A JOURNAL FOR JORDAN ‘เรื่องรัก-เรื่องรบ’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์
A Journal For Jordan /Image Source: Sony Pictures Entertainment

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

A JOURNAL FOR JORDAN

‘เรื่องรัก-เรื่องรบ’

 

กำกับการแสดง

Denzel Washington

นำแสดง

Denzel Washington

Michael B. Jordan

Chante Adams

Jalon Christian

 

หนังได้แรงบันดาลใจจากบันทึกรายวันของจ่าสิบเอกชาลส์ มอนโร คิง ระหว่างปฏิบัติการรบอยู่ในอิรัก ซึ่งเป็นการตอบโต้ของสหรัฐต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งที่ทำให้โลกทั้งโลกตกตะลึงตาค้าง จากการที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก ดังที่เรียกขานกันย่อๆ ว่า 9/11 (ไนน์-วัน-วัน)

โดยเล่าเรื่องแบบผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของเดนา คาเนดี บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ซึ่งเขียนในรูปของจดหมายถึงลูกชายคนเดียวชื่อ จอร์แดน

ในกรณีนี้อาจสร้างความสับสนเล็กน้อยในเรื่องชื่อ “จอร์แดน” เนื่องจากนักแสดงที่มาสวมบทบาทของจ่าสิบเอกชาลส์ คิง คือ ไมเคิล บี. จอร์แดน หนุ่มผิวดำรูปหล่อดาวรุ่งจาก Creed และ Black Panther

และยังอาจสับสนต่อไปอีกหน่อยว่าพระเอกคนนี้เป็นลูกชายของไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลชื่อก้องโลกหรือเปล่า

ขอตอบข้อกังขาข้อหลังนี้เลยว่าไม่ใช่ค่ะ

แต่ความสับสนยังคงมีต่อเนื่องไปอีกเมื่อพ่อของไมเคิล บี. จอร์แดน เองก็มีชื่อ (เกือบ) เหมือนกันเด๊ะว่า ไมเคิล เอ. จอร์แดน แต่ก็ไม่ใช่นักบาสชื่อดังคนนั้นอีกแหละ

สรุปง่ายๆ ได้เพียงว่า ไมเคิล จอร์แดน เป็นชื่อโหล สำหรับคนนับไม่ถ้วนในอเมริกา

และ “จอร์แดน” ในชื่อหนัง ก็เป็นชื่อต้นของลูกชายของหนุ่มสาวสองคนที่เป็นตัวละครหลักในหนัง

 

หนังเล่าเรื่องราวจากมุมมองของเดนา คาเนดี (ชานเต แอดัมส์) นักข่าว/นักหนังสือพิมพ์สาวไฟแรงของนิวยอร์กไทม์ส

เมื่อเปิดเรื่อง เดนาเพิ่งจะกลับไปทำงานหลังจากคลอด “จอร์แดน” ใหม่ๆ และต้องฟาดฟันหัวฟัดหัวเหวี่ยงอยู่กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานซึ่งรวมหัวกันแทรกแซงและแย่งเครดิตในงานที่เธอกำลังทำอยู่

ในฉากที่เธอยืนเถียงกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานว่าใครสมควรได้รับงานชิ้นนี้ไป เดนาก็ถูกฉีกหน้าด้วยสายตาที่เพื่อนร่วมงานจับจ้องมองไปที่คราบน้ำนมบนอกเสื้อของเธอ

ฉากนี้เปิดประเด็นอ้อมๆ ในเรื่องปัญหาของผู้หญิงทำงานที่เพิ่งคลอดและต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน เป็นประเด็นเรื่องการถูกกีดกัน (discrimination) หรือความไม่เสมอภาคแบบหนึ่งในสังคม

และหนังก็เล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งที่เดนาได้พบกับชาลส์ คิง เป็นครั้งแรก ที่บ้านของพ่อซึ่งเป็นทหารอาชีพเหมือนกัน ชาลส์มีอารมณ์ศิลปินอยู่ในตัว และสร้างสรรค์งานศิลปะที่ประณีตละเอียดอ่อนยิ่ง

