ประชาธิปไตยแบบจีนๆ/บทความพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

บทความพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

ประชาธิปไตยแบบจีนๆ

 

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2021 ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ที่เชิญผู้นำรัฐบาล องค์การภาคประชาชนมาร่วมประชุมออนไลน์กันในช่วงวันที่ 9-10 ธันวาคม แต่การประชุมสุดยอดนี้ ก็มีคนออกอาการงอแงว่ากำลังสร้างภาวะแบ่งแยกในประชาคมระหว่างประเทศ นั่นคือจีน

แล้วในเวลาไล่เลี่ยกัน จีนได้สร้างชุดข้อมูลเทียบเคียงเพื่อแสดงให้โลกดูว่า “ประชาธิปไตย” แบบที่แท้จริงเป็นยังไง?

การออกมาตีคู่ในเรื่องประชาธิปไตยของจีน เห็นแล้วเข้าใจได้เลยว่า นี่คือความพยายามแสดงตัวเป็นเจ้าอำนาจนำ ท่ามกลางการแข่งขันกันเป็นชาติอำนาจระหว่างสหรัฐและจีน ในทุกมิติตั้งแต่การเมือง ทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมบนโลกโซเชียล

ว่าแต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงในแบบ “จีน” มีหน้าตาเป็นยังไง?

 

ในห้วงที่กำลังจะมีการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย เว็บไซต์สื่อภายใต้รัฐบาลจีนอย่างซินหัว ได้เผยแพร่สมุดปกขาวในชื่อ “จีน : ประชาธิปไตยทำงานยังไง” โดยในส่วนอารัมภบทตอนหนึ่งระบุว่า ประชาธิปไตยเป็นคุณค่าพื้นฐานของมนุษยชาติและแนวคิดนี้ถูกดูแลอย่างทะนุถนอม โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สถานะของประชาชนในฐานะเจ้าของคือแก่นแท้ของประชาธิปไตยประชาชน ประชาธิปไตยประชาชนทั้งกระบวนการผสมผสานประชาธิปไตยที่เน้นกระบวนการกับประชาธิปไตยที่เน้นผลลัพธ์ ประชาธิปไตยแบบขั้นตอนกับประชาธิปไตยที่มีสาระสำคัญ ประชาธิปไตยโดยตรงที่มีประชาธิปไตยทางอ้อม และประชาธิปไตยของประชาชนด้วยเจตจำนงของรัฐ

ข้อความดังกล่าว เหมือนบอกว่าแม้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ แต่การประยุกต์นั้นจะถูกดูแลและกำหนดภายใต้อำนาจตัดสินใจของรัฐหรือก็คือรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

และอีกตอนหนึ่งระบุที่เหมือนแอบกระทบกระเทียบสหรัฐและชาติตะวันตกว่า ประชาธิปไตยเป็นสิทธิของประชาชนในทุกประเทศ มากกว่าอภิสิทธิ์ของบางประเทศ ไม่ว่าประเทศใดจะเป็นประชาธิปไตย ควรตัดสินโดยประชาชน ไม่ใช่กำหนดโดยบุคคลภายนอกเพียงไม่กี่คน ประชาคมระหว่างประเทศควรยอมรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่ตุลาการที่แต่งตั้งขึ้นเองโดยพลการ

บางประโยคแม้จีนพยายามจะสร้างนิยามประชาธิปไตยในแบบของตัวเองเพื่อปกป้องตัวเองจากวาทกรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่นิยามที่จีนกำหนดขึ้นมานั้น

ก็ได้สะท้อนออกมาว่า จีนพยายามอยากเป็นประชาธิปไตยแต่กลับก้าวข้ามไม่พ้นแนวคิดที่ผูกโยงกับความมั่นคง ความรุ่งโรจน์และความภาคภูมิใจของชาติ

ข้อหนึ่งที่ต้องย้ำคือ จีนปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมพรรคเดียวมาตั้งแต่ชนะสงครามกลางเมืองในปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งต้องตั้งรัฐบาลในเกาะไต้หวัน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ผ่านร้อนผ่านหนาวกว่า 6 ทศวรรษจนถึงยุคของสีจิ้นผิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดและกำลังสร้างชุดความคิดที่เชิดชูชาติ พรรคและผู้นำอย่างเข้มข้น

จีนแสดงให้เห็นถึงการเติบโตจนผงาดกลายเป็นชาติมหาอำนาจโลกที่พยายามไล่เทียบสหรัฐและรัสเซีย และจีนขยายความร่วมมือพร้อมกับถ่ายทอดรูปแบบอุดมการณ์และวิธีการปกครองที่เป็นแบบอย่างของการสร้างชาติที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

แต่ในขณะเดียวกัน แบบอย่างที่จีนสร้าง กลับแสดงอีกตัวตนของการบังคับควบคุมไปในทิศทางที่รัฐต้องการ ทั้งในชีวิตประจำวันจนถึงบนโลกออนไลน์

