‘ข่าวแตงโม’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ข่าวแตงโม’

 

ทําไมสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่จึงพากันนำเสนอแต่ “ข่าวแตงโม”?

คำตอบที่เรียบง่ายและชัดเจน ก็คือ เพราะ “ข้อมูลสถิติหลังบ้าน” ที่ประมวลจากตัวเลขการอ่าน/รับชมข่าวในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ล้วนยืนยันตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า “ผู้บริโภค” สนใจติดตามข่าวนี้มากกว่าข่าวอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

เมื่อตัวเลข “เรียลไทม์” ซึ่งแม้อาจไม่ได้เป็นการรายงานสถิติแบบสดๆ ชนิดนาทีต่อนาทีอย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยก็เป็นหมุดหมายที่ประเมินผลการทำงานของสื่อเจ้าต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าตัวเลขเรตติ้งโทรทัศน์หรือยอดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์แน่นอน ทั้งยังเป็นเครื่องมือประเมินเคพีไอของคนทำงานข่าวยุคปัจจุบัน

ระบุว่ายอดคนบริโภค “ข่าวแตงโม” นั้นมีมากมายมหาศาลเกินมาตรฐานปกติ และยอดส่วนแบ่งรายได้โฆษณาออนไลน์ ซึ่งมีที่มาจากข่าวนี้ ก็สูงลิ่วนำหน้ารายได้จากข่าวอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่น

จึงเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ที่สำนักข่าวซึ่งอยู่ได้ด้วย “ผู้บริโภค” จะหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอ “ข่าวแตงโม”

 

ประเด็นเรื่อง “ข้อมูลสถิติหลังบ้าน” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องรู้สำหรับสื่อมวลชนร่วมสมัย แต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของใครอีกหลายคน ยังนำไปสู่การเข้าใจอะไรแบบผิดฝาผิดตัวพอสมควร

เช่น มี “ผู้รู้” บางคนมักเข้าใจผิดเรื่องที่มาของ “ข่าวดราม่า” ผ่านการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว สังคมนี้มีประเด็นที่ “ดราม่า” (ซึ่งน่าจะหมายถึงสภาพความลักลั่นย้อนแย้งที่นำไปสู่ข้อถกเถียงต่างๆ) ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “คดีแตงโม” ตั้งมากมายหลายประการ แต่ทำไมสื่อจึงไม่เลือกนำเสนอ ไม่ทำสกู๊ปสัมภาษณ์พิเศษ หรือไม่ทุ่มเทเวลาให้กับ “กรณีดราม่า” เหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในสภาพการปฏิบัติงานจริงของสื่อมวลชน ณ ห้วงเวลานี้ “ความเป็นดราม่า” มิได้อ้างอิงอยู่กับ “คุณค่าเชิงนามธรรม” บางอย่าง รวมทั้งไม่ได้ถูกชี้วัด (ว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็น “ดราม่า”) จากความเห็นและการประเมินสถานการณ์ของคนทำข่าว (ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคล เช่น กองบรรณาธิการ)

ทว่า “ความเป็นดราม่า” จะถูกตัดสินด้วย “ยอดคนอ่านข่าว” หรือ “ยอดคนชมคลิปวิดีโอ” ที่ปรากฏตรง “ตารางสถิติหลังบ้าน”

เมื่อพฤติกรรมของคนอ่าน/คนดูที่สะท้อนผ่านตัวเลขดังกล่าว บ่งบอกว่า “ข่าวแตงโม” คือ “ดราม่า” ที่สาธารณชนสนใจใคร่รู้มากที่สุด ขณะที่ “เนื้อหาสาระอื่นๆ” ยังไม่ได้รับความสนใจมากพอจนยกระดับขึ้นมาเป็น “ประเด็นดราม่า”

จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาด ที่ “ดราม่า” ในกรณี “แตงโม” จะสามารถยึดกุมพื้นที่สื่อส่วนใหญ่ไว้ได้เป็นเวลาสองสัปดาห์ต่อเนื่องกัน

 

แต่ใช่ว่าสื่อทุกสำนักจะสามารถนำเสนอ “ข่าวแตงโม” ได้ในรูปแบบเดียวกัน กระทั่งไร้ซึ่งความหลากหลาย

สำหรับสำนักข่าวที่มีภาพลักษณ์เป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอข่าวตลาด-ข่าวสีสัน ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนวงกว้างอยู่เป็นทุนเดิม พวกเขาย่อมสามารถปรับเกมเข้าสู่ “โหมดแตงโม” ได้อย่างสะดวกง่ายดาย และเห็นประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลของการปรับตัวเช่นนั้นอย่างฉับพลันทันที

ในอีกทางหนึ่ง แม้ “ข่าวแตงโม” ซึ่งถูกนำเสนอโดยสำนักข่าวที่มีภาพลักษณ์ผูกติดกับข่าวฮาร์ดนิวส์หรือข่าวเชิงสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจที่เข้มข้นจริงจัง จะไม่ได้มียอดคนชม-คนอ่านมหาศาล เท่ากับ “ข่าวแตงโม” ที่ปรากฏในสื่อกลุ่มแรก

แต่ถ้าสำนักข่าวประเภทหลังเลือกจะยุ่งเกี่ยวกับข่าวนี้ให้น้อยที่สุด หรือแทบจะไม่ยอมแตะต้อง “เรื่องแตงโม” เลย วันเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็อาจคล้อยเคลื่อนไปอย่าง “สูญเปล่า”

หรือหากประเมินผลสัมฤทธิ์ของการทำงานด้วย “ตัวเลขสถิติหลังบ้าน” การเลือกทางเดินแบบนั้น ก็ย่อมจะทำให้พวกเขาถูกมอง (ผิด) เป็น “คนไม่ทำงาน” เลยด้วยซ้ำ

 

ปัญหาที่ควรถกกันมากกว่า จึงอยู่ที่ว่าสื่อประเภทต่างๆ ควรนำเสนอ “ข่าวแตงโม” อย่างไร? หรือสังคมได้เรียนรู้/ได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากข่าวนี้?

“พรรณิการ์ วานิช” ตีความไว้อย่างน่าสนใจว่า “คดีแตงโม” เรื่อยไปถึง “คดีหมอกระต่าย” และชะตากรรมของ “พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์” มือปราบคดีค้ามนุษย์ นั้นส่งสารคล้ายๆ กันว่าประชาชนไทยกำลังเสื่อมศรัทธาต่อ “กระบวนการยุติธรรม” โดยรวม

แม้พฤติกรรมร่วมของสังคมที่ถูกเรียกขานกันว่า “ศาลเตี้ย” จะไม่ใช่สิ่งถูกต้องน่าชื่นชม และวางอยู่บนอารมณ์ความรู้สึกรวมหมู่มากกว่าหลักการ-เหตุผลที่หนักแน่น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “ศาลเตี้ย” ก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากสภาวะที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อใจ “ศาลสูง” หรือความยุติธรรมภายใต้การบริหารจัดการอำนวยการของกลไกรัฐ

เมื่อคิดต่อจากพรรณิการ์ จึงย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะเกิด “ทฤษฎีสมคบคิด” ซึ่งพยายามเชื่อมโยง “กรณีแตงโม” เข้ากับผู้มีอำนาจ-ผู้มีอิทธิพล-ผู้มีตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ในสังคม

แม้นั่นจะเป็นเพียงข่าวลือหรือการมโน-เพ้อฝัน แต่ “เรื่องไม่จริง” ทำนองนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำถึงภาวะที่คนเล็กคนน้อยคนด้อยอำนาจ รู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อชนชั้นนำในประเทศแบบยกแผง

นอกจากนั้น “กรณีแตงโม” ยังเปิดโอกาสให้สังคมและสื่อได้ตั้งคำถามหรือพยายามทำความเข้าใจกับหลายๆ เรื่อง ที่เราเคยมองข้ามไป หรือเคยถูกซุกซ่อนอยู่ใต้พรม อาทิ

“ผู้จัดการดารา” คือใคร? พวกเขาทำงานกันอย่างไรบ้าง? และมีความสัมพันธ์กับ “ดารา” ลึกซึ้งเพียงใด?

“ทนายความ” ที่กลายมาเป็น “ทนายเซเล็บ” ในโซเชียลมีเดียและพื้นที่กระแสหลัก ควรมีบทบาทอย่างไรต่อสังคม? พวกเขามีส่วนในการชี้นำรูปคดีเกินไปหรือไม่? สังคมและสื่อต้องรับฟังพวกเขามากน้อยแค่ไหน?

มีอะไรไม่ชอบมาพากล? หรือมีช่องโหว่ทางกฎหมายมากมายเท่าไหร่? ที่แอบแฝงอยู่ในกิจกรรมขับเรือสำราญที่แสนหรูหราฟู่ฟ่าของเหล่าเศรษฐีคนมีเงิน

ที่สำคัญที่สุด “ดราม่าแตงโม” ยังนำพาสังคมไปตั้งคำถามกับ “หลักคุณค่าที่คล้ายจะเป็นสากล” แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เช่น สายสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ผุดผ่องระหว่างบุพการีกับบุตร หรือความรักความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว เป็นต้น

จะเห็นว่าสังคมไทยได้อะไรไปไม่น้อยจาก “ข่าวแตงโม” •