‘นิด้าโพล’ เผยปชช. 52.95% คาดโอมิครอนระบาดหนัก เหตุเชื้อรุนแรงน้อยแล้วคนประมาท

‘นิด้าโพล’ เผยปชช. 52.95% คาดสาเหตุโอมิครอนระบาดในไทย เหตุเชื้อรุนแรงน้อย ทำคนประมาท ไม่ร่วมมือป้องกัน

 

วันที่ 13 มีนาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “โอมิครอน น่ากลัวหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.54 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน ต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รองลงมา ร้อยละ 22.20 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ดูแลป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 21.82 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเเพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ง่าย

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 และร้อยละ 21.44 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนมีการดูแลและป้องกันตนเองเป็นอย่างดี ไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการ แพร่ระบาด และได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอย่างมากในเมืองไทยขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.95 ระบุว่า COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีความรุนแรงน้อย ทำให้คนประมาท/ไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกัน รองลงมา ร้อยละ 46.29 ระบุว่า เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ติดง่ายมาก ร้อยละ 15.76 ระบุว่า มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยหลบไม่ได้ ร้อยละ 13.41 ระบุว่า ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) บริหารงานผิดพลาด ร้อยละ 11.44 ระบุว่า มีการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 มากขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 9.70 ระบุว่า แรงงานต่างด้าวยังคงลักลอบเข้าเมือง ร้อยละ 9.62 ระบุว่า ประชาชน ส่วนหนึ่งไม่ยอมฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบตามจำนวนที่ภาครัฐรณรงค์ และร้อยละ 0.83 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาล ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 6 มีนาคม 2565 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.95 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 27.73 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 21.21 ระบุว่า ไม่พอใจเลย ร้อยละ 15.53 ระบุว่า พอใจมาก และร้อยละ 2.58 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ไม่ค่อยพอใจ และไม่พอใจเลย มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พอใจมาก และไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนถึงความถี่ในการได้รับการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.14 ระบุว่า นาน ๆ ตรวจครั้ง รองลงมา ร้อยละ 26.82 ระบุว่า ตรวจอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 23.79 ระบุว่า ไม่เคยตรวจเลย ร้อยละ 5.83 ระบุว่า ตรวจทุก 3 วัน ร้อยละ 1.44 ระบุว่า ตรวจทุกวัน และร้อยละ 0.98 ระบุว่า ตรวจวันเว้นวัน