เพื่อครองโลก : 4) ยุทธศาสตร์เกาะโลกไตรทวีป (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เพื่อครองโลก

: 4) ยุทธศาสตร์เกาะโลกไตรทวีป (จบ)

 

เซอร์ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ (Sir Halford Mackinder, ค.ศ.1861-1947) เป็นนักภูมิศาสตร์และนักการเมืองชาวอังกฤษผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งวิชาภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ (geopolitics & geostrategy) เขาร่วมก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการ London School of Economics ระหว่างปี ค.ศ.1903-1908 รวมทั้งได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่นั่นในปี ค.ศ.1923 เขายังได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาสามัญระหว่างปี ค.ศ.1910-1922 ด้วย

ในปี ค.ศ.1904 เซอร์แม็กคินเดอร์นำเสนอบทความวิชาการเรื่อง “The Geographical Pivot of History” (“หมุดหมายทางภูมิศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์”) (https://archive.org/stream/1904HEARTLANDTHEORYHALFORDMACKINDER/1904%20HEARTLAND%20THEORY%20HALFORD%20MACKINDER_djvu.txt) ต่อราชสมาคมภูมิศาสตร์ (Royal Geographical Society) ของอังกฤษ อันเป็นโอกาสแรกที่เขาประมวลสรุปสูตรทฤษฎีดินแดนใจกลาง (Heartland Theory) ของเขาออกมาและอาจนับเป็นวาระก่อตั้งสาขาวิชาภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมาได้เลยทีเดียว

อีก 15 ปีต่อมาในจังหวะสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เซอร์แม็กคินเดอร์ก็ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Democratic Ideals and Reality : A Study in the Politics of Reconstruction (ค.ศ.1919, อุดมคติประชาธิปไตยกับความเป็นจริง : บทศึกษาการเมืองเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ www.files.ethz.ch%2fen%2F139619%2f1942 Democratic Ideals Reality.pdf) ออกมาเพื่อนำเสนอทฤษฎีดินแดนใจกลางของเขาอีกครั้ง

สำหรับเป็นข้อถกเถียงประกอบคำเรียกร้องให้ที่ ประชุมสันติภาพกรุงปารีสคำนึงถึงเหล่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเต็มที่ในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ และเปรียบต่างความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เขาชี้แจงกับอุดมคติประชาธิปไตยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา

สาระสังเขปของทฤษฎีดินแดนใจกลาง

เซอร์ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ & แผนที่แสดงเขตพื้นที่หมุดหมาย อันเป็นที่ตั้งของอำนาจครองโลกตามทฤษฎีดินแดนใจกลาง

แม็กคินเดอร์เสนอว่าแผ่นดินพื้นผิวของโลกสามารถแบ่งออกได้เป็น :

– เกาะโลก (the World-Island) ประกอบด้วยภาคพื้นทวีปยุโรป-เอชีย-แอฟริกา หรือ “แอโฟร-ยูเรเชีย” (Afro-Eurasia) 3 ทวีปเชื่อมต่อกัน นี่เป็นดินแดนผสมซึ่งใหญ่โตที่สุด มีประชากรมากที่สุด และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาดินแดนผสมที่เป็นไปได้ทั้งหลายในโลก

– หมู่เกาะนอกชายฝั่ง (the offshore-islands) นับรวมหมู่เกาะบริเตนและญี่ปุ่นไว้ด้วย

– หมู่เกาะรอบนอก (the outlying islands) นับรวมทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้และโอเชียเนีย

ส่วน ดินแดนใจกลาง (the Heartland) นั้นตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเกาะโลก เหยียดยาวจากแม่น้ำวอลกาไปจรดแม่น้ำแยงซีเกียง และจากเทือกเขาหิมาลัยไปจรดพื้นที่อาร์กติกบริเวณขั้วโลกเหนือ (ทั้งนี้ โดยไม่นับรวมแอฟริกาเหนือ, ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง) บริเวณดินแดนใจกลางดังกล่าวเคยถูกปกครองโดยจักรวรรดิรัสเซียมาแต่ก่อนและโดยสหภาพโซเวียตในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ

ในทรรศนะของแม็กคินเดอร์ ประเทศมหาอำนาจใดได้ควบคุมเกาะโลกก็จะได้ควบคุมทรัพยากร ของโลกกว่าครึ่งไว้ด้วย ก็แลขนาดและที่ตั้งของดินแดนใจกลาง (ซึ่งก็คือพื้นที่หมุดหมายหรือ pivot area ในแผนที่ด้านบน) นั้นทำให้มันกลายเป็นกุญแจไขสู่การควบคุมเกาะโลกนั่นเอง

แต่ทำอย่างไรจะเข้ายึดกุมควบคุมดินแดนใจกลางไว้ได้อย่างมั่นคงเล่า?

แม้ว่าในทางเป็นจริงดินแดนใจกลางส่วนใหญ่จะตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซียตลอด คริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า ทว่า :

– ปกติแล้ว บรรดามหาอำนาจยุโรปตะวันตกทั้งหลายสามารถรวมกำลังกันป้องกันไม่ให้จักรวรรดิรัสเซียขยายดินแดนได้สำเร็จ

– จักรวรรดิรัสเซียเองถึงแม้จะกว้างใหญ่ไพศาล ทว่า กลับล้าหลังในทางสังคม การเมืองและเทคโนโลยี จึงด้อยกว่ามหาอำนาจยุโรปตะวันตกในแง่ “ความเป็นบุรุษชาติอาชาไนย วัสดุอุปกรณ์และองค์การจัดตั้ง”

แม็กคินเดอร์เห็นว่าที่ผ่านมา (จากอดีตกาลจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ) การที่ไม่มีชาติมหาอำนาจหนึ่งใดสามารถครอบงำดินแดนใจกลางทางการเมืองเอาไว้อย่างมีประสิทธิผล เป็นเพราะ :

– ดินแดนใจกลางถูกปกป้องคุ้มกันไว้จากมหาอำนาจทางนาวีด้วยทะเลน้ำแข็งทางเหนือและทิวเขา กับทะเลทรายทางใต้

– การรุกรานดินแดนใจกลางทางบกไม่ว่าจะจากทางตะวันออกไปตะวันตกหรือจากทางตะวันตกไปตะวันออกไม่สำเร็จเพราะขาดพาหนะขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

ทำให้มิอาจประกันการจัดส่งกำลังพลและเสบียงเข้าไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายได้

แผนที่โครงการ BRI ของจีน, อ้างจาก เจษฎาพัญ ทองศรีนุช, “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ”, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต, 2560, น.395

ทว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ สภาพการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เป็นไปได้ที่จะใช้ดินแดนใจกลางเป็นแท่นหนุนส่งไปสู่การครอบงำโลก โดยวิถีทางใดวิถีทางหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ :

1) มหาอำนาจยุโรปตะวันตกชาติหนึ่งเข้ารุกรานรัสเซียสำเร็จ (น่าจะเป็นเยอรมนีมากที่สุด) การสร้างทางรถไฟทำให้ดินแดนใจกลางเปราะบางต่อการรุกรานทางบก ในสภาพที่ภาคพื้นทวีปยูเรเชียเริ่มถูกปกคลุมด้วยเครือข่ายทางรถไฟแผ่ไพศาล ก็เป็นโอกาสอันดีเลิศที่ชาติมหาอำนาจภาคพื้นทวีปยุโรปจะแผ่ อำนาจการเมืองเข้ามาครอบคลุมเหนือยุโรปตะวันออกเพื่อใช้มันเป็นประตูทางเข้าสู่ผืนแผ่นดินยูเรเชีย ดังที่แม็กคินเดอร์สรุปว่า :

“ใครปกครองยุโรปตะวันออก ย่อมได้ยึดกุมดินแดนใจกลาง

“ใครปกครองดินแดนใจกลาง ย่อมได้ยึดกุมเกาะโลก

“ใครปกครองเกาะโลก ย่อมได้ยึดกุมโลก”

