บิ๊กสุ-บิ๊กบัง-บิ๊กตู่/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

บิ๊กสุ-บิ๊กบัง-บิ๊กตู่

 

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มักมีการย้อนทบทวนเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของบ้านเมืองเรา นั่นคือ การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ซึ่งได้รับการบันทึกเอาไว้ว่า เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 11 ในประเทศไทย ประเทศที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองบ่อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ขณะที่การรัฐประหารครั้งที่ 12 คือ 19 กันยายน 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และครั้งที่ 13 หนล่าสุด คือ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังครองอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับเหตุการณ์ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น นำโดยคณะนายทหาร จปร.รุ่น 5 ที่ครองอำนาจอย่างแผ่กว้างในกองทัพยุคนั้น ก่อการยึดอำนาจในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช. โดยให้ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำ จปร.5 แกนนำตัวจริง เป็นเลขาธิการคณะ รสช.

ล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างหรูหราและเป็นสูตรสำเร็จ นั่นคือ กล่าวหาว่าเป็นยุคโกงกินคอร์รัปชั่นร้ายแรง กินทั้งตามน้ำและทวนน้ำ เป็นรัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต

แต่เหตุที่แท้จริง มาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ มีเหตุให้เกิดความหวาดระแวงกันมากมายหลายหน เช่น เปลี่ยนพนักงานสอบสวนตำรวจชุดทำคดีลอบปลงพระชนม์ และลอบสังหารป๋าเปรม คดีที่ยืดเยื้อและอลหม่านมากที่สุดคดีหนึ่ง

โดยผู้นำกองทัพเชื่อว่า รัฐบาลต้องการจะช่วยผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ นายทหาร จปร.7 และที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก

ความขัดแย้งมาถึงจุดแตกหัก เมื่อ พล.อ.ชาติชาย ดึง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้นำกองทัพที่เป็นคู่ขัดแย้งรุนแรงกับทหาร จปร.5 ให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมข่าวสะพัดว่า พล.อ.อาทิตย์หรือบิ๊กซัน เข้ามาเพื่อภารกิจปลดผู้นำกองทัพยุคนั้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะ พล.อ.ชาติชาย พล.อ.อาทิตย์ ขึ้นเครื่องบินซี 130 ของกองทัพอากาศ ที่สนามบิน บน.6 บินไปเชียงใหม่ โดยฝ่ายผู้นำกองทัพเชื่อว่า จะไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อเสนอปลดผู้นำกองทัพ

ขณะเครื่องบินเริ่มเคลื่อนบนรันเวย์ ได้มีหน่วยคอมมานโดทหารอากาศ นำโดย ผู้การหิน น.อ.อมฤต จารยะพันธุ์ บุกขึ้นไปบนเครื่องจี้จับคณะของนายกฯ พร้อมหน่วย รปภ.ทั้งหมด เป็นการเปิดฉากการรัฐประหารที่แตกต่างจากทุกครั้ง ก่อนจะมีประกาศยึดอำนาจการปกครองโดยคณะ รสช.ในเวลาต่อมา

ถ้อยคำในการออกแถลงการณ์เหตุผลการยึดอำนาจอย่างหรูหราว่า เพื่อปราบปรามนักการเมืองคอร์รัปชั่น และความเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งก็คือคำคุ้นๆ ที่ใช้กันแทบทุกครั้งเมื่อจะชิงอำนาจมาครองเอง

แต่แท้จริงแล้ว คือ ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมานาน จนมาถึงจุดหวาดระแวงว่า ตั้งบิ๊กซันเพื่อจะมาปลดบิ๊กกองทัพในขณะนั้น!

 

ความจริงแล้ว พล.อ.สุจินดา หรือบิ๊กสุ นับเป็นผู้นำกองทัพที่มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด พูดจาให้สัมภาษณ์แสดงไหวพริบ มีลูกล่อลูกชน ไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่บ้าอำนาจ หลังการรัฐประหารก็ประกาศทันทีว่า ผู้นำทหารจะไม่เป็นนายกฯ เอง พร้อมกับตั้งรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เพื่อมาบริหารรัฐบาลชั่วคราว เตรียมร่างรัฐธรรมนูญ และจัดเลือกตั้ง

ต่อมาอีก 1 ปี มีการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยมีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมา เรียกกันว่าพรรคทหาร ซึ่งชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุด แต่หัวหน้าพรรคเจอปัญหาจนไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้

ผู้นำรัฐประหารเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อจะเข้ามายึดเก้าอี้นายกฯ เอง โดย พล.อ.สุนทรหรือบิ๊กจ๊อด ถึงกับให้สัมภาษณ์ด้วยประโยคที่สร้างความไม่พอใจจากประชาชนอย่างมากที่ว่าต้องให้สุเป็น ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้Ž

เพราะตอนนั้น พล.อ.สุจินดา เริ่มหนักใจว่าได้ประกาศต่อสาธารณะไปแล้วว่าจะไม่เป็นนายกฯ ฝ่าย พล.อ.สุนทรจึงมีท่าทีแบบไม่เกรงใจประชาชนว่า ถ้า พล.อ.สุจินดาไม่เอา ก็ให้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. เป็นแทน

สถานการณ์มาถึงจุดที่ทำให้ พล.อ.สุจินดา ตัดสินใจเป็นผู้นำรัฐบาลเอง

จึงจุดชนวนความไม่พอใจ เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ ไม่ยอมรับผู้นำรัฐประหารตระบัดสัตย์ เข้ามาเป็นนายกฯ เสียเอง

ทั้งถือว่านี่คือการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช.อย่างโจ่งแจ้ง!

ลงเอยกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงพฤษภาทมิฬ 2535 กองกำลังทหารออกปราบประชาชนด้วยกระสุนจริง เลือดนองถนน ทำให้รัฐบาลทหารต้องประกาศลาออก เหตุการณ์นองเลือดจึงยุติลง

จุดสำคัญจากเหตุการณ์ที่ผู้นำรัฐประหารเข้ามาเป็นนายกฯ เสียเอง ทำให้ประชาชนพากันเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ชัดเจนว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

รัฐธรรมนูญไทยต่อจากนั้น จึงเขียนไว้ชัดเจนว่า นายกฯ ต้องมาจากผู้เป็น ส.ส.

ไม่เท่านั้น รัฐบาลที่เข้ามารักษาการในช่วงนั้น โดยนายอานันท์ต้องเข้ามาเป็นนายกฯ รอบ 2 ได้จัดระเบียบกองทัพครั้งใหญ่ มีการย้ายแบบล้างบาง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปราบปรามพฤษภาคม ถูกเด้งพ้นตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด

รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อระบบการปราบจลาจลในประเทศไทย มอบให้ตำรวจไปจัดตั้งหน่วยนี้อย่างจริงจัง จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับหน่วยปราบจลาจลเต็มรูปแบบ พร้อมกับมีกฎหมายกำหนดว่า หากมีการชุมนุมประท้วงใหญ่ รัฐบาลต้องใช้ตำรวจปราบจลาจล ที่ไม่มีอาวุธจริงและกระสุนจริงเข้าปฏิบัติการ เพื่อไม่ให้เกิดการปราบปรามประชาชนนองเลือดอีก

จากนั้นการเมืองไทยก็พัฒนาก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเสรีมากยิ่งขึ้น การเมืองดี เศรษฐกิจก็ดี เจริญรุ่งเรืองทั่วด้าน

ก่อนจะวนกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ ด้วยเหตุการณ์ในปี 2549

 

ด้วยความหวาดระแวงของเครือข่ายอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองไทย ที่หวาดกลัวการเติบโตของนักการเมืองในยุคทักษิณ ชินวัตร จึงเกิดม็อบเสื้อเหลือง ปลุกอุดมการณ์รักชาติศาสน์กษัตริย์ เพื่อจะหยุดยั้งทักษิณให้ได้ ด้วยข้อกล่าวหาแบบสูตรสำเร็จเดิมๆ คือ คอร์รัปชั่น

ม็อบเสื้อเหลืองเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ทหารออกมาหยุดการเมืองแบบนี้

จนนำมาสู่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นำโดยบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ

แต่บิ๊กบังยังรู้ตัวอยู่บ้าง เมื่อยึดอำนาจเสร็จก็รีบถอยกลับกรมกอง ตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาบริหารบ้านเมือง และเร่งให้มีเลือกตั้งใน 1 ปี

สุดท้ายพรรคเครือข่ายทักษิณก็กลับมาชนะเลือกตั้งท่วมท้นอีก

จากรัฐประหารครั้ง 12 โดยบิ๊กบัง จึงมีครั้งที่ 13 โดยบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

โดยสูตรแบบม็อบเหลือง แต่เปลี่ยนเป็นม็อบนกหวีด ปูทางให้รถถังออกมายึดอำนาจ

การรัฐประหารครั้งล่าสุด อ้างเหตุเดิมๆ คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์คอร์รัปชั่น แต่เพิ่มเรื่องขัดแย้งระหว่างม็อบต่างสี จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง ทหารจึงต้องเข้ามาควบคุมความสงบ

แต่การรัฐประหารครั้ง 13 เหมือนจะซ้ำรอยเดิมของคณะ รสช. นั่นคือ ผู้นำรัฐประหารเข้ามาเป็นนายกฯ เสียเอง

โดยเป็นรัฐบาลทหาร 5 ปี แล้วจัดเลือกตั้ง ด้วยการสร้างกติกาที่โจ่งแจ้งยิ่งกว่าทุกยุค เพื่อให้ผู้นำรัฐบาลทหาร เป็นนายกฯ ได้ต่อไป

เข้าสูตรสืบทอดอำนาจ คล้ายกับยุค รสช.

พร้อมกับพลิกการเมืองให้ย้อนยุคหลายด้าน เช่น รัฐธรรมนูญ ถอยกลับไปสู่ยุคที่ไม่กำหนดว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น พร้อมกับให้อำนาจ 250 ส.ว.อยู่เหนือเสียง ส.ส.และเสียงประชาชนในการตั้งนายกฯ

รวมทั้งมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐมารองรับ ทำให้ต้องนึกถึงพรรคสามัคคีธรรม เมื่อปี 2535

ความจริงบ้านเมืองเรามีบทเรียนให้เห็นมาแล้ว

น่าจะเรียนรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และจุดจบอันไม่สวยของคณะรัฐประหารเป็นเช่นไร!?