เทศมองไทย : อันเนื่องมาจาก ‘วันพิพากษา’

หลายๆ คนทั้งที่สันทัดและไม่สันทัดการเมือง ต่างรู้สึกเหมือนกันหมดเมื่อถึง “วันพิพากษา” ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า หัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองไทยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งนี้ สามารถปรากฏผลลัพธ์ออกมาอย่างไรก็ได้ถึง 3 ทาง

พูดแบบนักเลงบอลริมทางก็ได้ในทำนองว่า อาจชนะก็ได้ แพ้ก็ได้ โอกาสออกเสมอ เจ๊ากันไปก็มีเหมือนกัน

แต่ “สภากาแฟ” ข้างตลาดประชานิเวศน์ แยกกันถือหางทางแพ้ ทางชนะ พอๆ กัน ไม่มีใครเลือกหนทางเจ๊าเลยสักคน

“ทอดด์ พิตแมน” ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพมหานครให้กับเอพีมาตั้งแต่ปี 2011 บอกเอาไว้ในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นเมื่อ 26 สิงหาคม ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับเลือกเอาทางที่ไม่มีใครถือหางเลยเป็นทางออก ทั้งๆ ที่พิตแมนบอกว่า หาก “ต้องโทษจำคุกสัก 10 ปี” อาจทำให้เธอกลายเป็น “ผู้เสียสละ” เพื่อความเชื่อของตัวเอง

“และอาจกลายเป็นจุดเริ่มสำหรับความวุ่นวายและการชุมนุมประท้วงระลอกใหม่” เกิดขึ้นตามมา

ในทางตรงกันข้าม หากศาลพิพากษาให้พ้นผิด ก็จะยิ่งสร้างเสริม “ความองอาจฮึกเหิม” ให้กับตัวอดีตนายกรัฐมนตรี และส่งผลให้สามารถ “ท้าทาย” ต่อรัฐบาลทหารได้โดยอิสระ

แต่อดีตนายกรัฐมนตรีเลือกทางออกทางที่ 3 ซึ่ง “ไม่มีใครคาดคิด” ในความเห็นของพิตแมน ที่อ้างคำบอกเล่าของคนภายในพรรคเพื่อไทยไว้ว่า คือการเลือกที่จะเลี่ยงวันพิพากษา ลอบหลบหนีออกจากประเทศ

 

พิตแมนอ้าง “ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่น” ซึ่งอ้างความเห็นของ “เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ” ผู้หนึ่งบอกว่าเป็นการเดินทางเงียบๆ ด้วยรถยนต์ผ่านกัมพูชา เพื่อขึ้นเครื่องบินไปยังนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันเป็นสถานที่ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีผู้พี่ชาย ปักหลักใช้ชีวิตอยู่เนิ่นนานแล้ว

ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป แต่ความต้องการเฉพาะหน้าของพิตแมนก็คือ แสดงให้ผู้อ่านข้อเขียนของตนได้ตระหนักว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรกันแน่?

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของพิตแมนก็คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังคงสามารถแสดงอิทธิพลทางการเมืองภายในประเทศในระดับสูงได้นานหลายปี ทั้งๆ ที่ต้องปักหลักอยู่ที่นั่น และเชื่อกันว่า เพราะอิทธิพลที่ว่านี้เองที่ทำให้ประเทศไทยได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาเป็นผู้นำหญิงรายแรกของประเทศผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2011

พิตแมนบอกว่า ถึงจะมีอิทธิพลแต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ยังเป็นหัวใจของความแตกแยกทางการเมืองในไทยอยู่ดี และเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามที่จะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2013 เพื่อปูทางการกลับประเทศ อิทธิพลของอดีตนายกฯ ผู้นี้ก็จางหายไป ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงที่ลงเอยด้วยการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2014

และไทยก็อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานับตั้งแต่บัดนั้น

การหลบหนีวันพิพากษาของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงแตกต่างกับการลี้ภัยตัวเองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อยู่ไม่น้อย

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้กับพิตแมนว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการหลบหนีครั้งนี้ อาจหมายถึงจุดสิ้นสุดการมีบทบาทนำเหนือพรรคการเมืองในไทยของตระกูลชินวัตรก็เป็นได้ ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะไม่เชื่อว่า จะมี “คนที่ 3” จากตระกูลนี้ที่ “กล้าหาญพอ” ที่จะนำเอาความเป็นอยู่ของตัวเองมาเสี่ยงทางการเมืองอีกครั้ง ในอีกทางหนึ่งนั้น พวงทองชี้ว่าเป็นเพราะ “เพื่อการอยู่รอด พรรคการเมืองในอนาคตจำเป็น “ต้องทำงานร่วมกับทหาร” ให้ได้”

โคทม อารียา นักวิชาการด้านสังคมและการเมืองไทยอีกรายกลับบอกพิตแมนไปในทางตรงกันข้าม เหตุผลง่ายๆ ก็คือ สิ่งตกทอดทางการเมืองอันเนื่องจากคนในครอบครัว “ชินวัตร” นั้น ไม่ได้ลบทิ้งกันได้ง่ายๆ

ที่แหลมคมที่สุดเห็นจะเป็นทัศนะของ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ ที่บอกกับพิตแมนว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อาจส่งผลคุกคามต่อรัฐบาลได้น้อยกว่าเมื่อต้องไปใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในต่างแดน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ปัญหาทางการเมืองของไทยจะสิ้นสุดลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ตราบใดที่บทเรียนสำคัญว่าด้วยภาคส่วนของสังคมไทยซึ่งถูกละเลย ทอดทิ้งมายาวนาน ยังไม่มีการตระหนักและไม่มีผู้ใดดำเนินการแก้ไขให้สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเอกภาพ เสมอภาค ขึ้นในสังคม

ตราบนั้นโอกาสที่ผู้ชนะในวันนี้ก็อาจเป็นผู้แพ้ในวันข้างหน้าก็ยังคงเป็นไปได้อยู่ร่ำไป