สุรชาติ บำรุงสุข : 100 ปีสยามเข้าสงครามโลก “พระราชสงครามข้ามทะเล”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน 100 ปีสยามเข้าสงครามโลก ตอน 5 4

“ในนามของนายทหาร นายสิบ และพลทหารฝรั่งเศส ขอให้ท่านทั้งหลายทราบว่าเพื่อนทหารฝรั่งเศสรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสมาทำการร่วมกับท่าน…ท่านทั้งหลายมาไกลจากประเทศอันเป็นบ้านเกิดเมืองนาครของท่านเพื่อช่วยรบและต่อสู้กับศัตรูของเรา ขอท่านทั้งหลายได้รับความพอใจและขอบใจจากข้าพเจ้าในนามบรรดาทหารฝรั่งเศส…ขอให้ท่านจำไว้ว่า เราทั้งหลายรักท่าน ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกของพวกฝรั่งเศสทั่วไป…”

พันตรีสตรองบอกก์ แฟร์มอร์

ผู้บังคับการกองทหารรถยนต์ที่ 1 ฝรั่งเศส

อ่านข้อความในข้างต้นจากการตรวจเยี่ยมหน่วยทหารของผู้บังคับบัญชาฝ่ายฝรั่งเศส ที่กองทหารรถยนต์สยามต้องขึ้นการบังคับบัญชาด้วยแล้ว แทบไม่น่าเชื่อถึงความสัมพันธ์ชุดใหม่

เพราะหากย้อนกลับไปในอดีตไม่นานนักของยุคอาณานิคมที่สยามต้องเผชิญกับการขยายจักรวรรดิอินโดจีนของฝรั่งเศส จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “วิกฤตการณ์ปากน้ำ” ในปี พ.ศ.2436 จนถึงขั้นมีการใช้กำลังตอบโต้กันบางส่วน

แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับแตกต่างออกไป ในครั้งนี้ทหารสยามร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับทหารฝรั่งเศส

และคำกล่าวช่วงสุดท้ายของสุนทรพจน์นี้ พันตรีแฟร์มอร์ยังกล่าวย้ำว่า “ต่อไปถึงเราจะอยู่ห่างไกลกันเท่าใดก็ดี ความรักและความคุ้นเคยซึ่งเรามีต่อกันในสนามรบคงจะไม่เสื่อมสูญไปเป็นแน่… ขอชาติไทยและชาติฝรั่งเศสจงมีความเจริญ”

คำกล่าวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างดีระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในยามสงคราม

ถ้าวิกฤตปากน้ำในปี 2436 สยามเกือบจะเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศส แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารสยามเข้าร่วมรบเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสในปี 2461

ระยะเวลาเพียง 25 ปีกลับเป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางยุทธศาสตร์ของสยามอย่างสิ้นเชิง

ข้อบังคับวินัยทหารสยาม

การออกราชการสนามในยุโรปครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นใหม่สำหรับกองทัพสยาม

และหนึ่งในประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ เมื่อต้องออกปฏิบัติราชการในสนามรบจริงๆ นั้น การใช้ชีวิตจะแตกต่างออกไปอย่างมากจากในช่วงต้น

เพราะแต่เดิมเมื่อกองทหารอาสามาถึงฝรั่งเศสนั้น ทหารเหล่านี้จะพักอยู่รวมกันในที่พักเช่นในค่ายฝึก หรือในที่ที่ถูกจัดเป็น “โรงทหาร” สำหรับกำลังพลทั้งหมด

แต่เมื่อหน่วยเข้าสู่พื้นที่การรบแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโรงทหารขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกำลังพลทั้งหมดได้ อันทำให้ทหารต้องแยกกันพักตามบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรชาวฝรั่งเศส

ในสถานการณ์เช่นนี้จึงต้องเข้มงวดในการรักษาวินัยทหารเป็นอย่างยิ่ง

เพราะสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ที่สำคัญของทหารสยามและเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จึงทำให้มีการออก “ข้อบังคับสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไทยในฝรั่งเศส ว่าด้วยการพักอาศัยตามหมู่บ้านราษฎร”

ซึ่งจะเห็นในรายละเอียดถึงความเข้มงวดของการรักษาวินัยทหารเพื่อให้เกิดการมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในพื้นที่พักอาศัย

ดังคำปรารภที่กล่าวว่า “การที่ทหารจะพักอยู่ในเรือนโรงของราษฎรโดยสบายนั้น ย่อมต้องอาศัยได้รับความเกื้อกูลจากราษฎรเจ้าของบ้านตามสมควร และทั้งเจ้าของบ้านต้องยินดีต้อนรับพวกทหารด้วย ก็เมื่อทหารต้องการความสะดวกสบายและการต้อนรับอันดีจากราษฎรแล้ว ทหารจะต้องกระทำความพอใจให้แก่เจ้าของบ้าน ไม่ทำความเสียหายอีกทั้งความไม่พอใจให้แก่เจ้าของบ้านเหมือนกัน”

น่าสนใจว่าผู้บังคับบัญชาทหารสยามให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยเช่นนี้อย่างมาก นอกจากคำปรารภดังกล่าวแล้ว โดยใน ประวัติกองทหารอาสาซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช 2460-61-62 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

“…ข้อ 4 สำหรับการนอน ทหารสยามต้องการใช้ยางรองนอน ห้ามมิให้ทหารไปหยิบฟางมาใช้ตามอำเภอใจเป็นอันขาด ก่อนที่ทหารจะเอาฟางมาใช้ ผู้ควบคุมทหารพวกนั้นๆ จะต้องไปขอต่อเจ้าของบ้านก่อน (หรือขอซื้อขอเช่า) เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ควบคุมจึงประกาศให้ทหารนำเอาฟางนั้นไปใช้ได้

ข้อ 5 ห้ามมิให้ทหารเข้าไปเหยียบย่ำในสวนหรือนา ซึ่งเจ้าของได้ทำการเพาะปลูกไว้แล้วหรือยังกำลังทำอยู่ ทั้งห้ามมิให้เก็บผลไม้มาบริโภค ตลอดจนการเด็ดดอกไม้โดยมิได้รับอนุญาตก่อนเป็นอันขาด

ข้อ 6 น้ำที่มีอยู่ตามบ้าน จะต้องสอบถามก่อน และใช้ให้ถูกต้องตามประเภทของน้ำ เช่น น้ำสำหรับกิน ถ้ามีบ่อเล็กไม่ควรใช้ซักฟอก เพราะจะทำให้น้ำขาดไม่พอกิน

ข้อ 9 ในที่พักทุกๆ แห่ง จะต้องจัดการทำส้วมขึ้นให้พอสำหรับจำนวนทหาร ส้วมของเจ้าของบ้านที่มีอยู่นั้น โดยมากมักจะพอดีกับจำนวนคนในบ้านเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทหารที่มาพักอาศัยอยู่ไม่ควรจะใช้ร่วมด้วย เพราะทหารจำนวนมากอาจทำให้ส้วมเต็มเร็ว เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของบ้าน เป็นสิ่งอันไม่บังควรจะกระทำ

ข้อ 10 บรรดาทรัพย์สมบัติของชาวบ้าน ห้ามไม่ให้ทหารนำเอาไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตเป็นอันขาด เช่น กระป๋องตักน้ำ หรือเครื่องมือสำหรับใช้ในการขุดดิน เป็นต้น ถ้ามีความจำเป็นจะต้องการใช้เมื่อใด ทหารจะต้องไปขอยืมเจ้าของบ้านโดยกิริยาอันดีก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะนำเอาไปใช้ได้แต่เมื่อเสร็จกิจครั้งหนึ่งๆ แล้ว ต้องรีบนำกลับไปไว้ที่เดิม อย่าลืมทิ้งไว้

ข้อ 11 การพักในโรงนาหรือฉางข้าว จะต้องระวังในเรื่องการใช้ไฟให้จงหนัก ในห้องนอนซึ่งใช้ฟางปูนอนห้ามมิให้สูบบุหรี่

ข้อ 12 ห้ามมิให้ทหารเข้าไปในห้องนอนหรือเรือนส่วนที่เจ้าของอยู่ โดยมิได้รับคำเชื้อเชิญหรืออนุญาตจากเจ้าของบ้านเป็นอันขาด

ข้อ 13 ทหารที่พักอาศัยอยู่แห่งใด จักต้องรักษาความสะอาดและบำรุงสถานที่นั้นๆ ด้วย ข้อนี้เป็นการสำคัญ ซึ่งจะกระทำให้เจ้าของบ้านพอใจรับรองทหารหรือมีความรังเกียจเกิดขึ้นได้ ทหารทุกคนจะต้องระลึกถึงเวลาข้างหน้าเสมอ เพราะบ้านที่ตนมาพักอาศัยอยู่ครั้งนี้ เมื่อออกเดินทางออกจากที่นี่ไปแล้ว ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะต้องเดินทางผ่านหรือมาพักที่นี่ก็เป็นได้

