สัญญาณแรง / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

สัญญาณแรง

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมติดตามการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่และจตุจักรอย่างใกล้ชิด

ส่วนหนึ่ง เพราะต้องเก็บข้อมูลไปใช้การจัดพอดคาสต์ รายการ The Power Game ในวันจันทร์

แต่ส่วนใหญ่มาจากความสนใจส่วนตัว เพราะรู้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนทางการเมืองสูงมาก

เลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร-สงขลา ไม่มีผลต่อการเมืองใหญ่เท่าไร เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์

และเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด

แต่การเลือกตั้งซ่อมที่ “หลักสี่-จตุจักร” ครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองกรุงซึ่งผลสะเทือนทางการเมืองสูงกว่าในต่างจังหวัด

และพรรคการเมืองที่ลงแข่งมีทั้งพรรคพลังประชารัฐ แชมป์เก่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคไทยภักดี และพรรคเล็กอีก 2 พรรค

การต่อสู้ครั้งนี้มองได้หลายมิติมาก

มองในมุมคะแนนนิยมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็ได้

ถ้าฝ่ายค้านไม่ว่าเพื่อไทยหรือก้าวไกลชนะ

รัฐบาลก็เสีย

หรือในมิติของคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้

เพราะ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” คือ ฝ่ายค้าน ไม่เอา “ลุงตู่”

อีกฝั่งหนึ่ง คือ “พลังประชารัฐ-กล้า-ไทยภักดี” ชู พล.อ.ประยุทธ์

ฝั่งไหนรวมคะแนนได้มากกว่า

คือ มติของประชาชนต่อ “ลุงตู่”

และเป็นคน กทม.ด้วย

หรือจะมองแยกเป็นพรรคการเมืองก็ได้

คะแนนที่ทุกพรรคได้มาตีความได้เยอะมาก

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จึงมีความหมายทางการเมืองยิ่ง

 

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทุกพรรคดีใจหมด

ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว

เพราะจากตัวเก็งที่คิดว่าจะเข้าป้ายเป็นที่ 1

หรือแย่หน่อยก็เป็นที่ 2 หรือ 3

คะแนนจากการเลือกตั้งครั้งก่อนประมาณ 33,000 คะแนน

ครั้งนี้อย่างน้อยที่สุด ไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 คะแนน

คือ ได้ 20,000 คะแนนก็เซอร์ไพรส์แล้ว

แต่คุณสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ได้เพียง 7,090 คะแนน

ตกลงมาเป็นอันดับที่ 4

แพ้ทั้งก้าวไกล และกล้า

ส่วนแชมป์คือ “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทย

ที่บอกว่าทุกพรรคดีใจ

“เพื่อไทย” นั้นดีใจอยู่แล้วเพราะชนะเลือกตั้ง

แต่ “ก้าวไกล” ถึงจะแพ้แต่ก็ได้ที่ 2

คะแนนคิดเป็นร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ์แล้วมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อย่างน้อยก็ได้เห็นคะแนนนิยมใน กทม.ว่ายังเป็นเนื้อเป็นหนังอยู่

ส่วนพรรคกล้านั้นได้คะแนนจากความนิยมส่วนตัวของคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.ในเขตจตุจักรหลายสมัย

และจากพรรคประชาธิปัตย์เดิม เพราะครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” ไม่ส่งผู้สมัคร

ผลออกมาได้เป็นอันดับที่ 3 แพ้ “ก้าวไกล” แค่ 300 คะแนน ถือว่าเยี่ยมมาก

เป็นการแจ้งเกิดของพรรคกล้าที่คุ้มมาก

เพราะทำให้ประชาชนเริ่มจับตา

และนายทุนเหลียวมอง

ส่วน “ไทยภักดี” ไม่ถึงกับดีใจ แต่ก็ไม่ได้เสียใจมากนัก

เพราะเป็นการเริ่มต้นของการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก

ผู้สมัครก็โนเนมมาก

หลังจากรู้ผลเลือกตั้ง บรรยากาศของพรรคการเมืองต่างๆ จึงไม่ค่อยเครียดนัก

ดูผ่อนคลายและเฮฮา

หามุมมาอธิบายได้ว่าแต่ละพรรคถึงจะไม่ชนะ

แต่ก็ไม่แพ้

มีพรรคเดียว คือ “พลังประชารัฐ” ที่หามุมมาอธิบายในแง่บวกไม่ได้เลย

บรรยากาศในศูนย์เลือกตั้งหดหู่มาก

มี “สิระ-สรัลรัศมิ์” อยู่กันแค่ 2 คน

มีหัวหน้าภาค กทม. อีกคนหนึ่ง

แต่ไม่มี “ผู้ใหญ่” ของพรรคพลังประชารัฐมาให้กำลังใจเลย

เป็นภาพความพ่ายแพ้ที่สมบูรณ์แบบมาก

 