(แม็กคินเดอร์, อุดมคติประชาธิปไตยกับความเป็นจริง)

2) พันธมิตรรัสเซีย-เยอรมนี ก่อนปี ค.ศ.1917 ทั้งสองประเทศปกครองในระบอบอัตตาธิปไตย (โดยกษัตริย์ซาร์และกษัตริย์ไกเซอร์) จึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองจะถูกดึงเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกันต่อต้าน บรรดามหาอำนาจประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตก กำลังทัพบกอันน่าเกรงขามและกำลังนาวีที่กำลังเติบใหญ่ของเยอรมนีย่อมช่วยอุดจุดอ่อนของรัสเซียในพันธมิตรนี้ได้

3) จักรวรรดิจีน-ญี่ปุ่นเข้าพิชิตและยึดครองรัสเซีย ชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออกอันกว้างใหญ่ของจักรวรรดิดังกล่าวย่อมทำให้มันมีศักยภาพจะกลายเป็นมหาอำนาจสำคัญทางทะเลด้วย (ตัวแม็กคินเดอร์เองเน้นหนักไปที่ 2 วิถีทางแรกเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไปได้ในช่วงร่วมสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ)

ปรากฏว่าแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิยุทธศาสตร์ตามทฤษฎีดินแดนใจกลางของแม็กคินเดอร์ได้ส่งอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของบรรดาประเทศมหาอำนาจทั้งหลายอย่างเป็นรูปธรรม นับแต่สนธิสัญญาแวร์ซายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งมีการสถาปนารัฐกันชนเล็กๆ ขึ้นเป็นแถบกั้นระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย เพื่อกีดขวางการใช้ยุโรปตะวันออกเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เข้าสู่ดินแดนใจกลาง, มาจนถึงการวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ของอเมริกาในสมัยสงครามเย็น, รวมถึงโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative, BRI) ของจีนด้วย

ตามการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์อัลเฟรด แม็กคอย แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันในหนังสือ To Govern the Globe : World Orders and Catastrophic Change (ค.ศ.2021) จีนในสมัยประธานสีจิ้นผิงกำลังดำเนินยุทธศาสตร์เกาะโลกไตรทวีป (tricontinental world island strategy) ตามแนวทางของเซอร์ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ โดยตัดเส้นทางคมนาคม 4 เส้นจากจีนผ่านเอเชียกลางไปยุโรปตะวันตก อันผ่ากลางเขตดินแดนใจกลาง/พื้นที่หมุดหมาย เข้าเชื่อมต่อยุโรปกับเอเชียทางบกและทางทะเล

ผนวกกับการปลูกฝังผูกสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างต่อเนื่องยาวนานของจีนกับนานาชาติในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะทางตอนใต้นับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมาสมัยที่รัฐบาลเหล่านี้หลายประเทศยังเป็นขบวนการปลดปล่อยต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเดิมอยู่ จนจีนกลายเป็นชาติลงทุนหลักในทวีปแอฟริกาที่กำลังชักนำแอฟริกาเข้าสู่เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในฐานะที่ทวีปนี้เป็นที่อยู่ของมนุษยชาติถึงหนึ่งในสาม มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรับซื้อสินค้าอันใหญ่โตต่อไปข้างหน้า

มองมุมนี้ สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียและการประจันหน้าระหว่างพันธมิตรนาโต-ชาติตะวันตกกับพันธมิตรรัสเซีย-จีน ย่อมมีความหมายและผลกระทบกว้างไกลลึกซึ้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ต่อทั้งโลกทีเดียว!

(ดูเพิ่มเติมโดยพิสดารในอภิชญา รัตนะศิริสุวรรณ, “นโยบายผลประโยชน์แห่งชาติและการขยายตัวทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศรัสเซีย : กรณีศึกษาประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน”, ภาคนิพนธ์ ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)