ตัวอย่างหนึ่งคือ Social Credit หรือ ระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม ที่รัฐใช้วัดว่าสิทธิต่างๆ ใครควรได้หรือไม่ได้ ซึ่งนอกประเทศจีนต่างล้อเลียนพร้อมกับกังวลรูปแบบสังคมถูกจับตามองนี้ ไม่ต่างไรกับโลกในนวนิยาย 1984

สิทธิพื้นฐานที่ถูกรับรองในสังคมประชาธิปไตยอย่าง สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมหรือเสรีภาพสื่อ จีนกลับสะท้อนภาพด้านกลับ อย่างฮ่องกง ทั้งการใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การเลือกตั้งผู้บริหารแต่ผู้สมัครเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลจีนก่อน หรือการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ นำไปสู่การจับกุมหรือจำกัดสิทธิคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างจิมมี่ ไหล แห่งแอปเปิล เดลี่ หรือเดนิส โฮ นักร้องชื่อดัง แม้แต่บนโลกออนไลน์ ยังมีระบบเซ็นเซอร์คำประสิทธิภาพสูงเพื่อสกัดอะไรก็ตามที่ขัดต่อความเชื่อของรัฐบาลจีน

เหตุนองเลือดเทียนอันเหมินถูกสั่งห้ามจัดงานรำลึกหรือเนื้อหาข้อเท็จจริงถูกทำให้หายไปในทันที

 

อีกตัวอย่างของความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างการบิดเบือนเนื้อหาโดยไม่เคารพการสร้างสรรค์ผลงาน นั่นคือ กรณีภาพยนตร์เรื่อง fight club ของผู้กำกับฯ เดวิด ฟิชเชอร์ ซึ่งได้เข้าฉายในจีนผ่านวิดีโอสตรีมมิ่งของ Tencent

เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า ทางการจีนได้เปลี่ยนเนื้อหาตอนจบฉบับเดิมคือ ตัวละครที่แสดงโดยเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง ได้ทำการฆ่าตัวตนอีกคนในจินตนาการที่ชื่อว่า ไทเลอร์ เดอร์เดน ซึ่งแสดงโดยแบรด พิตต์ และหลังจากนั้นก็จะมีฉากระเบิดของตึกอาคารหลายแหล่ง กลายเป็นว่าตอนจบนั้น ฉากระเบิดตึกกลับถูกแทนที่ด้วยจอดำพร้อมกับข้อความเขียนว่า “ตำรวจรู้เกี่ยวกับแผนทั้งหมดอย่างรวดเร็ว และจับกุมอาชญากรทั้งหมดในทันที และประสบความสำเร็จในการป้องกันการระเบิด” ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในหมู่ผู้ชมชาวจีน

แม้ถูกวิจารณ์หนัก แต่ผู้จัดจำหน่ายนอกประเทศจีน ที่ต้องการตีตลาดในจีนแต่ไม่อยากโดนเซ็นเซอร์ ก็ต้องจำยอม เพิ่มเนื้อหาทางเลือกที่สอดรับกับเงื่อนไขของทางการจีน

ต้นทุนที่จีนสร้างเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งนั้น แลกด้วยราคาของเสรีภาพที่ประชาชนหมดสิทธิ์เลือกหรือกำหนดเองได้

 

จาง ซุนจ้าว นักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน วิเคราะห์มุมมองของจีนต่อการเอาเป็นเอาตายกับเรื่องประชาธิปไตยว่า จีนกำลังเจอวิกฤตความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ เพราะการที่สหรัฐจัดประชุมสุดยอดประชาธิปไตยนั้นหมายถึงการสร้างพันธมิตรทางการเมือง พอๆ กับแง่ภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนถูกล้อมด้วย AUKUS และ The Quad จีนจึงสร้างชุดความคิดเพื่ออธิบายคุณธรรมทางอุดมการณ์ของจีนเองเพื่อดึงชาติต่างๆ มาเป็นพวก สร้างการยอมรับในสากล

แต่ก็ทำให้จีนติดหล่มวาทกรรมที่จีนคิดขึ้นมาเอง เพราะระบบการเมืองของจีนกับสิ่งที่จีนพยายามทำในเรื่องประชาธิปไตย แค่ดูในหลักการพื้นฐานและการปฏิบัติก็ขัดกันอย่างมาก

จีนจึงหันหัวเรือไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่จริตใกล้เคียงกันอย่างรัสเซีย อิหร่าน ทาลิบันของอัฟกานิสถาน รัฐบาลทหารพม่า หรือรัฐบาลประยุทธ์ของไทย

แต่เรื่องประชาธิปไตยที่ตัวเองผลักดันนั้น กับคุณค่าสากล ยังคงอีกไกลกว่าจะไปถึง