วิกฤติศตวรรษที่21 : ความซับซ้อนของสงครามเศรษฐกิจในลัทธิอาณานิคมใหม่

มองโลกปี 2917 และหลังจากนั้น (31) 

สงครามเศรษฐกิจในแอฟริกา ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ขณะนี้ มีทั้งเรื่องที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมไปจนถึงเรื่องการเมืองระดับชาติและการแทรกแซงจากภายนอก ผสมรวมกันแยกไม่ออก

ยกตัวอย่าง 3 กรณี ได้แก่

ก) ต้นเดือนมีนาคม 2017 ประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา แห่งแอฟริกาใต้ ประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อริบที่ดินของคนผิวขาวโดยไม่จ่ายเงินชดเชย

แต่การออกโรงนี้มีเบื้องลึกมาจากการเมืองภายในประเทศ ที่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีซูมาลดลงจากปัญหาหลายประการ

ที่สำคัญถูกกดดันจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแห่งพรรค “นักสู้เพื่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ” นำโดย นายจูเลียส มาเลมา ที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อ “ผนึกกำลังคนผิวดำริบที่ดินคืนโดยไม่จ่ายเงินชดเชย”

ข) ขบวนการโบโก ฮาราม (ก่อตั้งปี 2002) นำการลุกขึ้นสู้ด้วยความรุนแรงปี 2009 มีฐานอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีแนวนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมตะวันตก (ชื่อของขบวนการแปลว่า “การศึกษาแบบตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม”) แต่ปฏิบัติการจำนวนมากเกี่ยวกับการขัดขวางการขุดเจาะน้ำมัน อันเป็นที่มาของรายได้ใหญ่ของประเทศ สหรัฐเข้าสนับสนุนรัฐบาลในการปราบกลุ่มก่อการร้ายนี้ ที่ได้ขยายปฏิบัติการสู่แคเมอรูน ชาด ไนเจอร์ มาลี และโซมาเลีย

ค) สงครามกลางเมืองซูดาน ระหว่างซูดานกับซูดานใต้ มีภาพว่าเป็นการต่อสู้เพื่ออิสระทางการเมือง แต่เบื้องหลังเป็นการแย่งชิงน้ำมัน ตะวันตกสนับสนุนซูดานใต้ ที่มีแหล่งสำรองน้ำมันมาก จนสามารถตั้งเป็นประเทศได้ (2011) และช่วยอุ้มชูหลังจากนั้น โดยในปี 2014 สหรัฐให้เงินช่วยเหลือแก่ซูดานถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ (ดูบทความของ Karen Allen ชื่อ Why does South Sudan matter so much to the US? ใน bbc.com 31.08.2015)

แต่แล้วก็เกิดกลุ่มกบฏต่อต้านขัดขวางการผลิตน้ำมัน เป็นจุดเดือดอีกแห่งหนึ่งในแอฟริกาตอนใต้สะฮารา สะท้อนการดิ้นรนของลัทธิอาณานิคมใหม่ในที่นั้น

ลัทธิอาณานิคมใหม่

ตามการวิเคราะห์ของ กวาเม เอ็นกรูมาห์

กวาเม เอ็นกรูมาห์ รัฐบุรุษและนักคิดแห่งประเทศกานา (1909-1972) ได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของลัทธิอาณานิคมใหม่ในแอฟริกา และสงครามเศรษฐกิจที่รับมือได้ยากมาตั้งแต่กว่า 50 ปีมาแล้ว ในหนังสือของเขาชื่อ “ลัทธิอาณานิคมใหม่ : จักรวรรดินิยมขั้นสุดท้าย” (เผยแพร่ปี 1965)

วิเคราะห์ว่ามหาอำนาจตะวันตกใช้ความเหนือกว่าทางทุน เทคโนโลยี การผลิต การตลาดรวมทั้งการทหารเพื่อเข้าครอบงำตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นในแอฟริกา เข้าสำรวจขุดเจาะทรัพยากร ตักตวงผลประโยชน์

ทำให้แอฟริกาไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเทียบเคียงกับทวีปอื่นในโลกได้

หนทางแก้ไข ประกอบด้วยสองหลักใหญ่ ได้แก่ การสร้างสถาบันการเงินของตนเองขึ้นมา และการสร้าง “สหรัฐแห่งแอฟริกา” หรือลัทธิรวมแอฟริกา

การวิเคราะห์ของเอ็นกรูมาห์นั้นเป็นการมองจากจุดของผู้ถูกกดขี่ขูดรีดในขณะนั้น เมื่อถึงปัจจุบันมีข้อมูลใหม่จำนวนมาก และเหตุการณ์ก็คลี่คลายไปอย่างไม่คาดคิด ถึงกระนั้นหลายอย่างยังเป็นจริง โดยมีรายละเอียดต่างไปจากที่คาดมาก

Protesters from various Southern African Development Community (SADC) countries demonstrate near the entrance to Department of International Relations and Cooperation where the SADC Summit is being held in Pretoria on August 19, 2017.
The protesters are demanding for the Democratic Republic of Congo (DRC) President Joseph Kabila to step down, and also calling on South Africa to set an example in the handling of the Zimbabwe’s first lady Grace Mugabe who is seeking diplomatic immunity for an alleged assault in South Africa on a a 20-year-old model. / AFP PHOTO / Phill Magakoe

สรุปทัศนะของเขาและคัดความบางตอนในหนังสือดังนี้

1) “เนื้อแท้ของลัทธิอาณานิคมแผนใหม่ก็คือ รัฐที่อยู่ในลัทธินี้มีความเป็นอิสระในทางทฤษฎี กล่าวคือ มีเครื่องประดับต่อภายนอกคล้ายมีอำนาจอธิปไตย แต่ในทางเป็นจริงระบบเศรษฐกิจ (ดังนั้น) ระบบการเมือง ถูกควบคุมจากภายนอก”

2) ทรัพยากรที่ยังถูกช่วงชิงไป “ถ้าทรัพยากรที่มีอยู่มากและหลากหลายของแอฟริกาถูกใช้ไปเพื่อการพัฒนาของแอฟริกาเอง ทรัพยากรเหล่านี้จะยกฐานะของแอฟริกาให้เทียบเคียงกับทวีปอื่นในโลกได้ แต่ว่าทรัพยากรของแอฟริกายังคงถูกใช้เพื่อการพัฒนาผลประโยชน์ในต่างแดนเป็นสำคัญ”

3) การควบคุมของนักล่าอาณานิคมใหม่ กระทำโดยผ่านปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือทางการเงิน และในกรณีที่จำเป็นกระทำโดยใช้กำลังทางทหาร

การควบคุมทางเศรษฐกิจต่ออาณานิคมใหม่มีกลไกที่สำคัญดังนี้คือ

ก) ควบคุมการไหลเวียนของเงิน รวมทั้งควบคุมการก่อหนี้ที่เรียกว่า “การช่วยเหลือจากหลายฝ่าย” เป็นการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก เป็นต้น

ข) ควบคุมตลาดกำหนดราคาสินค้า โภคภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรม

ค) ควบคุมอัตราดอกเบี้ย ตั้งอัตราดอกเบี้ยสูง

ง) ควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน

จ) ควบคุมผ่าน “การค้าที่มองไม่เห็น” เช่น การเดินเรือพาณิชย์

ฉ) การควบคุมสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมโดยใช้ข่าวสารและวัฒนธรรม

เช่น ก) การทำให้ยอมรับสิทธิพิเศษของเจ้าอาณานิคมเดิม และวัฒนธรรมตะวันตก ผ่านสำนักงานข่าวสารสหรัฐ (ในประเทศไทยเรียกว่ายูซิส) ข) การเผยแผ่ศาสนาคริสต์

“ผลของลัทธิอาณานิคมแผนใหม่คือทุนต่างประเทศใช้เพื่อการขูดรีดมากกว่าพัฒนาประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า การลงทุนภายใต้ลัทธิอาณานิคมใหม่ เพิ่มช่องว่างมากกว่าลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนในโลก”

การต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมใหม่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะไม่รับทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว มาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา แต่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันอำนาจทุนของประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ให้นำมาใช้เพื่อขยายช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวย และประเทศยากจน

การตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทำให้แอฟริกาและกานาสามารถรับเงินลงทุนและร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมทั้งสังคมนิยม

4) ลัทธิอาณานิคมใหม่กับ “สงครามจำกัด” (Limited War) อาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้แก้ปัญหาดุลอำนาจ เพียงแต่ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่มีนิวเคลียร์ไม่กล้าทำสงครามกันโดยตรง แต่ทำสงครามจำกัดแทนกับประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอกว่า

ตัวอย่างเช่น สงครามเวียดนาม เวียดนามที่ต้องการพ้นจากอาณานิคมมีขนาดเล็ก ดังนั้น จักรวรรดินิยมจึงสามารถทำสงครามจำกัดได้ แต่สงครามจำกัดนี้เมื่อทำไปแล้ว ก็มีโมเมนตัมของตัวมันเอง สามารถบานปลายออกไป

ดังนั้น ลัทธิอาณานิคมใหม่จึงสร้างบาปใหญ่ ได้แก่ การขัดขวางประเทศต่างๆ ไม่ให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่จะทำให้ประเทศมหาอำนาจทำสงครามจำกัดได้

“ถ้าแอฟริการวมตัวเป็นหนึ่งเดียวก็จะไม่มีมหาอำนาจใดสามารถกดขี่โดยการทำสงครามจำกัดได้”

People look at the wreckage of a bus that had been transporting primary school pupils from Arusha to Karatu before plunging into a gorge, killing at least 29 children, two teachers and the driver, on May 6, 2017.
At least three survivors were pulled from the crash site by rescuers and rushed to hospital. The accident happened early on May 6 when the bus went off the road and into the Marera river gorge in Karatu district. The final year primary pupils — commonly aged between 12 and 14 years old — were on their way to sit mock examinations ahead of seeking places at secondary school. / AFP PHOTO / Filbert Rweyemamu

ถ้าหากแอฟริกาแบ่งแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ประเทศมหาอำนาจก็จะทำสงครามได้ง่าย

“โดยการยกกำลังทหารนาวิกโยธินไม่กี่พันคนขึ้นบก หรือโดยการจ้างทหารรับจ้าง ก็สามารถก่อผล ชี้ขาดได้ตามที่ต้องการ”

5) “ลัทธิอาณานิคมใหม่ยังเป็นรูปแบบจักรวรรดินิยมที่ชั่วร้ายที่สุด…

มันหมายถึงอำนาจที่ปราศจากการรับผิดชอบต่อความทุกข์ยากของประชาชนผู้รับเคราะห์ หมายถึงการขูดรีดที่ไม่มีการชดเชย ในสมัยอาณานิคมแบบเก่า จักรวรรดินิยมยังต้องอธิบายและสร้างความชอบธรรมภายในประเทศของตน ว่าจะปฏิบัติการอะไรในต่างประเทศ และในอาณานิคม ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างน้อยก็ยังคุ้มครองอาณานิคมจากการรุกรานภายนอก แต่ในลัทธิอาณานิคมใหม่ ไม่มีการทำทั้งสองอย่าง”

6) ลัทธิอาณานิคมใหม่นำมาสู่วิกฤติและการล่มสลายของระเบียบโลกที่จักรวรรดินิยมสร้างขึ้น

“ลัทธิอาณานิคมใหม่คล้ายกับลัทธิอาณานิคมเก่า เป็นความพยายามส่งออกความขัดแย้งทางสังคมของประเทศ ทุนนิยมพัฒนาแล้ว ความสำเร็จของนโยบายนี้เห็นได้จากช่องว่างที่ขยายตัวระหว่างชาติที่มั่งคั่งและชาติที่ยากจนทั่วโลก (แต่สิ่งนี้ไม่อาจดำเนินได้ตลอดไป) ยิ่งสิ่งนี้ดำเนินไปนานเท่าใด ยิ่งเป็นที่แน่นอนว่า มันนำมาสู่การล่มสลายของระบบสังคมที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง”

