คุยกับ ผศ.ทัศนัย เสรีภาพใน มช. และการต่อสู้-ปะทะ ระหว่าง ‘ศิลปะ’ – เผด็จการ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

คุยกับ ผศ.ทัศนัย

เสรีภาพใน มช. และการต่อสู้-ปะทะ

ระหว่าง ‘ศิลปะ’ – เผด็จการ

 

ปี2564 ที่ผ่านมา ชื่อของ ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความสนใจในสังคมอย่างกว้างขวาง ระหว่างเข้าไปปกป้องลูกศิษย์

และด้วยคำว่า “ศิลปะ ไม่เป็นขี้ข้าใคร” ที่อาจารย์ใช้ในการสื่อสารกับทางเจ้าหน้าที่คณะ เป็นวาทะที่อยู่ในใจของใครหลายๆ คน

วันนี้ “มติชนสุดสัปดาห์” จึงขอโอกาสบินมาหา สนทนากับ อ.ทัศนัยถึงเชียงใหม่ในหลายประเด็น

 

: มองสถานการณ์เสรีภาพในรั้วมหาวิทยาลัยในวันนี้เป็นอย่างไร

ในรั้วมหาวิทยาลัยที่เราเรียกว่าเป็นโลกวิชาการ การถกเถียงหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ไปจนถึงไม่ตรงกันโดยอย่างสิ้นเชิง มันเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ความคิดของมนุษย์มีความหลากหลาย บางครั้งก็เหมือนกับน้ำกับไฟ แต่ก่อนจะมีเส้นแบ่งตรงกลางที่จะไม่ล้ำเส้นกัน ก็คือเป็นการถกเถียงทางความคิด เต็มที่ก็ตบโต๊ะกัน ไม่มองหน้ากัน หรือจะไม่คบหากัน ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่พอถึงในที่ประชุมทางวิชาการก็จะคุยกัน ต้องถกเถียงกัน ต่างคนก็ถกเถียงความคิดของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องปกติ

แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ในเวลาปัจจุบันลักษณะของความคิดที่มันแตกต่างกันและก็ถกเถียงกันมันก็ยังดำรงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นที่สังเกตในมหาวิทยาลัยไทยก็คือ มันกลายเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีความยึดถือในความเชื่อของตัวเอง ที่มีตำแหน่งทางการเมืองด้วย

เช่น อธิการบดีในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือว่าคณบดี หรือตำแหน่งอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ใช้ความเชื่อของตนเองให้กลายเป็นระเบียบการปกครองในมหาวิทยาลัย และทำให้มันไปทำลายความคิดอื่นๆ มันไม่สามารถที่จะเจริญเติบโต ไม่มีที่ยืน ไม่มีที่อยู่

เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ไม่ใช่พึ่งมาเป็น แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างหนักหน่วง มีการล้ำเส้นกันทางความคิด ไม่มีการเคารพนับถือเกิดขึ้นจำนวนมากในทุกระดับ เกิดการไม่รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ในสายปฏิบัติงาน ในหมู่คณาจารย์ด้วยกันทุกเรื่อง เรื่องงบประมาณ เรื่องวิชาการ เรื่องหัวข้อในการวิจัยของอาจารย์เองหรือนักศึกษา

โดยกลุ่มคนที่มีอำนาจ ที่ใช้ความคิดของตนเองเป็นหลักยึดว่าตัวเองถูกต้อง ในการตัดสินคนอื่น แม้แต่พื้นที่ของนักศึกษาในการเรียกร้องต้องออกมาข้างนอก ตามถนน ในที่สาธารณะ ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองในมหาวิทยาลัยได้เลย หลายปีที่ผ่านมามีคนทำแคมเปญ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร แต่มันเป็นค่ายทหารจริงๆ บริหารงานกันตามลำดับชั้น เหมือนกับกระทรวง ทบวง กรมในไทย

 

: พูดถึงบทบาท-ภาพจำอาจารย์เด่นชัดในการปกป้องลูกศิษย์

ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ยังมีอาจารย์และเพื่อนๆ อีกหลายๆ ท่านไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักวิชาการ ที่ทำในอาณาบริเวณอำนาจที่เขาทำได้ บางคนทำได้ดีกว่า จะให้ยืนอยู่เฉยๆ ในจุดนั้นก็คงทำไม่ได้ เหมือนทรยศความเชื่อตนเอง ต่อการกระทำที่ทำมาทั้งชีวิต คณาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยเขาก็มีความรู้สึกในฐานะมนุษย์ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ด้วยโครงสร้างจากอาชีพ ในระบบราชการไทยที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีความกล้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเลยทำให้ไม่ได้ออกมาทำอะไร

ผมเองตื่นเต้นทุกครั้งเวลาที่ลูกศิษย์เราจบการศึกษา แล้วตัวเขาเอง ครอบครัวเขาเองไม่ใช่ภูมิใจในใบปริญญาที่ได้ แต่ว่าจากการศึกษา ค้นคว้า การวิจัยและการทำงานศิลปะ เขารู้สึกว่ามันไม่ได้ดีที่สุดในชีวิตของเขา แต่ในช่วงเวลา 4-5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เขาได้ทำอะไรตามศักยภาพและต้นทุนที่เขามี

ผมจะไม่รู้สึกภูมิใจ แต่ผมจะรู้สึกเสียใจด้วยซ้ำ ถ้าลูกศิษย์ผมทำอะไรที่มันเหมือนกับงานของผมเอง ทำอะไรที่ในสิ่งที่ผมอยากเห็น ผมจะไม่รู้สึกภูมิใจ ต้องยอมรับว่าในหลายๆ คนที่จบไป ปัจจุบันผมยังไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรอย่าง 100% แต่ผมภูมิใจที่เขากล้าจะค้นหาในสิ่งที่ผมไม่เข้าใจ ผมรู้สึกว่าแบบนี้ดี

 

: บรรยากาศศิลปะ-เสรีภาพในประเทศ

ศิลปะทุกยุคทุกสมัย สะท้อนบรรยากาศเสรีภาพของสังคม ศิลปะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ บางคนคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องความสวยงามเท่านั้น ความสวยงามนั้นยังมีอยู่ แต่ที่สำคัญคือมันช่วยปลุกเร้าความเป็นคนให้มีศักดิ์ศรีแล้วก็คนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้ศิลปะในการพูดหรือสื่อสารความคิดที่มีไม่ใช่เฉพาะแค่คนที่เรียนศิลปะเท่านั้น

ศิลปะมันจึงกลายเป็นโฟกัสที่กลายเป็นจุดที่รัฐบาลพยายามจะควบคุม ในทุกรัฐเผด็จการ จากการควบคุมทางการเมือง การยึดอำนาจ การรัฐประหาร การควบคุมในรัฐสภาแล้ว สิ่งที่จะควบคุมประชาชนในส่วนที่ลึกที่สุดและเบ็ดเสร็จที่สุดคือในระเบียบของศีลธรรมและสุนทรียศาสตร์ นั่นก็คือศิลปะ

ดังนั้น ก็จะมีการจ่ายงานกัน ผ่านทางสถาบัน (การศึกษา) ทางศิลปะก็จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารที่มีแนวคิดเดียวกับเผด็จการขึ้นมาจัดการ ห้ามปรามเสียงของเสรีภาพทางศิลปะ ในหลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ศิลปะเป็นประเด็นโดยเฉพาะในคณะวิจิตรศิลป์ ก่อนหน้านี้ที่มีกลุ่มที่มีความคิดไปในทาง กปปส. (มหาวิทยาลัยศิลปากร) แต่ก็เริ่มซาลง ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก

 

: ภาพรวมคนในวงการศิลปะ ทุกวันนี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้ศิลปะกลายเป็นพื้นที่ของการปะทะระหว่างคนที่ยึดถือความเชื่อแบบหนึ่ง ที่เขาเชื่อว่าความเชื่อของเขามันมาพร้อมกับอำนาจและประโยชน์มากมาย การเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนและโอกาสต่างๆ ที่ทำให้เขาเคยมีสุขในอดีตที่พวกเขาไม่ได้อยากเสียไปในตอนนี้

