Tick…Tick…Boom / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์
credit Netflix

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

Tick…Tick…Boom

 

Tick…Tick… เป็นเสียงนาฬิกาเดิน ที่บ่งบอกว่าเวลากำลังเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกวินาที ส่วน Boom นั้นก็คือ เสียงระเบิด

Tick…Tick…Boom จึงให้ภาพของระเบิดเวลา ที่เวลาใกล้จะหมดแล้ว และเมื่อวินาทีนั้นมาถึงการระเบิดก็จะเกิดขึ้น

ไม่ได้กำลังเปรียบเปรยถึงสถานการณ์ของรัฐบาลลุงตู่นะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไป แม้จริงๆ แล้วยามนี้ นาวารัฐที่ขับเคลื่อนโดยท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ใกล้เคียงกับระเบิดเวลาเข้าไปทุกขณะ บางเสียงบอกว่ามันจะระเบิดในไม่ช้านี้ หรืออย่างช้าก็ไม่เกินสิ้นปี

กลับมาถึง Tick…Tick…Boom ที่ผมเขียนถึงกันต่อ

 

จริงๆ แล้วเป็นผลงานภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ใน Netflix เป็นภาพยนตร์แนวละครเพลง ที่เดินเรื่องด้วยการร้องเพลง และมีการถ่ายภาพตัดต่อให้ออกมาในแบบกึ่งหนังกึ่งละครเวที

Tick…Tick…Boom สร้างขึ้นมาจากชีวิตจริงของโจนาธาน ลาร์สัน นักสร้างละครเวทีชื่อดังชาวอเมริกัน ผลงานของเขาที่ฝากไว้ในละครเวทีบรอดเวย์คือเรื่อง “Rent” ที่โด่งดังและแสดงติดต่อกันมาถึง 12 ปี

สิ่งที่เกิดขึ้นกับการแสดงรอบแรกของละครเวที “Rent” ก็คือ ไม่มีตัวของโจนาธาน ลาร์สัน ร่วมชื่นชมผลงานของตนเองอยู่ด้วย เพราะเขามาเสียชีวิตก่อนละครรอบปฐมฤกษ์จะเปิดการแสดงไม่กี่วัน

คิดดูสิครับ สำหรับละครเวทีกับลาร์สันแล้ว มันคือชีวิตทั้งชีวิตของเขาทีเดียว เขาทุ่มเททุกสิ่งอย่างเพื่อจะได้เห็นความฝันของเขาปรากฏขึ้นจริง และเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้นจริงแล้ว เขากลับไม่ได้อยู่ร่วมความสำเร็จนั้น

การที่บอกว่าละครเวทีเป็น “ชีวิตทั้งชีวิต” ของเขา มันคือสิ่งที่ได้เล่าไว้ในภาพยนตร์ Tick…Tick…Boom นั่นเอง

 

หนังเริ่มต้นในวันที่อีกไม่กี่วัน ลาร์สันจะมีอายุครบ 30 ปี แต่ในความรู้สึกของเขาคือ เขาเป็นคนอายุ 30 ที่ยังไม่มีอะไรเลย งานการประจำที่มั่นคงก็ไม่มี ต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำงานเสิร์ฟอาหารไปพลางๆ พร้อมกับการใช้เวลาเพื่อเขียนละครเพลงเรื่อง “ซูเพอร์เบีย” ที่เขาเขียนมาถึง 8 ปีแล้วให้สำเร็จลุล่วง

เขาเติบโตมาพร้อมกับดนตรีและเสียงเพลง เข้าเรียนในสาขาการแสดงของ Adelphi University ในนิวยอร์ก เขาหลงใหลในละครเวทีอย่างมาก ความฝันของเขาคือการสร้างละครเวทีดีดีขึ้นมาให้ได้ และเขาหวังว่าเรื่อง “ซูเพอร์เบีย” เรื่องนี้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขาที่ทำให้เขาแจ้งเกิดในโลกการละครได้

สิ่งที่จะทำให้ความฝันของเขามีเค้าลางความเป็นจริงขึ้นมาก็คือ การได้ทำการแสดงแบบ workshop ต่อหน้าคนในวงการ ที่หากมันเข้าหูเข้าตาคนที่มีอำนาจ มีเครดิต ละครของเขาก็มีโอกาสพัฒนาต่อจนขึ้นแสดงได้

และนั่นคือเดิมพัน ในช่วงเวลาอายุใกล้ 30 ปีของเขา

 

