Superbugs น่ากลัวกว่า COVID?/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Superbugs

น่ากลัวกว่า COVID?

 

ขณะที่หลายชาติกำลังต่อสู้กับ COVID ระลอกใหม่ มีผลการศึกษาอันหนึ่งซึ่งน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

นั่นก็คือ เรื่องราวของ Superbugs

Superbugs หมายถึง “เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ที่เกิดจากการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” เกินความจำเป็น!

“ยาปฏิชีวนะ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยาฆ่าเชื้อ” เป็นยาที่ใช้ในการรักษา และป้องกัน “การติดเชื้อแบคทีเรีย”

โดย “ยาปฏิชีวนะ” จะออกฤทธิ์ยับยั้ง และควบคุมการเจริญเติบโตของ “แบคทีเรีย”

ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุค 1940 จนถึงปัจจุบัน มีการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” อย่างแพร่หลาย เพื่อควบคุม “แบคทีเรีย” ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ไล่ตั้งแต่ “เจ็บคอ” ไปจนถึง “กาฬโรค”

ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ ในปี ค.ศ.2013 มีผู้ติดเชื้อ Superbugs มากกว่า 2,000,000 คนต่อปี จากเชื้อโรคอันตราย 17 ชนิด และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 44,000 คนในสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อ Clostridium difficile หรือ C. diff ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ ว่าขณะที่ “ยาปฏิชีวนะ” สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ ได้ แต่ C. diff กลับสามารถเติบโตขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้!

ทําให้ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ Superbugs ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพชาวโลก ถึงขนาดมีการพูดกันว่า Superbugs อาจทำให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ถดถอยลงไปถึงหนึ่งศตวรรษ!

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายๆ คนได้พากันออกมาเตือน ว่า Superbugs อาจทำให้ไม่มียาใดที่จะสามารถรักษาเชื้อโรคบางชนิดได้อีกต่อไป!

สอดคล้องกับรองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อแบคทีเรียจาก University of Warwick ที่ระบุว่า หากโลกของเรา ไม่สามารถหาหนทางการต่อกรกับ Superbugs ได้ภายในปี ค.ศ.2050 Superbugs จะคร่าชีวิตผู้คนนับล้าน!

“นอกจากคนจะตายเป็นเบือแล้ว Superbugs ยังอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว!” รองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona กระชุ่น

 

การวินิจฉัย-จ่ายยาผิดพลาดเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิด Superbugs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “ไวรัส” แต่กลับได้รับใบสั่ง “ยาปฏิชีวนะ” มากิน รองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona กล่าว และว่า

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน กลับทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น เพราะแบคทีเรียจะพัฒนาความทนทานต่อยาปฏิชีวนะไปเรื่อยๆ”

ปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดจากการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” เกินความจำเป็นก็คือ “ยาปฏิชีวนะ” บางตัวหยุดทำงานอันเกิดจากการใช้ยามากเกินไป และใช้ที่ผิดวิธี ทำให้ยาเหล่านี้มีประสิทธิภาพลดลง รองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona สรุป

Dr. Bradley Frazee แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาล California ชี้ว่า ปกติแล้ว การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาไม่ยาก โดยการใช้ “ยาปฏิชีวนะ”

“แต่ปัจจุบัน เรามักพบหญิงสาวอายุน้อยสุขภาพดี แต่กลับติดเชื้อ จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่คลินิกไม่ได้ผล”

 

ในอดีต บรรดาแพทย์ไม่เคยวิตกเกี่ยวกับ “แบคทีเรีย” ดื้อ “ยาปฏิชีวนะ” มาก่อน แต่ในระยะหลัง มีการพบ Case ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ดื้อยามากกว่า 1,000 รายที่ โรงพยาบาล Highland เมือง Oakland รัฐ California

“ตัวอย่างเล็กๆ นี้ อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น มีส่วนกระตุ้นให้แบคทีเรียพัฒนาตัวเองจนกลายเป็น Superbugs ได้” Dr. Bradley Frazee ทิ้งท้าย

ล่าสุด วารสาร The Lancet ของ University of Washington ในนคร Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่รวบรวมจากกว่า 200 ประเทศ พบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้คนมากกว่า 1,000,000 คน เสียชีวิตจาก Superbugs

ที่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรง จนบำบัดด้วยยาฆ่าเชื้อโรคปกติทั่วไปไม่ได้ผลอีกต่อไป และจะส่งผลต่อเนื่องไปอีก 5,000,000 คน จากภาวะที่เกี่ยวข้องกับ Superbugs ดังกล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า Superbugs ได้คร่าชีวิตชาวโลก มากกว่าอัตราการเสียชีวิตจาก “เอดส์” และ “มาลาเรีย” แล้วในขณะนี้!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงานดังกล่าว ยังระบุเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ที่คิดเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคน มีความเชื่อมโยงกับ Superbugs

พร้อมเตือนว่า โลกจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจากทีมวิจัยยังขาดข้อมูลสำคัญจำเป็นในกลุ่มประเทศรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Superbugs

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศแอฟริกาด้านล่างทะเลทรายสะฮารา หรือ Sub-Saharan Africa และบรรดาชาติต่างๆ ในเอเชียใต้

 

ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ก็คือ การเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา และกระบวนการเก็บข้อมูลในกลุ่มประเทศดังกล่าว เพื่อช่วยให้เข้าใจอันตรายของ Superbugs ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งสำคัญของมนุษย์ในขณะนี้!

โดย “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกโรงมาเตือนว่า “ยาปฏิชีวนะ” 43 ชนิด ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้นใหม่ หรือผ่านการอนุมัติให้ใช้ล่าสุด ไม่มียาตัวไหนแรงพอสำหรับการรับมือ Superbugs ได้เลย!

อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อแบคทีเรียจาก University of Warwick กลับมาเล่าให้เราฟังต่อว่า ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางต่อกรกับ Superbugs

“เราเรียกว่า Bacteriophage หรือชื่อย่อคือ Phage ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโดยการใช้ไวรัสพุ่งเป้าโจมตีแบคทีเรีย โดยอาจใช้ไวรัสอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะก็ได้ เพื่อจัดการเจ้า Superbugs ให้อยู่หมัด” รองศาสตราจารย์ ดร. Antonia Sagona ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะพอเห็นหนทางการต่อสู้กับ Superbugs ทว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกก็ยังย้ำว่า วาระเร่งด่วนคือมาตรการควบคุมการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” ไม่ให้เกินความจำเป็น

ทั้งนี้ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ Superbugs พัฒนาเผ่าพันธุ์ และร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความพยายามดังกล่าว เริ่มส่งผล หากพิจารณาตัวเลขการเสียชีวิตจาก Superbugs ที่เริ่มชะลอตัว

กล่าวคือ มีรายงานจาก “ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา” หรือ CDC (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ว่า ในปี ค.ศ.2013 อัตราการเสียชีวิตโดย จาก Superbugs มีตัวเลขอยู่ที่ 44,000 คน ขณะที่ ในปี ค.ศ.2017 ชาวอเมริกันราว 36,000 คนเสียชีวิตจาก Superbugs

CDC ชี้ว่า การที่อัตราการเสียชีวิตจาก Superbugs ลดลงนั้น เป็นผลมาจากความพยายามครั้งใหญ่ของบรรดาโรงพยาบาลต่างๆ ในการควบคุมการแพร่กระจายสุดอันตรายของ Superbugs

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจาก Superbugs จะลดน้อยถอยลง แต่อัตราการติดเชื้อชนิดที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกลับเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านคน ในปี ค.ศ.2013 เป็น 2.8 ล้านคน ในปี ค.ศ.2017

ทั้งนี้ เนื่องเพราะเชื้อโรคได้พัฒนาตัวเองเพื่อก่อปัญหาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อ Superbugs ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งนอกโรงพยาบาล!

อย่างไรก็ตาม CDC ได้กล่าวชื่นชมโรงพยาบาลต่างๆ ในเรื่องการใช้ “ยาปฏิชีวนะ” อย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกผู้ป่วย Superbugs ออกจากผู้ป่วยอื่นๆ

CDC เชื่อว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทดลองในห้องปฏิบัติการของรัฐบาล จะช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุชื่อ Superbugs และหาทางรับมือกับพวกมันได้อย่างทันท่วงทีมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี Dr. Michael Craig หัวหน้าทีมวิจัย Superbugs แห่ง CDC ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้จะดูเหมือนมหันตภัยจาก Superbugs มีแนวโน้มคลี่คลายลง ทว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงแนวทางการรักษา Superbug”

ทำให้ดูเหมือนว่า หนทางการต่อกรกับ Superbugs นั้น ยังคงอีกยาวไกล!