอทำรัฐประหารเสร็จก็หานายกฯ คนใหม่ทันทีโดยไม่รอผลอุทธรณ์

หลังจากมีการรับสมัครรับเลือกตั้งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ คนใหม่ เพื่อมาแทนนายเนติวิทย์ ก็สร้างเสียงฮือฮาขึ้น หลังสำนักบริหารกิจการนิสิต เผยแพร่รายชื่อ 2 ผู้ที่มาสมัครรับเลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 คนล้วนเป็นทีมเนติวิทย์ทั้งคู่

เริ่มจากผู้สมัครหมายเลข 1 จิรปรียา แซ่บู่ คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เขียนลงไปในใบสมัคร วิสัยทัศน์ จากพรรคจุฬาฯ ผู้ประเสริฐ ระบุว่าจะพัฒนารากฐานจุฬาฯ ให้กลับมามั่นคง เป็นเสาหลักของแผ่นดิน ส่วนนโยบายประจำตำแหน่งนั้น ประกอบด้วย สืบสานงานราชพิธี อาทิ พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน พิธีวันปิยมหาราช รณรงค์นิสิตมีสัมมาคารวะ งดให้ของลับผู้บริหาร ส่งเสริมความสามัคคีน้ำใจน้องพี่สีชมพู กอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณจุฬาฯ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และเชิญนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาพูดต้อนรับนิสิตในงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่

นอกจากนี้ จิรปรียายังปล่อยภาพแบนเนอร์วิสัยทัศน์ของกลุ่มเหน็บแนมคณะผู้บริหารที่สั่งตัดคะแนนพฤติกรรมนายเนติวิทย์ สร้างเสียงขบขันอย่างมากในโลกออนไลน์

ขณะที่เบอร์ 2 มายมิ้น-ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ปี 4 จากพรรค ‘แนวร่วมต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยม’ (นตว.) หาเสียงด้วยการชูนโยบายต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย ด้วยการ ‘สืบสาน’ เจตนารมณ์ของการยึดมั่นในประชาธิปไตย

‘รักษา’ และ ‘ต่อยอด’ การปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาคมจุฬาฯ และดำรงตำแหน่งโดยธรรมด้วยการนำผู้บริหาร ‘คิด วิเคราะห์ แยกแยะ’ เกี่ยวกับความเป็นธรรมในจุฬาฯ

ผลการเลือกตั้งซ่อม ปรากฏว่า มายมิ้นเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 1,882 เสียง ส่วนเบอร์ 1 ได้ไป 1,265 เสียง ขณะที่งดออกเสียง 520 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 3,667 คน คิดเป็น 18.55%

หลังผลการเลือกตั้งปรากฏผู้สมัครหมายเลข 1 นางสาวจิรปรียาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอวยพรมายมิ้นผู้สมัครเบอร์ 2 ระบุว่า ขอให้พี่มายมิ้นน้อมนำคำแนะนำจากเพนกวิน และหนึ่งในนโยบาย 7 ประการของพรรคจุฬาฯ ผู้ประเสริฐไปสืบสานต่อยอดให้จงได้

“เราเชื่อว่า ณ วันนี้ ตัวตนของนิสิตนักศึกษาได้เปลี่ยนไปแล้ว เราจะไม่ใช่แค่แขนขาของผู้บริหารที่มีหน้าที่คอยทำตามคำสั่งหรือต้องยอมพินอบพิเทากันต่อไปเรื่อยๆ หลังจากวันนี้ เราควรจะร่วมกันแสดงให้ผู้บริหารเห็นว่า การใช้อำนาจมาลดทอนความเป็นการเมือง ควบคุม บังคับ ปิดหูปิดตานั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ถึงในวันข้างหน้า คุณจะหาวิธีใหม่ๆ มาควบคุม พวกเราก็จะหาวิธีต่อต้านอยู่เรื่อยไป เพราะเราคือนิสิตนักศึกษา นี่อาจเป็นจุดเริ่มเล็กๆ แต่ในอนาคตพลังนี้จะแข็งแรงกว่าเดิมแน่นอน A single spark can start a prairie fire.” จิรปรียาระบุ