หนังเล่าให้เห็นถึงความกดดัน ความเหน็ดเหนื่อยต่อการเอาตัวให้รอดในชีวิตจริง เพราะค่าใช้จ่ายที่ติดค้างไว้เริ่มทำหน้าที่ทวงหนี้ของมันอย่างจริงจัง ตัวอย่างให้เห็นคือคืนหนึ่งที่เขาเร่งเขียนเพลงเอกของเรื่องให้สำเร็จเสียที ห้องพักของเขาก็ถูกตัดไฟจากการค้างค่าเช่ามานาน

แถมซ้ำเติมด้วยปัญหาความสัมพันธ์ของเขากับ “ซูซาน” แฟนสาวอีกด้วย เธอเป็นนักเต้นที่มีความสามารถ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในนิวยอร์กนี่สักที ในขณะที่เขากำลังมีเดิมพันกับการ workshop ซูซานก็ได้รับข้อเสนอเป็นงานการแสดงที่ตอบสนองความใฝ่ฝันของเธอได้ที่เมืองอื่น เธอหวังว่าลาร์สันจะไปกับเธอตามประสาคนรักด้วยกัน แต่เมื่อมันไม่ใช่ เหตุการณ์จึงกลายเป็นจุดจบที่ปวดร้าวของทั้งคู่

นอกจากตัวละครที่เป็นคนรักของพระเอกแล้ว ยังมีเพื่อนสนิท และคนที่แวดล้อมชีวิตของลาร์สันจำนวนหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปตามเหตุผลของแต่ละคน

เช่น “ไมเคิล” เพื่อนรักที่เติบโตมาด้วยกัน ที่ยอมละทิ้งความฝันในการเป็นนักแสดงแล้วหันไปทำงานบริษัทโฆษณาแทน และนั่นไม่หนักหนาเท่ากับเขากำลังจะตายจากเชื้อ HIV โดยที่ลาร์สันไม่มีเวลาพอที่จะรับฟัง

 

ในที่สุดละคร “ซูเพอร์เบีย” ของเขาก็ได้แสดงใน New York Theatre Workshop จริง โดยมีคนในวงการที่เขาให้เอเยนซี่เชิญมาชมสมที่ตั้งใจ โดยเฉพาะมี Stephen Sondheim นักแต่งเพลงชื่อดังของวงการละครบรอดเวย์มาร่วมชมด้วย แต่มันก็ไม่ได้สร้างความประทับใจมากพอเพียงจนทำให้มีคนมาสนับสนุนมันให้เกิดขึ้นจริง

เรียกว่าเป็นความล้มเหลวของเขานั่นเอง และเป็นความล้มเหลวที่มีราคาแพงมาก เพราะมันแลกกับผู้คนที่รักเขาและเขารัก

แต่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นคือ เขาได้รับคำชื่นชมและกำลังใจว่าเป็นคน “มีของ” และอยากให้เดินหน้าสร้างงานอื่นต่อไป และมันจะสำเร็จสักวัน

ละครเวทีเรื่อง “Rent” ที่เล่าตอนแรก ก็เป็นผลงานจากการไม่ยอมแพ้ของเขา และเขาก็สู้จนผลักดันให้มันเกิดได้จริง แม้จะไม่มีโอกาสได้ชื่นชมก็ตาม

 

อยากจะเขียนถึงด้วยความชื่นชมอย่างมากก็คือ นักแสดงหนุ่ม “แอนดรูว์ การ์ฟิลด์” ที่รับบทโจนาธาน ลาร์สัน เขาได้ทิ้งภาพของสไปเดอร์แมนลงได้อย่างสิ้นเชิง ในสไปเดอร์แมนเขาต้องปล่อยเส้นใยและกระโดดไปมา แต่กับเรื่องนี้เขาได้ปล่อยของที่มีคุณภาพเหลือเชื่อ คือ “การร้องเพลง” ที่สามารถเข้าถึงอารมณ์ตัวละคร และสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างไพเราะ ชวนฟังแบบมืออาชีพโดยแท้

ความเป็นธรรมชาติในการแสดง บวกกับความสามารถในการถ่ายทอดบทเพลง ทำให้เขาเหมือนเป็นโจนาธาน ลาร์สัน ตัวจริง จนได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล “นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ตลกและมิวสิคัล” ในการประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำ ประจำปี 2022 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และมีสิทธิ์อย่างมากที่จะเป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์อีกด้วย

ผมติดใจในฉากเพลงที่เขาถ่ายทอดถึงการปะทะกันทางความคิดและความรู้สึกของเขาและ “ซูซาน” คนรัก ผ่านการร้องเพลงของเขากับนักร้องหญิงคนหนึ่งในกลุ่มนักแสดงที่เป็นเหมือนตัวแทนของ “ซูซาน” ในชื่อเพลงว่า “Therapy”

