เมื่ออักษร A B C ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แต่มีในภาษาของเอเชีย

A B C ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ (๒)

เมื่อครั้งก่อนได้เล่าให้ฟังไปแล้วว่า บรรดาภาษาในยุโรป ๗ ภาษาที่ใช้อักษรโรมันต่างก็ออกเสียงไปตามภาษาของตน (ย้อนอ่านตอน ๑) จนอาจจะกล่าวได้ว่า อักษรโรมันหาได้มีเสียงของตนเองไม่ อักษรตัวใดจะมีเสียงใดก็แล้วแต่ผู้ที่นำไปใช้จะกำหนด

คราวนี้จะมาสำรวจภาษาในเอเชียบ้าง ภาษาในเอเชียที่ใช้อักษรโรมันมีอยู่ ๒ กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก ใช้อักษรโรมันเป็นตัวแทนของภาษา เช่นเดียวกับภาษาในยุโรป ๗ ภาษาที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

กลุ่มที่ ๒ ใช้อักษรโรมันเพื่อการสื่อสารในระดับสากล โดยที่ยังมีอักษรชุดของตนเองใช้อยู่

ภาษาในกลุ่มแรกคือ ฟิลิปปินส์ มลายู (มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน) และเวียดนาม

ภาษาในกลุ่มที่ ๒ คือ กัมพูชา เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไทย พม่า และลาว

การใช้อักษรโรมันของภาษาในกลุ่มแรกก็คล้ายๆ กับภาษาในยุโรป กล่าวคือ มีการดัดแปลงรูปตัวอักษร และเสียงบางเสียง โดยเฉพาะภาษาเวียดนามนั้นมีการเพิ่มเครื่องหมายเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์ด้วย

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ภาษาในมาเลเซียกับภาษาในอินโดนีเซียเรียกชื่อตัวอักษรต่างกัน ดังนี้

ภาษาในกลุ่มที่ ๒ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทไม่มีเสียงวรรณยุกต์กับประเภทมีเสียงวรรณยุกต์

ประเภทไม่มีเสียงวรรณยุกต์ คือ กัมพูชา เกาหลี และญี่ปุ่น

ประเภทมีเสียงวรรณยุกต์ คือ จีน ไทย พม่า และลาว

ข้อที่น่าสังเกตก็คือภาษาจีนมีเครื่องหมายแสดงเสียงวรรณยุกต์ แต่อีก ๓ ภาษาไม่มี

 

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า อักษรโรมันหาได้มีเสียงของตนเองไม่ อักษรตัวใดจะมีเสียงใดก็แล้วแต่ผู้ที่นำไปใช้จะกำหนด หากอ่านเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้เสียงของภาษานั้นๆ เช่น

Beijing ในภาษาจีน อ่านว่า เป่ยจิง ไม่ใช่ เบจิง

Phuket ในภาษาไทย อ่านว่า ภูเก็ต ไม่ใช่ ฟูเก็ต

Suu Kyi ในภาษาพม่า อ่านว่า ซูจี ไม่ใช่ ซูคยี

Pheng Xat ในภาษาลาว อ่านว่า เพง ซาด ไม่ใช่ เฟง ซาด

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เครื่องหมายแสดงเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีนอาจจะไม่ปรากฏในเอกสาร ผู้รู้ภาษาจีนเท่านั้นที่สามารถอ่านได้ว่า เป่ยจิง ส่วนอีก ๓ ภาษา คือ ไทย พม่า และ ลาว นั้น ไม่ใช้เครื่องหมายแสดงเสียงวรรณยุกต์ ผู้รู้ภาษาไทยเท่านั้น จึงจะรู้ว่า “pa pai pa” อ่านว่า “ป้า ไป ป่า”

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็น A B C ก็ควรพิจารณาเสียก่อนว่าเป็นภาษาอะไร การออกเสียงให้ถูกต้องตามภาษาจะช่วยสร้างความพอใจให้แก่ผู้ฟัง และนั่นก็คือ ประโยชน์อันสูงสุดที่จะได้จากการใช้ภาษาอันเหมาะสม