7) การเกิดขึ้นและการคลี่คลายของลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นไปในทำนองนี้คือ

ก) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศมหาอำนาจที่มั่งคั่งไม่สามารถจะหวนกลับไปสู่สภาพสังคมก่อนสงครามช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่มีช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวยจำนวนน้อยและผู้ยากไร้จำนวนมากได้ หนทางเลือกมีประการเดียว ก็คือสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดการว่างงานจำนวนมากและมาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำ จึงได้นำผลได้ส่วนหนึ่งจากอาณานิคมที่เคยตกอยู่กับคนรวยเกือบทั้งหมด มาสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับคนหมู่มาก แต่การทำแบบนี้ยิ่งก่อให้เกิดการต่อต้านในประเทศอาณานิคม จนประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสจำต้องปล่อยอาณานิคมเป็นอิสระขึ้นเป็นลำดับ

ข) ลัทธิอาณานิคมใหม่ ตั้งอยู่ในหลักการแบ่งดินแดนอาณานิคมที่เคยเป็นที่ผืนใหญ่ ออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยจนไม่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นอิสระได้ จำต้องพึ่งพาจักรวรรดิเก่าเพื่อการป้องกันประเทศ กระทั่งเพื่อการรักษาความมั่นคงภายใน และต้องเชื่อมระบบเศรษฐกิจและการเงินของตนเข้ากับเจ้าอาณานิคมเหมือนเดิม

แต่การทำแบบนั้นก็ก่อผลเสียต่อประเทศร่ำรวยเอง นั่นคือ

ก) ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เร็วรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในโลกได้

ข) ประเทศมหาอำนาจจำต้องให้ “ความช่วยเหลือ” เพื่อที่ประเทศกำลังพัฒนาในลัทธิอาณานิคมใหม่สามารถดำรงอยู่ได้ แต่การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจขัดกับผลประโยชน์ของบรรษัทในประเทศร่ำรวยได้ง่าย ลงท้ายการช่วยเหลือหลักกลายเป็นการช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของลัทธิอาณานิคมใหม่

ค) ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้เต็มที่ สังคมก็เกิดความคับแค้นไม่พอใจ และลุกขึ้นสู้เพื่อขจัดลัทธิอาณานิคมใหม่

ง) สำหรับในประเทศพัฒนาแล้ว “ในปัจจุบันความจำเป็นในการรักษารัฐสวัสดิการ ซึ่งก็คือรัฐปรสิตภายในประเทศ และต้องแบกรับภาระกองทัพที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว (มีสหรัฐ สหภาพยุโรป เป็นต้น) มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการรักษาผลได้สูงสุดจากส่วนที่เป็นกลุ่มการเงินระหว่างประเทศที่พวกเขาควบคุมอยู่”

(ดูหนังสือของเอ็นกรูมาห์พิมพ์เผยแพร่ปี 1965 ชื่อ Neo-Colonialism : the Last State of Imperialism บท Introduction, The mechanism of neo-colonialism และ Conclusion ใน Marxist.org)

ลัทธิอาณานิคมใหม่ในศตวรรษที่ 21

ในศตวรรษที่ 21 มีข้อมูลใหม่และสถานการณ์ใหม่ ต่างกับที่เอ็นกรูมาห์ได้วิเคราะห์ไว้เป็นอันมาก แต่ก็ยังใช้การวิเคราะห์ของเขาเป็นแนวในการสรุปลัทธิอาณานิคมใหม่ ได้ดังนี้คือ