เป็นเพลงทำนองสนุก ที่เล่นกับคำซ้ำๆ ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะเป็นการแสดงถึงความรู้สึกที่สับสน ขื่นขม แต่การแสดงประกอบการร้องเพลงนี้เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ ดูรื่นรมย์แกมเศร้า แบบตลกร้องไห้ อย่างไรอย่างนั้น

นอกจากเพลงนี้แล้ว การ์ฟิลด์ยังได้โชว์ความสามารถในการร้องเพลงตลอดทั้งเรื่องในหลากหลายอารมณ์ ที่หากใครเป็นคอละครเวทีสักหน่อยจะต้องชื่นชอบและติดใจแน่นอน

 

ย้อนกลับมาพูดถึงในประเด็นอายุสักหน่อย ลาร์สันรู้สึกว่าในอายุ 30 เขายังล้มเหลวดังที่ปรากฏในหนัง แต่เมื่อเขาไม่ยอมแพ้ 5 ปีให้หลัง ละครเรื่อง “Rent” จากฝีมือการเขียนบทและแต่งเพลงของเขาก็ได้เปิดการแสดง โดยไม่มีเขาซึ่งจากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

ทำไมคนหลายคนจึงให้ความสำคัญกับเลขอายุ 30 กัน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “วิลเลียม เจมส์” ได้ทำการวิจัย และกล่าวไว้ว่า “เมื่อคนเราอายุ 30 ปีแล้ว แคแร็กเตอร์ของคนเราจะแข็งแกร่ง และจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอีกเลย”

เมื่อนำมาพิจารณาจากพฤติกรรมของช่วงวัยคนเราก็จะสอดคล้องกันว่า คนทั่วไปจบมหาวิทยาลัยในอายุราว 22-23 ปี เมื่อจบมาแล้วก็จะแสวงหาหนทางเพื่อจะรู้จักตนเอง ค้นหางานที่ตนเองชอบ สังคมแบบที่ตนพอใจและเป็นสุข ช่วงอายุยี่สิบกว่าๆ ยังเป็นวัยของการค้นหาและผจญภัย

ต่อเมื่ออายุถึงเลขสามแล้ว การผจญภัยนั้นก็มักจะถดถอยลง ด้วยหวังว่าเราจะได้คำตอบของชีวิตแล้ว

คำตอบที่ว่าเป็นทั้ง “การงาน” และ “ชีวิต” พ่อแม่หลายคนเริ่มกังวลหากลูกอายุ 30 แล้วยังไม่มีงานอะไรทำเป็นโล้เป็นพาย บางคนกดดันตัวเองอีกว่า แม้เมื่อมีงานแล้วก็จริงแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ หรือมีผลิตผลที่สร้างความภูมิใจให้ เช่น ไม่มีรถ ไม่มีบ้าน เป็นต้น

ยิ่งคุณผู้หญิงพออายุแตะสามสิบ เริ่มกังวลว่าตกลงฉันจะมีคู่ไหมเนี่ย หลายคนจึงยึดอายุ 30 ปี เป็นดั่ง “Mid Life Crisis” ซึ่งก็คือภาวะที่เกิดความรู้สึกไม่ยั่งยืน พยายามค้นหาสิ่งที่ตัวเองขาดไป รวมถึงการรู้สึกไม่พอใจกับชีวิตว่าทำไมยังไม่ประสบความสำเร็จสักที

 

สําหรับโจนาธาน ลาร์สัน แล้ว เขาก็ประสบภาวะ “Mid Life Crisis” ดังที่เล่ามา โชคดีที่เขานำความผิดหวังนั้นมาเป็นแรงขับทำให้เขามุมานะเดินหน้าต่อ จนกระทั่งบรรลุความฝันของเขาได้ และเมื่อมันสำเร็จ ความสำเร็จก็จะแสดงตัวตนของมันเอง ไม่ว่าเจ้าของงานจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

ดังผลที่ว่า ละครเวที “Rent” นั้นได้รับการยกย่องให้เป็นละครเวที 1 ใน 10 เรื่องที่ “ต้องดู” กันเชียวล่ะ

เชื่อว่าผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ คงมีอายุเลย “Mid Life Crisis” กันมาพักใหญ่แล้ว แต่เมื่อยังมีชีวิต มีลมหายใจ ก็ย่อมจะต้องมี Crisis มาแพ้วพานเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่

แม้แต่หูเริ่มตึง ตาเริ่มมองไม่ชัด ก็เป็น Crisis อย่างหนึ่งแล้ว

ขอให้ทุกท่านอยู่กับ Crisis ด้วยความเข้าใจ พอใจ และเป็นสุขให้มากที่สุด เมื่อนั้นเราก็จะสำเร็จไปเอง เหมือนที่โจนาธาน ลาร์สัน สำเร็จ แม้ชีวิตจะหาไม่ไปแล้วก็ตาม