2 พ.ร.ป. ฉบับ ‘ครม.’ สายแข็ง จับสัญญาณบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคใหญ่ส่อไม่ ‘หวานคอ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

2 พ.ร.ป. ฉบับ ‘ครม.’ สายแข็ง

จับสัญญาณบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

พรรคใหญ่ส่อไม่ ‘หวานคอ’

 

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

มีสาระสำคัญคือ 1.การแบ่ง ส.ส. 500 คน ออกเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

2.ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ทำให้ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวม 10 ร่าง แบ่งเป็น

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 4 ฉบับ มาจาก 1.คณะรัฐมนตรี (ครม.), 2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ, 3.นายวิเชียร ชวลิต กับคณะ และ 4.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับคณะ

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 6 ฉบับ มาจาก 1.ครม., 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับคณะ, 3.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ, 4.นายวิเชียร ชวลิต กับคณะ, 5.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับคณะ และ 6.นายอนันต์ ผลอำนวย กับคณะ

แต่ละร่างต่างมีจุดเด่นและประเด็นหลักการที่แตกต่างกันในบางจุด

 

สําหรับพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สาระสำคัญคือ ยกเลิกบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองได้, ยกเลิกจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถได้มาซึ่งสมาชิกพรรคที่มาจากการดำเนินการของพรรคตามแนวทางอุดมการณ์ และนโยบายของพรรคตามที่กำหนดในข้อบังคับ และการยึดดาบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองเกิดง่ายเติบโตโดยประชาชน และสิ้นสุดโดยประชาชน ไม่ใช่โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คน

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สาระสำคัญคือ หมายเลขผู้สมัครแบบแบ่งเขตและพรรคเป็นหมายเลขเดียวกัน กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

กำหนดให้ประกาศผลคะแนนทั้งระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อโดยเผยแพร่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

 

สําหรับพรรคเพื่อไทย แตกต่างเป็นจุดสนใจในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองด้วยข้อหาควบคุมและครอบงำพรรคการเมือง ในมาตรา 28 และมาตรา 29 ที่พรรคเพื่อไทยมองว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่เขียนกว้างเปิดทางให้ตีความกำกวม ทำให้หลายพรรคการเมืองถูกยุบทั้งที่การให้คำแนะนำของบุคคลภายนอกเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองนั้น

โดยคีย์เวิร์ดคำว่า “ครอบงำพรรค” เป็นคำที่ใช้นำมาแซะพรรคเพื่อไทยอยู่เนืองๆ รับรู้ว่ามี “คนแดนไกล” คอยควบคุมชี้ขาด เคาะเลือกบุคคลสำคัญ หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ของพรรค ใครจะขออนุญาตอะไรก็ต้องนั่งเครื่องบินไปถามว่าอันนี้ได้หรือไม่ได้ รวมทั้งมีช่องทางการเชื่อมโยงผ่านกลุ่มกิจกรรมที่แตกหน่อ โดยเฉพาะกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ที่มีพระเอกคือ โทนี่ วู้ดซัม หรือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมวงสนทนา จากนั้นไอเดียคำแนะนำต่างๆ จะถูกตีแผ่นำเสนอ และหลายครั้งพรรคเพื่อไทยนำมาปฏิบัติ หรือนำมาใช้เป็นกรอบนโยบายของพรรค

นพ.ชลน่านผู้เสนอร่างขยายความอีกแง่มุมว่า “โดยเขียนให้ชัดขึ้นเพื่อป้องกันการตีความ เช่น ถ้ามีนักวิชาการคนหนึ่งที่เชิญมา แล้วชี้นำเราว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ หากเรานำไปพิจารณาประกอบจัดทำเป็นนโยบาย บุคคลเหล่านี้หากถูกนำไปตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกและถูกชี้นำ โดยเราขาดอิสรภาพก็ถูกยุบพรรคทันที ซึ่งไม่เป็นธรรมกับการพัฒนาด้านวิชาการ การเมืองและพรรคการเมืองจะถูกกลั่นแกล้งได้ ดังนั้น ต้องการแก้ปัญหาไม่อยากให้พรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง”

พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย 2 พรรคใหญ่จากฟากฝ่ายค้าน มีแววว่าจะเห็นพ้องต้องกัน ตามที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า

“ร่างกฎหมายของพรรคเพื่อ และพรรคก้าวไกลรวมทั้ง 4 ร่าง มีลักษณะการเขียนหลักการที่กว้างและในรายละเอียดบางส่วนมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน จึงจะโหวตรับทั้ง 4 ร่างไปพร้อมกัน และอยากให้ทุกร่างได้ถูกนำเสนอหรือทำความเข้าใจในเชิงเนื้อหา ไม่ใช่มองว่าร่างนั้นๆ มาจากพรรคการเมืองใดเพียงอย่างเดียว”

 

ขณะที่ฝั่ง ส.ว.สายฮาร์ดคอร์อย่าง “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” และ “เสรี สุวรรณภานนท์” ต่างออกตัวแบบไม่กลัวทัวร์ลงว่า จะยกมือผ่านร่างของ ครม.เท่านั้น เพราะการเขียนมีความครอบคลุม และเป็นกลางมากที่สุด

แต่ร่างที่เสนอโดย ส.ส.ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง

โดยมอง ส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเพียงคนเห็นแก่ตัวที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และพรรคพวก โดยไม่คิดจะย้อนกลับมาดูตัวเองที่มีที่มาจากกบฏยึดอำนาจที่ชื่อว่า คสช.

ตัดภาพมาที่ฝั่งรัฐบาลมีการหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพักการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พูดคุยถึงการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ โดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งจากพรรคภูมิใจไทยได้เสนอไอเดียว่า ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนเดิมนั้น ถือเป็นนัยยะที่น่าสงสัย และน่าตั้งข้อสังเกตมาก เพราะเพิ่งจะแก้รัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบอยู่หยกๆ

โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยจะเสนอในแนวทางนี้ เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ต้องการระบบคู่ขนานที่ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบอยู่แล้วตั้งแต่แรก

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคใหญ่ และแข็งแรงเหมือนเดิม ที่จะได้เปรียบจากระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบอีกต่อไป แต่เป็นพรรคเศรษฐกิจไทยหรือพรรคการเมืองอื่นที่เริ่มทยอยจัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบที่สุด

ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็คงกลัว และต้องการเอาใจพรรคภูมิใจไทย ที่มีเสียง ส.ส.อยู่ 62 เสียง จึงต้องการเสียงมาหนุนกฎหมายและกรณีอื่นๆ ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถคุม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คีย์แมนของพรรคเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่

“ดังนั้น ก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้งใหญ่จึงต้องดูกติกาที่ตัวเองไม่เสียเปรียบ ในกรณีนี้อำนาจการต่อรองของพรรคภูมิใจไทยจึงมีอยู่สูง มีโอกาสที่พรรคภูมิใจไทยจะขับเคลื่อนให้กลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว” นายธีรัจชัยระบุ

 

จับตาดูกันว่า การโหวตในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่มีเกณฑ์ชี้ขาดเดียวคือ เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภานั้นจะออกมาเป็นอย่างไร ร่างของใครจะถูกทำแท้งหรือรอดชีวิต ทั้งนี้ หากผ่านมาเพียงร่างของ ครม. ก็หมายความชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณตัดสินใจวางแผนจะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ด้วยกติกาที่เขียนให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด

อีกก๊อกหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า จะโหวตรับทุกฉบับไปก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้น กมธ. ทอดเวลาให้ยาวที่สุดจนผ่านวาระ 3

แต่ยังต้องลุ้นกันอีกขยักว่าจะมีอาการ “ก้างติดคอ” เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญที่ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เป็นการเปิดทางให้พรรคใหญ่กินรวบและทำให้คะแนนตกน้ำ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 27 วรรค 1

ที่มองว่า กติกาเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ พรรคใหญ่จะกินได้แบบหวานเจี๊ยบ อาจต้องมาลุ้นกันว่าจะเกิดอาการติดคอ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่