มี 2 เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

เรื่องแรก คือ ตัว “อ๊อบ” สุรชาติ เทียนทอง

แม้ว่าจะเป็นลูกชายของ “เสนาะ เทียนทอง” เจ้าพ่อวังน้ำเย็น

ตอนแรกที่ได้ยินว่าเป็นลูกชาย “ป๋าเหนาะ” ผมก็นึกถึงภาพของลูกผู้ยิ่งใหญ่ส่วนใหญ่ที่ออกลูกเกเร

แต่เจอตัวจริงแล้ว คนละเรื่องเลย

สุภาพ เรียบร้อยมาก

“สุรชาติ” ไม่เลือกลงเลือกตั้งที่ “สระแก้ว” ฐานที่มั่นของ “ป๋าเหนาะ” ซึ่งเป็นทางที่ง่าย

แต่เขาเลือกลงพื้นที่ กทม. ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่ายาก

แสดงชัดว่าเขาเป็นคนอย่างไร

เคยชนะเลือกตั้งมาครั้งหนึ่ง แต่แพ้มากกว่า

เขาเกาะติดกับพื้นที่มาตลอด ดูแลชุมชนต่างๆ เป็นอย่างดี

ชนะก็เหมือนเดิม

แพ้ก็เหมือนเดิม

คะแนนที่ได้ครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย

แต่ส่วนใหญ่มาจากตัว “สุรชาติ” เอง

ผมชอบคำปราศรัยของ “อ๊อบ” ครั้งสุดท้ายมาก

เขาไม่ใช่คนที่พูดเก่ง

บนเวทีปราศรัยของเพื่อไทย ฝีปากของ “สุรชาติ” น่าจะถือว่าอยู่อันดับท้ายๆ

แต่วันนั้นสิ่งที่ทะลุออกมาจากตัวเขา ก็คือ “ความจริงใจ”

มัน real มาก

ยิ่งกล้องจับไปเห็นสีหน้า แววตาของเขา

เราจะรู้สึกเลยว่าทุกประโยคที่เขาพูดเป็นความรู้สึกจากใจจริงๆ

ไม่ได้ประดิษฐ์ถ้อยคำให้คมคาย

“ความจริงใจ” ชนะทุกสิ่งจริงๆ

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องคะแนนของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ทหาร

ส่วนใหญ่คนจะพูดถึงหน่วยเลือกตั้งที่โรงเรียนช่างฝีมือทหารที่คะแนนของ “ก้าวไกล” ชนะขาดในหน่วยเลือกตั้งนี้

แต่ “อรรถวิชช์” บอกว่าไม่ใช่แค่หน่วยเลือกตั้งนี้

อีกหลายหน่วยที่เป็นพื้นที่ของทหาร

“ก้าวไกล” ก็ชนะทั้งหมด

เรื่องนี้สำคัญมาก

เพราะภาพที่ผ่านมาคนคิดว่า “ทหาร” ไม่ชอบพรรคก้าวไกล

เพราะจับผิดกองทัพเป็นประจำ

แต่ผลคะแนนที่ออกมาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าภาพนั้นไม่จริง

“นายทหาร” ระดับสูงอาจไม่ชอบพรรคนี้

และทหารระดับกลาง พลทหาร และนักเรียนวิชาทหาร เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล

นโยบายปฏิรูปกองทัพของเขาขายได้

สะเทือนระดับบน

แต่โดนใจระดับกลางและล่าง

เรื่องนี้หาก “ผู้นำกองทัพ” ยอมเปิดใจคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการวิจัยรูปแบบหนึ่ง

วิจัยในสนามจริง

เขาอาจเข้าใจคนในกองทัพมากขึ้น

และอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม