ศัลยา ประชาชาติ  “อากู๋ แกรมมี่” : หวนคืนเส้นทางเดิม ตัดใจขายหุ้น “ทีวีดิจิตอล” โฟกัสจุดแข็ง “ผู้ผลิตคอนเทนต์”

กระฉ่อนไปทั้งบางเลยทีเดียว สำหรับความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการจัดทัพธุรกิจของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แม่ทัพใหญ่ของอาณาจักร “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ที่เปิดทางให้บริษัท อเดลฟอส จำกัด ของเจ้าสัวน้อย “ฐาปน-ปณต” ทายาทมือวางของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” อภิมหาเศรษฐีของเมืองไทย เข้ามาถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของ “ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 (SD)” คิดเป็นสัดส่วนถึง 50%

หรือคิดเป็นเม็ดเงินเบาะๆ ราว 1,000 ล้านบาท

นี่เป็นคำรบที่ 2 แล้ว สำหรับการยอมตัดใจขายหุ้นธุรกิจทีวีดิจิตอล จากช่วงเมื่อปลายปี 2559 แกรมมี่ขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,905 ล้านบาท ของ “ช่องวัน 31(HD)” ในนามของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ให้กับบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ที่มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ บุตรสาวของ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เศรษฐีแถวหน้าอีกคนหนึ่งของเมืองไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งๆ ที่คนในแวดวงต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่า “ทีวี” เป็นธุรกิจที่ “อากู๋ แกรมมี่” ใฝ่ฝันอยากเป็น “เจ้าของ” มานมนานแล้ว จากในอดีตที่ผ่านมา “แกรมมี่” อยู่ในฐานะของค่ายบันเทิงที่เป็นเพียง “ผู้ผลิต” ป้อนรายการให้กับฟรีทีวี ช่อง 3-5-7-9 เท่านั้น

 

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ทุกครั้งที่โอกาสเปิดกว้าง “อากู๋” แม่ทัพใหญ่แกรมมี่ เป็นผู้มีความปรารถนาอันแรงกล้าในการไล่คว้าความฝันที่จะเป็น “เจ้าของช่องทีวี” มาให้ได้

อย่างเมื่อช่วงปี 2553 ขณะที่ธุรกิจทีวีดาวเทียมกำลังได้รับความนิยม แกรมมี่ก็มีช่องทีวีดาวเทียมมากถึง 6 ช่อง เช่น แบ่งทีวี, แฟนทีวี, แอคชาแนล, กรีนชาแนล เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ใช้ศักยภาพของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มาต่อยอด เพื่อสร้างรายได้จากโฆษณาให้แก่ธุรกิจทีวีดาวเทียม

ถัดมาในช่วงประมาณปี 2555 ค่ายบันเทิงยักษ์รายนี้ ยังได้ทุ่มทุนสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ภายใต้ชื่อ “จีเอ็มเอ็มแซท” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ทำให้ต้องโบกมือลาธุรกิจนี้ไป พร้อมกับการขายหุ้นให้กับ “ซีทีเอช” ของ “เจ้าสัววิชัย ทองแตง” อดีตทนายความคู่ใจของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด เมื่อประตู “ทีวีเสรี” เปิด “อากู๋-ไพบูลย์” ก็เดินหน้าสานฝันของตัวเองทันที และยอมทุ่มเม็ดเงินถึง 5,610 ล้านบาท สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอล และก็คว้าช่องวัน 31 (HD) และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 (SD) มาครอบครองอย่างสมใจ

ทันที “แกรมมี่” สร้างความฝันสำเร็จ ได้เป็น “เจ้าของ” ช่องทีวีดิจิตอล “อากู๋” ก็เดินหน้าทุ่มสรรพกำลังต่างๆ อย่างเต็มที่ ทั้งปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เปิดรับบุคลากร หวังรองรับธุรกิจทีวีดิจิตอลแบบสุดกำลัง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ประตู “ทีวีเสรี” จะเปิดขึ้นแล้ว แต่สถานการณ์กลับไม่เอื้ออำนวย เส้นทางของธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่วาดหวังไว้

นอกจากปัจจัยในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและส่งผลให้เจ้าของสินค้าลดการใช้งบประมาณในการโฆษณาลง ขณะเดียวกันก็มีสินค้าและบริการจำนวนไม่น้อยที่โยกงบฯ โฆษณาที่เคยใช้กับทีวีไปหาสื่อดิจิตอลสื่อใหม่ที่กำลังมาแรง

นี่คือสาเหตุที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีที่มีกว่า 60,000 ล้านบาท ไม่เติบโต

และอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้สมรภูมิการแข่งขันของอุตสาหกรรมทีวี ที่วันนี้มากถึง 22 ช่อง มีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งการแย่งชิงคนดู ทุกช่องต่างทุ่มกันอย่างเต็มสูบ ทั้งซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศและผลิตคอนเทนต์กันแบบสุดตัว เป้าหมายเพื่อเพิ่มตัวเลขเรตติ้ง และแย่งเม็ดเงินโฆษณามาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทุกช่องต้องแบกรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย และที่หนักที่สุดคือต้นทุนด้านคอนเทนต์

แน่นอนว่าแกรมมี่ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน การกระโดดเข้าสู่สมรภูมิทีวีดิจิตอลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลง เนื่องจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

หลังจากแกรมมี่ออกอากาศทีวีดิจิตอลได้ 1 ปีกว่า “อากู๋” เริ่มต้นถอยทัพขั้นแรก ด้วยการเปิดทางให้กลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ เข้าถือหุ้นช่องจีเอ็มเอ็มวัน เพิ่มในสัดส่วน 49% และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 51%

ท้ายที่สุด ต้องตัดสินใจขายหุ้นช่องวัน 31 ให้กลุ่มปราสาททองโอสถของ “หมอเสริฐ” และขายหุ้นจีเอ็มเอ็ม 25 ให้กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ดังกล่าว

 

เกมนี้ “อากู๋” ยอมกัดฟันขายหุ้นเพื่อเดินต่อ อย่างน้อยที่สุด เงินที่ได้จากการขายหุ้นให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้นดังกล่าว จะช่วยลดการขาดทุนทีวีดิจิตอลของแกรมมี่ลงได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็จะช่วยพยุงสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลให้สามารถยืนระยะท่ามกลางการแข่งขันที่สูงได้นานขึ้น

“สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มีเดีย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งปี 2559 เฉพาะช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ขาดทุนไปประมาณ 300 ล้านบาท แต่แนวโน้มการขาดทุนก็ลดลงเรื่อยๆ และมั่นใจว่าทีวีดิจิตอลยังมีโอกาสที่จะเติบโตและขยายตัวอีกมาก

จากนี้ไป แกรมมี่จะปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ด้วยการหันไปโฟกัสการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ (content provider) ที่เป็นจุดแข็งของตัวเองอีกครั้ง

ตามที่ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ย้ำอยู่เสมอๆ ว่า ภาพลักษณ์และแนวทางของแกรมมี่ตอนนี้ชัดเจนว่า คือคอนเทนต์โพรไวเดอร์ และพร้อมจะซัพพอร์ตคอนเทนต์ให้กับทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์ เพย์ทีวี เป็นต้น

เป็นการกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่แกรมมี่แข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้กับอาณาจักรบันเทิงแห่งนี้

หลังจากได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์มาระยะหนึ่งแล้ว และประจักษ์ว่า นั่นไม่ใช่เส้นทางที่จะสร้างความสำเร็จดังที่ “อากู๋” เคยฝันมาตลอดนั่นเอง