ชาลส์เป็นศิลปินมือสมัครเล่นโดยใช้เวลาว่างเขียนภาพด้วยลายจุดตามแบบของศิลปิน จอร์จ เซอราต์ และยังชอบศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ของโมเนต์ ซึ่งกลายเป็นความสนใจร่วมอย่างหนึ่งที่ดึงดูดเดนาและชาลส์เข้าหากัน

เดนาเป็นฝ่ายรุกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ด้วยความเป็นหญิงมั่น เจนสังคมคล่องแคล่วและช่างเจรจาพาที ขณะที่ชาลส์เป็นฝ่ายตั้งรับ พูดน้อย และพูดเมื่อจำเป็นเท่านั้น

หนุ่มสาวคู่นี้มีนิสัยใจคอและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันคนละขั้ว อยู่ห่างกันคนละเมืองและแทบหาเวลาอยู่ร่วมกันไม่ได้ นอกจากการสื่อสารพูดคุยทางโทรศัพท์ แต่ก็ผูกสมัครรักใคร่จนถึงขั้นวางแผนแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมและกฎหมาย หลังจากที่ตั้งใจจะมีลูกด้วยกัน

เมื่อชาลส์ได้รับมอบหมายให้ไปรบที่อิรักระหว่างที่เดนาอุ้มลูกในครรภ์อยู่ เดนามอบสมุดบันทึกให้ชาลส์ โดยบอกให้เขาเขียนถึงลูกชายที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะโตขึ้นโดยกำพร้าพ่อจากผลของสงคราม

และนี่คือที่มาของชื่อหนัง ชื่อหนังสือที่เขียนโดยเดนา คาเนดี และเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของหนัง

 

เมื่อ “จอร์แดน” เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น และเริ่มมีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ขาดพ่อเป็นผู้นำ เดนาจึงได้มอบบันทึกรายวันของพ่อให้เขาอ่าน บอกว่าระหว่างประจำการอยู่ในสมรภูมิ พ่อหาเวลาว่างเขียนสิ่งที่ต้องการจะพูดกับลูกชายที่ยังไม่ได้คลอดออกมาดูโลก โดยไม่รู้ว่าเขาจะได้กลับมาเจอหน้าลูกหรือไม่

แน่นอนว่าอนาคตของทหารในสมรภูมิทุกคนย่อมแขวนอยู่บนเส้นด้าย ความไม่แน่นอนนั้นคือความแน่นอน

และบันทึกของพ่อก็กลายเป็นสายใยที่เชื่อมโยงครอบครัวนี้ไว้ด้วยกันอีกครั้ง

หนังให้เราได้รู้ถึงข้อความในบันทึกจากพ่อถึงลูกเพียงคร่าวๆ แต่ก็พอได้ความว่าชาลส์เขียนอะไรถึงลูกชายบ้าง

โดยรวมๆ ก็เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตแบบที่ลูกชายจะไม่ได้ฟังจากปากของแม่ การเป็นชายชาตรี ความฝันของพ่อที่อยากให้ลูกชายเติบโตขึ้นมาอย่างไร การให้เกียรติต่อผู้หญิง และการร้องไห้ของลูกผู้ชาย

ชาลส์บอกจอร์แดนลูกผู้ชายก็ร้องไห้โดยไม่ต้องอายใคร เขาว่า “การร้องไห้เป็นการปลดปล่อยความเจ็บปวดและความกดดันอย่างมาก การร้องไห้ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นชายชาตรีเลยนะลูก”

 

นี่เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกดีๆ แบบที่เรียกว่า feel-good movie แม้ว่าออกจะขาดความแปลกใหม่และดูเป็นสูตรสำเร็จที่คาดเดาได้ตามแบบฉบับหนังฮอลลีวู้ด แต่ก็ยังเป็นหนังที่สร้างกำลังใจให้คนดู และดูได้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ถึงกับร้องยี้

เดนเซล วอชิงตัน คงต้องนึกเสียดายว่าตัวเองสูงวัยเกินจะรับบทพระเอกในเรื่องได้แล้ว เลยผันตัวเองมานั่งในเก้าอี้ผู้กำกับฯ แทน

ไม่งั้นเราคงเห็นเขาสวมบทบาทวีรบุรุษอเมริกันคนนี้ไปแล้วล่ะ •