‘วิระชัย’ กลับกรุสำรองราชการ ศาลหวั่นยุ่งพยาน-คนไม่เชื่อมั่น ปิดหลุม ‘ผช.ผบ.ตร.’ แบ๊กดี/โล่เงิน

โล่เงิน

 

‘วิระชัย’ กลับกรุสำรองราชการ

ศาลหวั่นยุ่งพยาน-คนไม่เชื่อมั่น

ปิดหลุม ‘ผช.ผบ.ตร.’ แบ๊กดี

 

กลับมานั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้เพียง 6 เดือน สำหรับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา

แต่ต้องถอยกลับไปตำแหน่งสำรองราชการ ตร.อีกครั้ง เมื่อศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นไม่คุ้มครองชั่วคราว ปมถูกคำสั่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา สมัยเป็น ผบ.ตร. มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัยสำรองราชการ และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัยพ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.

โดยความตอนหนึ่งในคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มิใช่คู่กรณีกับ พล.ต.อ.วิระชัย (ผู้ฟ้องคดี) แต่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมายรวม ทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้มีความประพฤติอยู่ในกรอบของกฎหมาย

เมื่อ ผบ.ตร.ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่ามีคลิปบันทึกเสียงการสนทนาที่ตนเองได้สั่งการเกี่ยวกับข้อราชการกับ พล.ต.อ.วิระชัย ออกเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้มีการให้เหตุผลใดๆ ในการดำเนินการดังกล่าว และภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่าคลิปเสียงการสนทนาดังกล่าวถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย การลักลอบบันทึกเสียงดังกล่าวจึงเป็นพฤติกรรมที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุทำให้ ผบ.ตร.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายอีก ทั้งยังอาจเป็นความผิดวินัยอีกด้วย

เมื่อ พล.ต.อ.วิระชัยดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ในฐานะ ผบ.ตร. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยกับ พล.ต.อ.วิระชัย ตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการทางวินัยและการสั่งให้สำรองราชการ จึงไม่ใช่เป็นกรณีอันมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่เป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังเห็นว่า หากศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐเพราะย่อมมีผลทำให้ พล.ต.อ.วิระชัยมีสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองและอาจทำให้ผู้ฟ้องคดีใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และอาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาต่อหน่วยงานตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วยแล้ว กรณีจึงเห็นได้ว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของ ผบ.ตร. ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า กรณี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ส่วนการมอบหมายหน้าที่เดิมซึ่งเป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.วิระชัย ในส่วนของหน้างานกิจการพิเศษ และศูนย์นโยบายสำคัญเร่งด่วน ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และศูนย์ปราบปรามเงินกู้นอกระบบ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ

แต่ในส่วนการมอบหมายหน้าที่ในขณะสำรองราชการ ซึ่งเป็นไปตามกฎ ก.ตร. ตามข้อบังคับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการในระหว่างข้าราชการตำรวจถูกสำรองราชการ ขณะนี้ทางฝ่ายอำนวยการอยู่ระหว่างประมวลเรื่อง เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาในการพิจารณา เพื่อมอบหมายหน้าที่ที่เหมาะสม

 

หลังเก้าอี้รอง ผบ.ตร.ของ “บิ๊กต้อย” ว่างลง ส่งผลให้มีข่าวลือนอกรั้วปทุมวัน ว่ากรณีดังกล่าวเท่ากับเป็นการเปิดหลุมให้ผู้ช่วย ผบ.ตร.แบ๊กดี แคนดิเดตรอง ผบ.ตร. มาเสียบแทน พล.ต.อ.วิระชัย ในการแต่งตั้งนายพลวาระเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

เมื่อกางมติ ก.ตร. ครั้งที่ 8/2564 วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอเปิดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อแก้ปัญหาของ พล.ต.อ.วิระชัยนั้น “เป็นตำแหน่งเฉพาะตัว และเป็นการชั่วคราว” เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ว่ากรณีใดๆ ให้ตำแหน่งกลับคืนสู่สถานะเดิม

ทว่ากลับมีเสียงร่ำลืออย่างหนาหูว่าผู้มีอำนาจนอกรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สอบถาม ก.ตร. ว่าสามารถแต่งตั้งใครมาทดแทนตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ที่ว่างลงได้หรือไม่

ทาง ก.ตร.ได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะหากมีการแต่งตั้งใครขึ้นมาทดแทน ในอนาคตหาก พล.ต.อ.วิระชัยหวนกลับมาตำแหน่งเดิมก่อนเกษียณอายุราชการปลายเดือนกันยายน 2565 จะทำให้เกิดปัญหา ต้องเปิดเก้าอี้รอง ผบ.ตร.เพิ่มอีก อาจเกิดเสียงวิจารณ์จนไม่เป็นผลดีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

และหากยึดตามกติกา ผู้มีอำนาจย่อมรู้ดีว่าจะมีรอง ผบ.ตร.ได้เพียง 5 คน และจเรตำรวจแห่งชาติ เทียบเท่ารอง ผบ.ตร. อีก 1 คนเท่านั้น

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าแนวทางจัดการกับเก้าอี้รอง ผบ.ตร.ชั่วคราวนี้ ทาง ก.ตร.ยังให้คงตำแหน่งดังกล่าวไว้ จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมา หรือจนกว่า พล.ต.อ.วิระชัยเกษียณอายุราชการ

เมื่อถึงเวลานั้น ก.ตร.จะพิจารณากับตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป