อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (19)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (19)

 

ใบไม้กระดิก

เฝ้าดูมาหลายปีแล้ว

ในเปลญวนที่ศาลาหลังคาหญ้า สองตาฉันถูกสีเขียวพุ่งเข้าใส่จนท่วมท้นล้นทะลักออกมานอกเบ้า

ไม้ป่าทั้งที่ปลูกไว้และที่ขึ้นเองในหกเจ็ดปีมานี้เติบโตขึ้นมากแล้ว แม้จะยังไม่โตเต็มที่เนื่องจากพื้นที่แถวนั้นเป็นดินลูกรัง เนื้อดินไม่อุ้มน้ำ บางตอนก็เป็นหินดานก้อนใหญ่โต รากทะลุลงไปไม่ได้ บางทีก็ตายหรือไม่ก็ไม่โต ที่เหลือมาจนโตได้เท่านี้ก็คือดีมากแล้ว

เปลญวนผ้าใบหนาลายพรางผืนนี้ พาฉันเดินทางทั้งย้อนอดีตและก้าวเลยไปข้างหน้าได้มากมายมาหลายครั้งหลายหนแล้ว

วันนี้ ขณะที่กวาดตาจดจ้องอยู่กับสีเขียวรอบตัว สายตาก็สะดุดอยู่ที่ชิงชันสองต้นเล็กๆ ที่กำลังส่ายใบเล่นลม

เวลาที่ใบไม้เล็กๆ อยู่กับกิ่งก้านอ่อนๆ ท่ามกลางสายลมพัดกำลังสบาย มันจะพลิ้วใบพลิกไปพลิกมา บางทีก็ส่ายใบไหวเอนไปซ้ายทีขวาที

ลีลาของใบไม้เล่นลมนี้แตกต่างกันไปในต้นไม้แต่ละชนิด ใบไม้ใบใหญ่ดูจะส่ายใบธรรมดาๆ ใบไม้เล็กแต่อยู่กิ่งก้านใหญ่ก็ไม่ค่อยส่ายใบหรอก กิ่งก้านใหญ่ก็เคลื่อนไปดูแข็งๆ ถ้าลมแรงๆ พัดถี่ๆ ใบไม้ใหญ่น้อยที่ก้านไม่แข็งเกินไปก็จะสู้ลมสนุกสนานเป็นอันมาก

ฉันดูใบชิงชันไหวระรื่นส่ายไปมาอย่างเพลิดเพลินเจริญใจเจริญตาเป็นที่ยิ่ง ใบแคนาก็เหมือนกัน ดูทางนั้นทางนี้ทีแล้วในทันทีนั้นก็นึกถึงสิ่งที่ไม่เคยนึกถึงเลยมาหลายสิบปีแล้ว

“เธอทำอะไร” ครูคนหนึ่งถามขณะที่ฉันนั่งอยู่ในห้องเรียนที่ครูกำลังสอน แต่ตาฉันมองนิ่งออกไปนอกหน้าต่างห้องเรียน เป็นชั้นเรียนชั้นมัธยม

“แน่งน้อย เธอทำอะไร” ครูถามซ้ำเพราะฉันไม่ได้ยิน คราวนี้เสียงครูเข้มขึ้น

“เปล่าค่ะ ไม่ได้ทำอะไร”

“แล้วมองอะไร”

“อ๋อ…ดู…ใบไม้กระดิกค่ะ” สิ้นเสียงตอบ ฉันก็ได้ยินเสียงเพื่อนหัวเราะเกรียวตามมา

คุณครูไม่ได้ว่าอะไร ฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นครูคนไหน กำลังสอนชั้นอะไรแน่ แต่จำได้ว่าเป็นครูผู้หญิง แล้วก็จำไม่ได้ว่าใบไม้ที่กำลังกระดิกนั้นเป็นใบไม้อะไร

นึกขึ้นมาแล้วก็อดยิ้มไม่ได้

นี่ฉันเฝ้าดูใบไม้กระดิกมาตั้งหลายสิบปีแล้วหรือ

แล้วฉันก็กวาดตาดูสีเขียวรอบตัวอีกครั้งหนึ่ง ไม่รู้เบื่อ สามปีหลังนี้ ทุกครั้งที่มาที่นี่ ฉันจะถ่ายรูปทุกๆ อย่างซึ่งก็เคยถ่ายมาแล้วทั้งนั้น แต่ฉันต้องการภาพล่าสุด ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าการมาแต่ละครั้งอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายเสมอ ฉันต้องการภาพสุดท้ายไว้ในความทรงจำ ไว้ทบทวน ไว้รำลึกถึงคืนวันของฉันที่นี่ถ้าฉันไม่สามารถมาได้อีกแล้ว

และถึงแม้จะถ่ายที่เก่าซ้ำๆ แต่ภาพก็ไม่เคยออกมาซ้ำ มันมีการเติบโตเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ

กลับมาสู่ปัจจุบันอีกที

ภูเขาแถวนั้นเป็นภูเขาหินปูน จังหวัดนี้เคยเป็นพื้นที่สัมปทานระเบิดหินภูเขาไปใช้งานก่อสร้าง แต่ระยะหลัง เมื่ออายุสัมปทานหมดไปแล้ว ทางการไม่ต่อสัมปทานอีกเพราะมีนโยบายเปลี่ยนแปลงให้กาญจนบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งก็ได้ผลดีกับยุคสมัย

ที่นี่มีชายแดนติดต่อพม่าเป็นแนวยาวตลอดทิศตะวันตก ตั้งแต่สังขละบุรี ทองผาภูมิ ไทรโยค ลงมาถึงอำเภอเมือง ตลอดทางหลายร้อยกิโลเมตรนี้มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย

การท่องเที่ยวจึงสอดคล้องกับพื้นที่ในปัจจุบัน

ส่วนในบริเวณบ้านเรา อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่าเมื่อมาใหม่ๆ มีไม้ใหญ่เหลืออยู่ไม่กี่ต้น เพราะชาวบ้านเผาถ่านขายไปหมดแล้ว มีแต่ความเตียนโล่ง แล้งและลมร้อน กลางวันที่มีแดด อยู่ในบ้านแล้วมองออกมาไม่ได้เลย แดดมันทั้งทิ่มแทงและสาดโครมใส่ลูกตาจนมองตรงๆ ไม่ได้

แต่ฉันก็ตั้งใจจะปลูกต้นไม้ให้เต็มที่ และก็ต้องเลือกไม้ป่าที่เข้ากับพื้นที่ให้มากกว่าไม้บ้านที่คุ้นเคย

หลังจากปลูกผลไม้ไปจำนวนหนึ่ง ไม่มากนักก็เพียงพอแล้ว ต่อจากนั้นเริ่มศึกษาเรื่องไม้ป่าจากหนังสือหลายเล่มและจากผู้คนในพื้นที่จริงรอบๆ บ้าน

“การปลูกป่าที่ถูกต้องและจะได้ผลคือการไม่ปลูก”

ฉันเคยพบข้อความทำนองนี้จากนักปลูกป่าที่พยายามจะทำกิจกรรมนี้มานานแล้ว แรกได้ยินก็แปลกใจนิดๆ เขาอธิบายก็พอเข้าใจ แต่ไม่ได้ใส่ใจมากนัก

มาถึงตอนนี้จึงเข้าใจเองอย่างดีมาก

คือการปลูกป่า ต้องเข้าใจทั้งพื้นที่และพืชพันธุ์ สภาพแวดล้อม ถ้าพยายามปลูกเรื่อยเปื่อยมันเสียมากกว่าได้

ถ้าเป็นพื้นที่ซึ่งพอจะมีไม้ป่าขึ้นเองได้บ้าง เราก็อย่าเอาไม้อื่นไปยัดเยียดใส่ผืนดินที่ไม่ใช่ที่ของมันมากนัก

ส่วนที่ขึ้นเองเราอย่าไปรบกวนมัน อาจช่วยมันบ้าง ไม่นานนัก เมื่อต้นไม้ได้โตตามธรรมชาติ มันจะเป็นป่าขึ้นมาทีละน้อย

ไม้พวกที่ขึ้นเองนี้จะเป็นไม้ที่แข็งแรงทนทานดีด้วย

สำหรับบ้านเรา ฉันใช้ทั้งสองวิธี ที่นี่มีไม้ที่ขึ้นเองอยู่แล้วหลายอย่าง สะเดาป่ามีเยอะ

คุณเดชา ศิริภัทร บรมครูผู้ทุ่มเททำยากัญชาช่วยคนจนพลิกประวัติศาสตร์กัญชาไทยอีกรอบหนึ่ง ได้เคยมาเดินดูต้นไม้ในบ้านนี้ แล้วแนะนำหลายอย่าง

“สะเดาป่าต้นสูงชะลูดแบบนี้แปลว่า รากมันพุ่งตรงลงดินลึก ไม่แผ่กว้าง ไม้สะเดาที่แก่ๆ ก็สวยดี ทนทานใช้ได้ดี ชาวบ้านชอบใช้กัน แต่ถ้าอยากจะเอามันออกเสียบ้างก็ลองเลือกดู เวลาออกดอก ชิมดอกมัน ต้นไหนอร่อยเอาไว้กิน ต้นไหนไม่อร่อยก็เอาออกไป”

สะเดาป่านี้ดอกมันขมกว่าสะเดาบ้านที่คนในเมืองชอบกินกัน แต่ชาวบ้านชอบสะเดาป่าเขาไม่กินสะเดาบ้าน เขาว่ามันจืด

ยังมีไม้ใหญ่อีกหลายอย่างที่ขึ้นอยู่แล้ว มีทองกวาวสูงมากต้นหนึ่ง แรกมาเห็นโคนมันเป็นรอยไฟไหม้ดำปี๋ขึ้นมาสูงถึงเมตรกว่าๆ ลำต้นก็ดูแห้งๆ คิดว่าจะไม่รอดแต่ก็รอดอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ ช่วงหลังๆ รอยไฟไหม้ดำจางลงแล้ว แต่ใบใหม่ที่ขึ้นมาช่วงหลังๆ ก็เล็กลงไปๆ ไม่รู้จะอยู่อีกนานเท่าไร