1) ลัทธิอาณานิคมใหม่อ่อนแอลงอีก เนื่องจากประเทศมหาอำนาจต้องแบกภาระหนักในค่าใช้จ่ายรัฐสวัสดิการและการทหาร (งบประมาณส่วนใหญ่ของสหรัฐอยู่ในสองประเภทคือสวัสดิการสังคมและการสงคราม) แต่ชนชั้นนำของประเทศมหาอำนาจใช้วิธีการหลายอย่าง นอกจากการนำผลได้จากประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมใหม่มาใช้อย่างที่เอ็นกรูมาห์กล่าว ได้แก่

ก) ยกเลิกการผูกค่าเงินตรากับทองคำ พิมพ์ธนบัตรขยายสินเชื่อเพื่อรักษารัฐสวัสดิการและกองกำลังของตนไว้

ข) ย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรม ไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานถูกกว่า

ค) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่การปฏิบัติดังกล่าวก็กลับส่งผลร้ายต่อประเทศมหาอำนาจตะวันตกเอง เช่น เกิดหนี้และฟองสบู่เศรษฐกิจแตกหลายครั้ง อุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาเข้มแข็งขึ้น เช่น ในประเทศจีน รายได้ของคนงานในประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นน้อยหรือลดลง ขยายช่องว่างทางสังคม ก่อความแตกแยกและทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็มีอัตราลดลง

2) ลัทธิอาณานิคมใหม่ก้าวสู่ขั้นสุดท้ายตามที่เอ็นกรูมาห์กล่าว เมื่อประสบความล้มเหลว ประเทศมหาอำนาจก็หันไปใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มศตวรรรษที่ 21 สหรัฐก่อสงครามจำกัดอย่างต่อเนื่อง ลัทธิอาณานิคมแผนใหม่ขั้นสุดท้ายนี้มีอันตรายมาก ได้ทำให้มหาตะวันออกกลางตกอยู่ในทะเลเพลิงแล้ว และอาจทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในมหาสงครามได้

3) โลกสังคมนิยมสลายตัว สหภาพโซเวียตล่มสลาย เลิกระบบคอมมิวนิสต์ จีนเดินหนทางทุนนิยม ปัจจุบันมีเศรษฐกิจแบบผสมหรือ “ตลาดแบบสังคมนิยม” ดังนั้น ไม่ใช่สังคมนิยมมาแทนที่ลัทธิอาณานิคมใหม่ ดังที่เอ็นกรูมาห์คาดไว้ แต่เกิดโลกหลายขั้วอำนาจขึ้นมาแทน เป็นการต่อสู้ของโลกาภิวัตน์ของตลาดเก่า (กลุ่ม 7 และเพื่อน) กับโลกาภิวัตน์ของประเทศตลาดเกิดใหม่

4) แอฟริกาได้ก้าวหน้าตามแนวคิดของเอ็นกรูมาห์พอสมควร โดยมีการพัฒนากลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (ตั้งแต่ปี 1964, 1972 และ 1974) และสหภาพแอฟริกา (ตั้ง 2002 สืบทอดจากองค์การเอกภาพแอฟริกาที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1964) ที่ทุกประเทศในแอฟริกาเข้าเป็นสมาชิก แต่แอฟริกายังคงเป็นทวีปที่ยากจน ยืนไม่มั่นคง มีจุดเดือดหลายแห่ง ยังต้องก้าวเดินอีกไกลกว่าจะบรรลุวิสัยทัศน์ว่า “แอฟริกาที่สันติ เจริญรุ่งเรืองและมีบูรณภาพ ที่ขับเคลื่อนโดยพลเมืองของตนและเป็นตัวแทนพลังพลวัตบนสังเวียนโลก”

กรณีของแอฟริกาได้ตอกย้ำว่า ลัทธิอาณานิคมใหม่ได้ล้มเหลวแล้ว แต่ยังดิ้นรนไม่ยอมตายง่ายๆ ยังสามารถก่ออันตรายใหญ่แก่โลกได้ การต่อต้านสงครามเป็นหนทางใหญ่ในการรักษาโลกนี้ไว้