เชิญดอกไม้ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เชิญดอกไม้

 

๐ เจ้าดวงมาลา

ไปวัดด้วยข้า ไปทำบุญด้วยกัน

เด็ดเจ้าวันนี้ จะไปสู่สวรรค์

ไปทำบุญด้วยกัน เถิดเจ้าดวงมาลา ฯ

 

กาพย์สุรางคนางค์ (๒๘) บทนี้ได้มาจากปักษ์ใต้ ไม่ทราบใครแต่ง เหมือนจะเป็นของเก่า ชื่อบทว่า “เชิญดอกไม้”

งามทั้งชื่อ งามทั้งคำร้อยกรอง และกวีโวหาร ที่งามยิ่งคือ เนื้อหากินใจนัก

ขออนุญาตจาระไนใจความของกวีบทนี้ ที่ว่างามนั้นคืออะไรอยู่ตรงไหน ซึ่งที่จริงไม่ควรต้องมาจาระไนใจความของบทกวี ต้องให้บทกวีอวดตัวของมันเอง

เท่านั้นพอแล้ว

เหมือนว่ายิ่งอธิบาย นอกจากจะเหมือนไม่เคารพวิจารณญาณและรสนิยมของผู้อ่านคือผู้เสพแล้ว ก็เสมือนจะไม่เคารพในภูมิของผู้เขียนคือ ผู้สร้าง อีกด้วย

นี่คือ ภูมิกวี

 

สุรางคนางค์ เป็นชื่อกาพย์หนึ่งในสามกาพย์ มี ยานี (๑๑) ฉบัง (๑๖) และสุรางคนางค์ (๒๘) เลขในวงเล็บคือจำนวนคำแต่ละบทของกาพย์นั้นๆ เช่น สุรางคนางค์มี ๒๘ คำ คือมี เจ็ดวรรค วรรคละสี่คำ โดยอนุโลมหมายถึงอาจมีเสียงเกินสี่คำบางวรรคได้ แต่ไม่ทำให้เสียจังหวะในสุรางคนางค์ คือจังหวะสี่

ตัวอย่างคำเกินในบท “เชิญดอกไม้” นี้คือ วรรคที่ว่า “ไปทำบุญด้วยกัน” มีห้าคำ

ต้องอ่านรวบคำ “ทำบุญ” เป็นจังหวะเดียวกัน ก็จะไม่เสียจังหวะสี่คือ “ไป-ทำบุญ-ด้วย-กัน”

ข้อสังเกตกาพย์สุรางคนางค์ทางใต้นั้น มักนิยมสัมผัสซ้ำวรรค เฉพาะวรรคสามกับวรรคหก อย่างบทเชิญดอกไม้นี้ซ้ำวรรค “ไปทำบุญด้วยกัน” นั้น

บทอื่นเช่น

๐ มะพร้าวนาฬิเก

ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง

ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง

กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้มีบุญ ฯ

บทนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสถอดรหัสธรรม และสร้างสระมะพร้าวนาฬิเกไว้ที่สวนโมกข์ด้วย

ปริศนาธรรมอีกบทของชาวใต้ คือ

๐ อ้ายเตย์ อ้ายเตย์

เอาลูกนอนเปล เอาตีนคาใน

น้ำมันสองขวด ค่อยนวดค่อยไกว

ถ้าใครคิดได้ เป็นลูกอ้ายเตย์ ฯ

เชิญ “เป็นลูกอ้ายเตย์” กันได้เลยนะ

 

กลับมาบทเชิญดอกไม้ต่อ เฉพาะกาพย์สุรางคนางค์นั้นดูจะเป็นที่นิยมของชาวใต้กันมาก เหมาะเป็นเพลงชาน้อง คือเพลงกล่อมเด็กของชาวบ้านเป็นพื้น

ที่ว่างามทั้งคำร้อยกรอง เช่น ขึ้นต้นว่า “เจ้าดวงมาลา” แค่นี้ก็งามด้วยคำไพเราะ ทั้งสำเนียงเสียงคำ และจังหวะจะโคนที่ให้ลีลาของถ้อยคำแล้ว

ยังงามด้วยกวีโวหาร คือถ้อยคำที่ให้ภาพทั้งความงาม ความสำคัญของดอกไม้เป็นยิ่งนัก ด้วยเรียกดอกไม้เป็น “ดอกดวง” มาลา คือดอกไม้ ดวงมาลา ก็คือการเน้นให้เห็นความงามสดใสกระจ่างของดอกไม้มากยิ่งขึ้น

ยิ่งคำ “เจ้า” มาเรียกนำด้วย ยิ่งเห็นดอกไม้มีชีวิตเหมือนคนด้วยกัน นับเป็นการยกย่องให้เกียรติยิ่ง

“เจ้าดวงมาลา ไปวัดด้วยข้า ไปทำบุญด้วยกัน”

นี่เป็นคำเชิญ คำชวน ที่ไม่ธรรมดาเลย คือชวนไปวัด ไปทำบุญ ซึ่งนี่คือการขยายความที่เห็นดอกไม้เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนคนด้วยกัน

และนี่คือความงามของเนื้อหาที่ “กินใจ” นัก

“เด็ดเจ้าวันนี้ จะไปสู่สวรรค์”

ไม่ใช่การพลัดพรากจากชีวิต หากคือการนำชีวิตไปสู่ความสูงส่ง ที่สรรพชีวิตพึงบรรลุถึง หรือพึงมีพึงเป็น

นี่คือ “ปรารถนาดี” เยี่ยงสาธุชน ที่มีต่อสรรพสิ่ง ซึ่งสวยงามแวดล้อมพร้อมบันดาลโลกนี้ให้เป็นโลกที่ดีงาม

และเป็นสิ่งที่โลกเรายังขาดอยู่ แม้จนวันนี้

จบลงด้วยคำอ้อนวอนเชิญชวนว่า

“ไปทำบุญด้วยกัน เถิดเจ้าดวงมาลา”

นี่แหละ กินใจนักคำว่า “เถิด” นี่เอง

 

ว่ากันว่า กวีบทนี้ คนเก่าคนแก่จะเอ่ยในใจก่อนเด็ดดอกไม้ไหว้พระ

คำคล้องจองนั้นคือ คำกลอน เป็นคำสัมผัสคำ

คำคล้องใจนั้นคือ คำกวี เป็นคำสัมผัสใจ

เพราะฉะนั้น บทกวีที่ดีจึงต้องมีลักษณะ “คล้องจอง-คล้องใจ” เฉกเช่นบท “เชิญดอกไม้” นี้เป็นตัวอย่าง

ใจคนนั้นมีธรรมชาติอยู่สามอย่าง คือ รู้สึก นึก คิด

รู้สึก เป็น ปัจจุบัน

นึก เป็น อดีต

คิด เป็น อนาคต

สามอย่างนี้เป็นองค์รวมของปัญญา

บทกวีที่ดี ที่ว่า “กินใจ” จึงให้ปัญญาทั้งแก่ผู้เขียนและผู้อ่านได้อย่างเป็นองค์รวม

ดังบทเชิญดอกไม้

ความไพเราะของคำนำมาซึ่งความรู้สึก ภาพความงามของดอกไม้นำมาซึ่งความนึกหรือจินตนาการ และการชวนให้คิดถึงภาพความสูงส่งของศรัทธามนุษย์อันพึงมีพึงเป็นนั้นนำมาซึ่งความคิด

องค์รวมของปัญญาจึงรวมอยู่ในกวี “เชิญดอกไม้” บทเดียวนี้เอง

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เคยกล่าวในที่ประชุมสัมมนากวี ใจความว่า การหยิบบทกวีมาวิจารณ์นั้น เหมือนการเด็ดกลีบดอกไม้แต่ละช่อมาพินิจพิจารณาแล้วบรรจงแต่ละกลีบเข้าติดใหม่จนครบดอก

“ถึงดอกจะเหมือนเดิมทุกกลีบ แต่กลีบนั้นก็ช้ำ”

การหยิบยกบทกวี “เชิญดอกไม้” มาจาระไนครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้แต่ปลอบใจว่า “ยิ่งช้ำยิ่งหอมชื่น” อยู่ยืนนานนะ

เด็ดกลีบทุกกลีบออกจากดอกช่อ

แล้วค่อยต่อติดกลับเหมือนนับเริ่ม

โดยไม่ตัด ไม่แต่ง ไม่ต่อเติม

ถึงเหมือนเดิมทุกกลีบ…กลีบก็ช้ำ! •