ติดๆ กับทองกวาวริมทางขึ้นลงนี้มีต้นงิ้วดอกขาวไม่เล็กนักอยู่ต้นหนึ่ง บนภูเขาหลังบ้านก็มี ไม่เคยเห็นต้นงิ้วมานานแล้ว เมื่อเด็กๆ เวลาได้ยินผู้ใหญ่พูดว่าทำบาปกรรมตายแล้วจะต้องไปปีนต้นงิ้วในนรก นึกภาพเห็นต้นงิ้วมีหนามแหลมเปี๊ยบ แต่ไม่ใช่ หนามมันตื้นๆ ฐานกว้างๆ แต่ก็คงปีนยากอยู่พอสมควรทีเดียว

ไม้ใหญ่อีกต้นหนึ่งอยู่ริมทางขึ้นลงเยื้องกับต้นทองกวาว ตำราไม้ป่าบอกว่าชื่อต้นปอคาว ต้นสูงใหญ่ใบหนา ใบคล้ายรูปหัวใจแต่ไม่หยัก สลัดใบในหน้าแล้ง มีดอกสีส้มสวยเต็มต้นทุกปี แปลกมาก ส่วนสีส้มที่น่าจะเป็นดอกมันไม่ใช่ดอก เหมือนเป็นก้านดอก เพราะมันจะมีดอกจริงออกมาจากไส้ในเป็นกลีบสีนวลอมเขียวอ่อนอมชมพูอ่อน มีเมล็ดเกาะติดอยู่บนขอบกลีบด้านใน เมล็ดนั้นเป็นสีขาวๆ ตอนแรกและเป็นสีดำตอนแก่จัด ฉันพยายามเอาเมล็ดไปเพาะแต่ไม่ขึ้น ยังไงจะต้องทำอีกให้ได้

โมกมันก็ขึ้นเอง มีหลายต้น ดอกก็สวยใช้ได้ทีเดียว ไม่ใกล้เคียงกับโมกบ้านที่เรารู้จักเลย

แล้วก็มีมะค่าขึ้นอยู่พอสมควร ซึ่งมะค่าที่นี่ทั้งหมดเป็นมะค่าแต้ เนื้อมันเมื่อแก่แล้วจะแข็งมาก ไม่ค่อยมีลายสวยเหมือนมะค่าโมง ต้นมันใช้ทำเสาทำโครงสร้างบ้านแข็งแรงดีมาก มะค่าโมงใช้ทำเฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนมาก ทำพื้นหรือฝาบ้านก็ได้ ที่นี่ไม่มีไม้มะค่าโมงขึ้นเอง

นอกจากนี้ก็มีต้นจั่น สูงชะลูดเนื้ออ่อนใบคล้ายชิงชัน ยอป่าที่เรียกกันว่าพญายอ ใช้ทำยาสมุนไพร ชาวบ้านบอกอย่าเอาไว้ใกล้บ้าน ลูกมันแก่แล้วจะเน่าเหม็น ตกใส่เสื้อผ้าซักไม่ออกสีดำๆ มีมะกอกป่าสูงใหญ่มาก แต่กิ่งเปราะ มีต้นเสี้ยวป่าหลายตระกูล ใบรูปหัวใจ 2 ใบประกบ ไม่สูงใหญ่นักแต่พุ่มใบดกหนามากๆ มีต้นขี้หนอน ตะคร้ำ ตะคร้อ -ต้นนี้เมื่อออกดอกเป็นช่อสีขาวยาวสักเท่านิ้วมือแล้วก็กลายเป็นเหมือนลูกเงาะ แต่ขนยาวกว่ามาก ลูกเล็กกว่า กินไม่ได้

นี่อาจจะเป็นต้นที่เขาเรียกว่าเงาะป่าก็ได้

ยังมีต้นอะไรอื่นอีกมากมาย

วันหนึ่งฉันเดินขึ้นเขาลงเขาเจอต้นไม้ต้นหนึ่งใบแปลกมาก ขอบใบหยักเหมือนเป็นลายกนกลึกๆ อุตส่าห์เด็ดก้านลงมาถ่ายรูป ตรงนั้นถ่ายไม่ได้เพราะลมพัดจนไหวหมด

ต่อมาจึงค่อยๆ พบอีกเรื่อยๆ ถ่ายภาพธรรมชาติเท่าไรก็ได้สบายใจ

นี่คือต้นปอกระสา ที่เขาใช้ทำกระดาษสาและยังเห็นตำราภายหลังว่าใช้ต้นนี้ทำอะไรๆ ได้อีกหลายอย่าง

ยิ่งอยู่ ยิ่งเห็น ยิ่งรู้ และรู้จักอะไรต่ออะไร เพิ่มขึ้นอีกเยอะแยะ ยิ่งรู้มากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกว่าเราไม่รู้อะไรเลย และได้รู้ว่าในโลกนี้มีสิ่งต่างๆ ที่เราใช้ประโยชน์จากมันมากมาย

โดยเราไม่รู้จักมันเลย