เหตุนี้ทหารควรจะปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุภาษิตไทย ซึ่งกล่าวไว้ว่า อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย การช่วยเหลือซึ่งทหารจะกระทำให้บังเกิดความนิยมได้นั้นมีมากมาย เช่น ในเวลาว่างราชการอาจจะช่วยทำความสะอาดกวาดลานบ้าน คราดสวน ช่วยดายหญ้า ทำสวน เหล่านี้เป็นต้น

ข้อ 15 ทหารผู้ใดไปอาศัยอยู่ ณ ที่ใด ถ้าไปทำความเดือดร้อนเสียหายให้แก่เจ้าของบ้านหรือราษฎรจะต้องได้รับโทษ ถ้าแม้ผู้ใดทำความเสียหายในสิ่งของๆ ชาวบ้าน ทหารผู้นั้นจะต้องใช้เงินตามราคาสิ่งของที่ทำเสียหายนั้น ทั้งจะต้องได้รับโทษอีกด้วย…”

สาระบางส่วนของข้อบังคับวินัยเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้บังคับบัญชาที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกำลังพลกับประชาชนชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการให้เป็นไปได้ด้วยดี จนอาจเปรียบเทียบได้กับข้อปฏิบัติของกองทัพแดงของประธานเหมาเจ๋อตุงในสงครามปฏิวัติจีน ที่มีความเข้มงวดในการรักษาวินัยทหาร

และหวังว่าวินัยที่ดีของทหารจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพในทางการเมืองอีกด้วย

ขอบคุณภาพจากสถานทูตฝรั่งเศส

ปฏิบัติการในสนาม

กองทหารบกรถยนต์สยามปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องในสนาม ยิ่งก่อนจะถึงการสงบศึกราว 5-6 วันนั้น ภารกิจในสนามยิ่งมีความหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น

ประกอบกับการปฏิบัติการในพื้นที่การรบโดยตรงนั้น จะพบว่าถนนจะชำรุดมาก และยิ่งในช่วงเวลาใกล้สิ้นสุดสงครามก็เป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวจัด การขนส่งจึงเผชิญทั้งกับหิมะและน้ำแข็ง

ประกอบกับหน่วยต้องวิ่งส่งสัมภาระและยุทโธปกรณ์ในหลายพื้นที่ แต่กำลังพลทั้งหลายก็ดูจะมีกำลังใจอย่างมาก เพราะทุกคนรู้ว่าสงครามกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว

ในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 กองทัพเยอรมนีจึงยอมทำสัญญาพักรบ และยอมรับการปฏิบัติตามข้อบังคับของฝ่ายสัมพันธมิตร

ทหารทุกนายดูจะดีใจกันอย่างมาก มีการยิงปืนต่างๆ แต่การยิงครั้งนี้ไม่ใช่การยิงใส่ที่หมายของข้าศึก แต่เป็นการยิงสลุตแสดงความยินดีในชัยชนะที่เกิดขึ้น

และในค่ำคืนของวันนี้ ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้จุดพลุที่เหลืออยู่ตลอดแนว… คืนวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ท้องฟ้ายามกลางคืนมีสีสันต่างๆ แตกต่างจากค่ำคืนของวันก่อนๆ ที่ผ่านมา และเป็นคืนแรกที่เริ่มต้นมีแสงสว่าง… เป็นค่ำคืนแรกของการยุติสงคราม

แม้สงครามจะสิ้นสุดลง แต่ภารกิจของกองทหารบกรถยนต์กลับไม่ได้ยุติลงไปด้วย กลับมีงานสนามเพิ่มมากขึ้น

เพราะกองกำลังของฝรั่งเศสเตรียมรุกเข้าไปในดินแดนของเยอรมนี

และในวันที่ 10 ธันวาคม 2461 กองกำลังสยามก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมเพื่อเดินทางสู่พื้นที่เป้าหมายจุดแรกคือเมืองลันเดา (Landau) ซึ่งเป็นดินแดนของเยอรมนี

จากเมืองลันเดา กองทหารบกรถยนต์สยามได้รับคำสั่งให้ไปวางกำลังที่เมืองนอยสตัตต์ และเปลี่ยนสถานะของหน่วยเป็น “กองพันอิสระ” ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการใหญ่ของฝรั่งเศสที่รับมอบภารกิจในการรุกเข้ายึดดินแดนของเยอรมนี

เมืองนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งหลักของกองกำลังทหารบกสยามในดินแดนข้าศึก และนักศึกษาไทยที่ถูกจับเป็นเชลยในเยอรมนีในช่วงสงครามซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้ว ก็ได้เข้ามาร่วมงานโดยทำหน้าที่เป็น “ล่าม” ให้กองทหารอาสา ซึ่งทำให้การติดต่อกับชาวเยอรมันในพื้นที่ควบคุมของทหารสยามมีความคล่องตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ตั้งของหน่วยเมื่ออยู่ในเมืองก็ทำให้ชีวิตของกำลังพลมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น มีน้ำอุปโภคและบริโภคอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะมีทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็นในการอาบน้ำ แตกต่างจากเมื่อครั้งหน่วยอยู่ในพื้นที่การรบก่อนที่สงครามจะสงบลง

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 มกราคม 2462 (ตามปฏิทินสากลคือปี 1919) กองทัพฝรั่งเศสและกองทหารสยามยังได้จัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาถวายแด่รัชกาลที่ 6 อีกด้วย

พร้อมกันนี้ก็เป็นวาระฉลองปีใหม่ของกองทัพฝรั่งเศสอีกด้วย… ผู้บังคับหน่วยทหารสยามกับฝรั่งเศสได้ใช้โอกาสนี้จัดงานฉลองร่วมกัน คงต้องถือว่าเป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจากยุคอาณานิคมจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 1

น่าสนใจว่าผู้นำทหารสยามได้ทำความตกลงร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศสว่าหากเยอรมนีไม่ยอมรับเงื่อนไขสนธิสัญญาสันติภาพแล้ว กองทหารอาสานี้ก็จะอยู่ช่วยฝรั่งเศสในการลำเลียงพลและยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติการต่อไป โดยจะมีการจัดกำลังพลที่มีขีดความสามารถในการขับรถที่ดีที่สุดเข้ารับภารกิจ และทั้งยังจะช่วยเหลือในการรักษาความสงบของพื้นที่ที่ถูกควบคุมอีกด้วย

ฉะนั้น 7 วันก่อนถึง “เส้นตาย” ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดให้เยอรมนียอมรับสัญญาสันติภาพ หน่วยกำลังทุกหน่วยจึงได้รับคำสั่งเตรียมพร้อม เพื่อเตรียมการรุกข้ามแม่น้ำไรน์ทำการรบอีกครั้ง

ดังนั้น กองทหารรถยนต์สยามจึงได้มีส่วนในการรุกข้ามแม่น้ำไรน์ไปกับกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย และเมื่อส่งกำลังถึงจุดหมายที่กำหนดในแผนแล้ว ทหารสยามกลับได้รับคำสั่งให้นอนและพักผ่อนบนรถ เพราะไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างใดหรือไม่ และอาจจะต้องรับมอบภารกิจออกปฏิบัติการทันที

แม้กระนั้นในเวลา 19.00 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน 2462 ซึ่งเป็นวันเส้นตายของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น กองรถยนต์สยามก็ถึงจุดที่เป็น “แนวหน้า” ที่หากเยอรมนีไม่ยอมรับสัญญาสันติภาพ กำลังของสัมพันธมิตรก็จะเคลื่อนเข้าทำการรบอีกครั้ง

แต่แล้วในตอนค่ำของวันดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังส่วนหน้าได้แจ้งแก่ผู้บังคับหน่วยต่างๆ ว่า เยอรมนียอมรับเงื่อนไขสันติภาพแล้ว

ซึ่งก็เท่ากับว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยุติลงอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

ดังนั้น ภารกิจของกองทหารอาสาสยามจึงถึงจุดสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน 2462 กองทหารนี้จึงได้รับคำสั่งให้เตรียมเดินทางกลับที่ตั้งที่เมืองนอยสตัตต์ และเตรียมตัวเดินทางไปปารีสเพื่อร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะของกองทัพสัมพันธมิตร

และที่สำคัญหลังจากนั้นก็คือการเตรียมตัวเดินทางกลับสยาม…

สงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรดังเช่นที่ผู้นำสยามคาดหวังไว้

และสยามเป็นหนึ่งในรัฐผู้ชนะสงครามร่วมกับชาติมหาอำนาจตะวันตก