ในขณะที่คนอีกกลุ่มไม่ได้คิดถึงเรื่องตรงนี้ คิดเพียงแค่ว่าการที่จะส่งเสียงผ่านภาษาทางศิลปะ ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้นกับใคร ด้วยความกังวลใจของคนเหล่านั้น เขาจึงต้องปกป้องพื้นที่ของประโยชน์ของตนเองเอาไว้ อีกด้านหนึ่งเพื่อที่จะกำหนดทิศทางว่าศิลปะเป็นอย่างไรตามความหมายของเขาด้วย ศิลปะจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชวนเชื่อโดยเสมอ ศิลปินสมัยเก่าและสมัยใหม่ไม่ทันรู้ตัวว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางการเมือง

เมื่อโลกเปลี่ยนไปจึงเกิดระบบคุณค่าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในความคิดของคนเหล่านั้นมันไม่ได้ทำให้ระบบคุณค่าอื่นๆ เจริญเติบโตขึ้นจึงทำให้เกิดปัญหาในการขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคม

 

: ทำไมศิลปะในสังคมไทย ถึงเคยถูกทำให้เป็นเรื่องของความแพง-ชั้นสูง?

สิ่งที่เป็นรากฐานของปรัชญาความคิดของศิลปะแบบไทยๆ ที่คิดว่าศิลปะทำหน้าที่ การบำเรอ สุนทรียศาสตร์ การมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส ความสามารถของศิลปะทำหน้าที่ได้แค่นี้ ไม่ต้องมีความคิดการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ไม่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

ในหลักสูตรการสอนในโรงเรียนก็เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น คนที่เรียนศิลปะจะไม่มีเรียนในด้านอื่นเลยก็จะเป็นการฝึกทักษะความสามารถในเทคนิคต่างๆ เท่านั้น จะไม่มีวิชาทางด้านสังคม การวิจารณ์ ที่มันจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในชีวิตร่วมสมัยอะไรเลย

มันจึงผิดแผกกับปรัชญาพื้นฐานของศิลปะ มันเลยทำให้ศิลปะไม่มีบทบาทอะไรในอดีต ซึ่งคนรุ่นใหม่ ณ ตอนนี้ต้องการระบบคุณค่าใหม่ๆ ในแบบของเขาเองที่คิดในแบบอดีตมันไม่สามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตเขาได้ จึงทำให้ออกมาเรียกร้อง พูดแสดงออกในศิลปะในแบบของเขา

 

: อยากพูดอะไรกับคนที่อยากฟรีซประเทศหยุดรั้งกาลเวลา-เสรีภาพ

คิดว่าเขามีความกังวลมากเกินไปว่าศิลปะจะทำให้เกิดการประท้วง เกิดการล้มล้างสถาบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน

ซึ่งศิลปะมันไม่เคยทำหน้าที่แบบนั้นแม้กระทั่งในโลกวิชาการ

ดังนั้น อย่าพยายามไปฝืนธรรมชาติเกิน

 

: ความน่าเป็นห่วงการไล่ทำลายผลงานศิลปะในประเทศมีโอกาสเกิดขึ้น?

หลายครั้งอารยธรรมมนุษย์มักเกิดเหตุการณ์นี้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทุบทำลายเทวรูปของคนท้องถิ่นที่เคยเกิดขึ้น การเกิดสงคราม การทำลายความเชื่อมันขึ้นทุกยุคทุกสมัยแล้ว

ตอนนี้มันก็เริ่มเกิดขึ้นจริงๆ แต่ยังไม่รุนแรงเท่าสมัยก่อน

ถ้ามันเกิดขึ้นก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

มันจะแปลกกว่านั้นหากเกิดขึ้นแล้วไม่มีใครพูดถึงมัน

 

: คิดว่าเผด็จการมีหัวใจเข้าใจศิลปะ?

คนที่พูดถึงศิลปะบริสุทธิ์เขามักจะพูดอยู่เสมอ ว่าทั้งชีวิตของเขาเพื่อจะปกป้องความบริสุทธิ์นั้น จะมีแนวโน้มความคิดเป็นเผด็จการ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม มีทัศนคติที่ค่อนข้างป่าเถื่อน กระหายเลือดมากกว่าคนอื่นๆ

คำถามก็คือ คนที่มีความคิดแบบเผด็จการมีความเข้าใจหรือมีสำนึกต่อศิลปะแค่ไหน

ศิลปะบริสุทธิ์มันมีตรรกะบางอย่างที่สะท้อนถึงเผด็จการเหมือนกัน

ชมคลิป