สำหรับมายมิ้น ศุกรียา เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเคยได้ขึ้นปราศรัยในหลายโอกาส ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.นั้น มายมิ้นมีวีรกรรมไม่ธรรมดา

ร่วมต่อสู้ชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ รวมถึงผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างต่อเนื่อง คุ้นหู คุ้นหน้าคุ้นตาจากการชุมนุมของม็อบคนรุ่นใหม่ทั้งม็อบเล็ก ม็อบใหญ่ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

มายมิ้นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘คณะจุฬาฯ’ ซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง, แกนนำกลุ่ม ‘เสรีเทยย์พลัส’ และคณะประชาชนปลดแอก

ถือได้ว่ามีผลงานและกิจกรรมมากมายในทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนมากมาย

 

แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อมซึ่งดำรงตำแหน่งเพียงไม่นานก็จะต้องมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ คนใหม่

แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นมิติทางการเมืองบางอย่าง

เรื่องใหญ่ก็คือการไม่ยอมรับการเมืองของผู้ใหญ่

การไม่ยอมรับการใช้อำนาจแทรกแซงตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือส่วนสำคัญในการต่อสู้เชิงโครงสร้างและวิธีคิดแบบอำนาจนิยม

อย่าลืมว่าวิธีคิดแบบอำนาจนิยมคือใจกลางของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในการเมืองไทยในขณะนี้ แทรกซึมอยู่ในทุกระดับ ทุกสังคม การต่อสู้กับอำนาจนิยมกระทำผ่านการท้าทายทุกวิธีการ การเลือกตั้งก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกถึงการต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 31 มีนาคมนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ของตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ พบว่ามีผู้ประกาศชิงเก้าอี้เพียงแค่พรรคการเมืองเดียว ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเลือกตั้งนายก อบจ.จุฬาฯ

มีรายงานว่า ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ คือ สิรภพ อัตโตหิ นิสิตอักษรศาสตร์ เพียงคนเดียว คนนี้คือนิสิตชั้นปีที่ 5 คนนี้ก็เป็นเพื่อนของนายเนติวิทย์ และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญของคณะจุฬาฯ เคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ จับไมค์ปราศรัยต่อต้านการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมาอย่างโชกโชน

เมื่อเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว ก็น่าสนใจว่าทำไมนักศึกษาคณะจึงไม่ลงแข่งขันซึ่งขัดกับหลายปีที่ผ่านมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าแนวโน้มความคิดของนิสิตเหมือนใจจะคล้ายคลึงกัน คือมีแนวโน้มไปในทางถ่วงดุลกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ดังนั้น หากไม่มีอุบัติเหตุอะไร สิรภพ หรือแร็ปเปอร์ ก็จะเป็นผู้มารับไม้ต่อจากมายมิ้น ซึ่งรับไม้ต่อรายการเป็นขบถทางอุดมการณ์และวิธีคิด สืบสานมาจากเนติวิทย์ การปลดเนติวิทย์ลงจากตำแหน่ง หากมองว่าเป็นการตัดตอนนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า ก็ถือเป็นยุทธวิธีที่ผิดทันที

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโจทย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยในแง่ที่ว่านิสิตจำนวนไม่น้อยเขากำลังต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจและวิธีคิดบางอย่างของมหาวิทยาลัยที่ไม่ปรับไปตามยุคสมัยอยู่ การเลือกใช้วิธีการทางกฎหมาย การเลือกใช้วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยมีผลเพื่อปลดหรือทำให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าไม่สมน้ำสมเนื้อ ยิ่งทำให้พลังความคิดของผู้ไม่เห็นด้วยเติบโต

พลังของนิสิตนักศึกษาในยุคนี้ไม่เหมือนเดิม รูปแบบของการต่อสู้ ต่อรอง ต่อต้าน การแสดงความไม่เห็นด้วย เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โลกของการเคารพความหลากหลายทางความคิด กำลังท้าทายวิธีคิดแบบอำนาจนิยม ท้าทายความเชื่อเรื่องความถูกต้องหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยของไทยก็ไม่รอดต่อการถูกท้าทาย

และจะถูกท้าทายหนักขึ้น หากปรับตัวตามไม่ทัน