ธงทอง จันทรางศุ | ประสบการณ์จาก ‘สงคราม’

ธงทอง จันทรางศุ

ทุกช่องทางข่าวสารที่อยู่ในความรับรู้ของผมช่วงเวลานี้ไม่มีอะไรตื่นเต้นและชวนให้คนติดตามมากไปกว่าคดีของคุณแตงโมตกจากเรือจมแม่น้ำเจ้าพระยา

จนบางครั้งผมก็เผลอตัวไปเหมือนกัน นั่งดูข่าวในโทรทัศน์ซึ่งรายงานติดต่อกันร่วมชั่วโมงแล้วรู้สึกอินเหมือนไปนั่งอยู่ในเรือสปีดโบ๊ตลำนั้นเลยทีเดียว

อะไรจะปานนั้นก็ไม่รู้

ขณะที่ข่าวใหญ่ของประชาคมโลก คือเรื่องรัสเซียบุกยูเครน สำหรับเมืองไทยเราถือเป็นเรื่องรองครับ

ถ้าอยากจะดูข่าวเรื่องนี้ต้องหาทางไปติดตามในช่องข่าวโทรทัศน์ของต่างประเทศ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องสอดส่องดูตามเบาะแสต่างๆ เช่น Facebook ของสถานทูตทั้งหลายที่เป็นตัวละครในข่าว

และยังดีครับที่ช่องโทรทัศน์ไทยบางช่องมีวิเคราะห์ข่าวเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ทำให้ผมพอได้รับรู้ข่าวสารเรื่องเขารบกันบ้าง

ไม่ต้องเวียนวนอยู่แถวท่าน้ำพิบูลสงครามตลอดไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้ขึ้นและความเป็นไปในวันข้างหน้าว่าสุดท้ายแล้วสงครามจะหยุดพักชั่วคราวหรือหยุดพักถาวรอย่างไร สันติภาพจะเกิดขึ้นในลักษณะใดเป็นเรื่องลึกซึ้งเกินกว่าความรู้ของผมจะมาสาธยายในที่นี้ได้

เพราะฉะนั้น จะขอนิ่งไว้ในประเด็นดังกล่าว น่าจะดีกว่าพูดอะไรที่ตัวเองไม่รู้ครับ

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนในใจเมื่อดูข่าวสงครามครั้งนี้คือความรู้สึกสลดหดหู่ การได้เห็นความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ภาพคนจำนวนแสนจำนวนล้านต้องพลัดที่นาคาที่อยู่เดินทางไปอาศัยอยู่ในแผ่นดินประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นภาพที่ใครได้เห็นแล้วก็คงรู้สึกไม่แตกต่างกัน เรียกว่าเห็นแล้วก็ซึมไปล่ะครับ

สำหรับคนไทยรุ่นราวคราวเดียวกับผม ช่วงชีวิตที่ผ่านมา ในบ้านเราไม่เคยผ่านพบกับสงครามขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน ความทรงจำของเราจึงแตกต่างกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผมที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาด้วยกันทั้งนั้น

สองสามวันก่อนผมดูข่าวโทรทัศน์ ได้เห็นบรรยากาศในกรุงเคียฟของประเทศยูเครน ได้ยินเสียงหวอครวญครางยาวนานเตือนภัยให้รู้ว่ากำลังจะมีการโจมตีทางอากาศ ขนาดเรานั่งดูข่าวอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ ยังพอนึกได้เลยครับว่าคนที่ได้ยินเสียงหวอของจริงจะหนาวหัวใจแค่ไหน

คนที่อยู่ในพื้นที่จริงคงขนหัวลุกไปตามๆ กัน

เมื่อครั้งที่แม่ผมยังมีชีวิตอยู่ แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ระหว่างเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนทั้งหลายที่อยู่ในพระนครต้องปิดเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนของแม่กลายเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารญี่ปุ่น ทำให้การเรียนการสอนต้องยกเลิกโดยปริยาย

ครูบาอาจารย์ก็ไปเปิดสอนพิเศษตามบ้านต่างๆ นักเรียนก็ขวนขวายติดตามไปเรียนหนังสือกับคุณครู ถึงการเรียนจะกระท่อนกระแท่นบ้างแต่ก็ดีกว่าหยุดเรียนอยู่กับบ้านเป็นเวลาแรมปี

เพื่อนคู่ใจของแม่และเป็นญาติสนิทด้วย ผู้ที่ผมเรียกท่านด้วยความคุ้นเคยว่า น้าโม ได้เป็นเพื่อนเรียนหนังสือของแม่ในครั้งนั้น ทั้งสองคนไปเรียนหนังสือที่วังเทวะเวสม์

แม่เล่าว่าวันหนึ่งเวลากลางวัน มีการโจมตีทางอากาศ น้าโมกับแม่หลบอยู่ในวังจนกระทั่งเครื่องบินบินผ่านพ้นไปหมดแล้ว

ระหว่างทางกลับบ้านเดินออกมาผ่านย่านเทเวศร์ ได้เห็นร่างคนเสียชีวิตและอาคารบ้านเรือนเสียหายจากการโจมตีครั้งนั้น เป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำแสนสยดสยองของแม่มาอีกยาวนาน

ฝ่ายพ่อของผมซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเหมือนกับแม่ ก็ต้องหยุดเรียนและหาที่เรียนเท่าที่จะเป็นไปได้ไม่ต่างกันกับแม่

เรื่องที่น่าตื่นเต้นระหว่างสงครามในประสบการณ์ของพ่อคือการโจมตีทางอากาศเช่นกัน เป้าหมายคราวนั้นเป็นย่านหัวลำโพง เนื่องจากบ้านของพ่อและเครือญาติทั้งหลายอยู่ที่ถนนรองเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ

บ้านหลังหนึ่งภายในบริเวณพื้นที่ใหญ่ของครอบครัวเป็นบ้านของน้าชายคนหนึ่งของพ่อ ผู้ที่พ่อเรียกขานท่านว่า “น้าหลวง” เพราะท่านรับราชการเป็นผู้พิพากษามีราชทินนามว่าหลวงธรรมนูญวุฒิกร โดนระเบิดลงเข้าจังเบอร์เลยครับ

โชคดีที่ระเบิดลงบ้านคราวนั้นไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย มีแต่เพียงบ้านพังไปทั้งหลัง

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผมจึงคุ้นเคยกับคำว่าสงครามเป็นอย่างดีและได้เห็นความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาต่อหน้าต่อตา

สำหรับคนรุ่นผม ถ้าจะพูดถึงสงครามขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและอยู่ในความทรงจำของผมย่อมไม่มีอะไรนอกจากสงครามเวียดนามและสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของลาวทั้งเราและกัมพูชาซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน

หลังจากสงครามเวียดนามจบลงอย่างเป็นทางการในระหว่างที่ผมเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย การสู้รบขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ก็ย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่เมืองเขมร

คราวนี้เป็นการสู้รบกันระหว่างเขมรสามฝ่ายโดยแต่ละฝ่ายมีผู้ถือหางหรือสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้รบกันแบบดุเดือดเลือดพล่าน

ประชาชนคนเขมรจำนวนมากต้องอพยพหนีตายข้ามพรมแดนเข้ามาตามจังหวัดชายแดนของประเทศไทย

ค่ายผู้อพยพที่เขาล้าน จังหวัดตราดก็ดี ค่ายผู้อพยพที่เขาอีด่าง จังหวัดปราจีนบุรีก็ดี เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน

ไม่น่าผิดพลาดถ้าผมจะทบทวนความจำว่าค่ายแต่ละแห่งมีคนอยู่อาศัยเป็นจำนวนนับแสน

เวลานั้นผมเรียนหนังสือจบกลับมาจากต่างประเทศและเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งเวลานี้เป็นที่รู้จักของชาวโลกในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้มีชื่อเสียงคือศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ ผู้ที่ผมเรียกท่านด้วยความคุ้นเคยว่า พี่ทิง พานิสิตในชั้นเรียนของพี่ทิงไปดูค่ายอพยพที่เขาอีด่าง

ผมหรือจะยอมพลาดโอกาสนี้

กลับมาถึงบ้านกลางดึกวันนั้นหัวหูดูไม่ได้เลยครับ หัวแดงเป็นฝรั่งเพราะโดนฝุ่นลูกรังจับบนเส้นผมทุกเส้นไม่มีเว้น

ถึงแม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะผ่านไปกว่าสี่สิบปีแล้ว แต่ความแออัดคับแคบ อากาศร้อน ผงคลี สภาพที่อยู่อาศัยที่สร้างหรือวัสดุชั่วคราวไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่หรือผ้าพลาสติกพอให้คุ้มแดดคุ้มฝนได้

และที่สำคัญคือแววตาที่ว่างเปล่าเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามสำหรับชีวิตในวันข้างหน้า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตาและยากที่จะลืมเลือน

Rescuers work next to a residential building damaged by shelling, as Russia’s attack on Ukraine continues, in Kyiv, Ukraine, in this handout picture released March 14, 2022. Press service of the State Emergency Service of Ukraine/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS – THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY.

ภาพเหล่านั้นได้รับการย้ำเตือนอีกครั้งในวันสองวันที่ผ่านมานี้าพข่าวที่เป็นภาพนิ่งก็ดี ภาพเคลื่อนไหวก็ดี ซึ่งแสดงเห็นเหตุการณ์การอพยพของผู้คนจำนวนมากที่หลบลี้หนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครนเป็นสิ่งที่ได้เห็นแล้วสะทกสะท้อนอยู่ในอกเป็นอย่างยิ่ง

การเสียชีวิตหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดร้ายแรงในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมายังเป็นเรื่องที่พอเข้าใจและยอมรับสภาพได้ง่ายกว่าภัยจากการสงครามอย่างนี้เป็นอันมาก

เนื่องจากผมไม่ใช่รัฐบาลจึงไม่ต้องระวังในการแสดงท่าทีส่วนตัวของผมว่าผมมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

ผมไม่รู้หรอกครับว่าสาเหตุรากเหง้าใครจะผิดใครจะถูกมากน้อยแค่ไหน และควรจะให้อภัยกันกี่เปอร์เซ็นต์

ผมรู้แต่เพียงว่าการเอารถถัง เครื่องบิน จรวดและระเบิดบุกเข้าไปในประเทศของใครก็แล้วแต่ที่ทำให้คนนับล้านต้องบาดเจ็บล้มตายหรือพลัดพรากจากที่อยู่ ไม่มีเหตุผลใดดีพอที่ผมจะยอมรับได้

สำหรับผมแล้วต่อให้เป็นความขัดแย้งรุนแรงแค่ไหน ไม่ว่าจะระดับระหว่างหรือภายในประเทศ การใช้ความรุนแรงเพื่อระงับความรุนแรงไม่เคยประสบความสำเร็จ เปรียบก็เหมือนการใช้น้ำมันไปดับเพลิง มีแต่จะทำให้ยับเยินไปด้วยกันทุกฝ่าย และสร้างบาดแผลที่เจ็บปวดอยู่ในหัวใจไปอีกช้านาน

ขึ้นต้นด้วยเรื่องคุณแตงโม ตรงกลางเป็นเรื่องรัสเซียบุกยูเครน ลงท้ายกลายเป็นเรื่องแถวนี้ขึ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์

วันนี้เขียนหนังสือได้เลอะเทอะจริงๆ ฮา!