วัคซีน ‘ไร้สิทธิบัตร’ ความหวังพาโลกพ้นวิกฤตโควิด-19/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

วัคซีน ‘ไร้สิทธิบัตร’

ความหวังพาโลกพ้นวิกฤตโควิด-19

 

แม้ปัจจุบันโลกจะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้มนุษย์เผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดอย่างโควิด-19 ได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ยังอยู่ห่างไกลกับคำว่า “สิ้นสุด”

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากกว่า 60 ชนิด หลายๆ ชนิดมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อหรือป่วยหนักได้ แต่ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการพัฒนา รวมไปถึงผลประโชน์ในเชิงพาณิชย์ ยังส่งผลให้วัคซีนทุกชนิดมี “สิทธิบัตร” ส่งผลให้วัคซีนมีราคาสูง และไม่สามารถส่งไปถึงทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะพื้นที่ด้อยโอกาสได้เร็วพอที่จะยุติการแพร่ระบาดได้

แม้โลกจะมีโครงการโคแวกซ์ นำโดยองค์การอนามัยโลก แจกจ่ายวัคซีนไปนับพันล้านโดสไปทั้วโลก นอกจากนี้ ยังมีประเทศร่ำรวยบริจาควัคซีนให้กับประเทศยากจน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้ประชากรโลกเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง

จากข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันมีประชากรโลกเพียง 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่มีประชากรโลกไม่ถึงครึ่งที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และในประเทศยากจน สัดส่วนก็ย่อมต่ำไปกว่านี้มาก

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโลกอาจมีความหวังขึ้นมาแล้ว กับวัคซีนที่มีชื่อว่า “คอร์บีแวกซ์” (Corbevax) วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์พัฒนาวัคซีน โรงพยาบาลเด็กเท็กซัส ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เบเลอร์คอลเลจออฟเมดิซิน สหรัฐอเมริกา และเป็นวัคซีนตัวเดียวกันกับที่ประเทศ “อินเดีย” เพิ่งอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉินไปเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดย “คอร์บีแวกซ์” จะเป็นวัคซีนที่มีราคาถูก สามารถเก็บรักษาได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญก็คือ วัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้จะ “ไม่มีสิทธิบัตร”

วัคซีน “คอร์บีแวกซ์” หรือที่ทีมพัฒนาเรียกว่า “วัคซีนโควิด-19 ของโลก” วัคซีนซึ่งร่วมพัฒนากับบริษัทยา “ไบโอโลจิคอล อี” ของประเทศอินเดีย บริษัทที่จะรับหน้าที่ผลิตและแจกจ่ายในประเทศอินเดียต่อไปนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เดลต้าถึง 80 เปอร์เซ็นต์

“คอร์บีแวกซ์” ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกับการผลิต “วัคซีนไวรัสตับอับเสบ บี” คือการเลี้ยงโปรตีนหนามแหลมของโควิด-19 ในเซลล์ของยีสต์ ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมที่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ด้วยต้นทุนต่ำ แม้จะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดก็ตาม

นอกจากนี้ คอร์บีแวกซ์ยังสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป ที่จะทำให้สามารถกระจายวัคซีนไปได้กว้างขวางกว่าวัคซีน “เอ็มอาร์เอ็นเอ” ที่ต้องมีตู้เย็นแบบพิเศษ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้พัฒนาวัคซีนจะ “ไม่จดสิทธิบัตร” วัคซีน “คอร์บีแวกซ์” และวางแผนที่จะเปิดเผยสูตร หรือร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีนกับผู้ผลิต และประเทศต่างๆ ที่สนใจโดยไม่มีการคิดค้ากำไรใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งนั่นส่งผลให้วัคซีนจะมีราคาคาดการณ์การผลิตล็อตใหญ่ที่ต่ำลงได้ถึง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 50 บาทเท่านั้น

ซึ่งนับว่ามีราคาย่อมเยาวกว่าวัคซีนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่โลกใช้ฉีดเป็นหลักในเวลานี้ทั้งหมด

 

“ไบโอลีจิคอล อี” ของอินเดียเวลานี้ผลิตวัคซีน “คอร์บีแวกซ์” ไปแล้ว 150 ล้านโดส และจะมีกำลังการผลิตได้ 100 ล้านโดสต่อเดือน ขณะที่ทีมพัฒนาวัคซีนระบุว่า ได้มีการเปิดเผยสูตรวัคซีนให้กับอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และบอสวานา ไปแล้วก่อนหน้านี้

ปีเตอร์ โฮเตซ ผู้ร่วมทีมพัฒนาวัคซีน และคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เบเลอร์คอลเลจออฟเมดิซิน ระบุว่า โครงการพัฒนาวัคซีนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การผลิต “วัคซีนเพื่อทุกคน” นั้นส่งผลร้ายต่อเนื่องขึ้น และย้ำว่า หากมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรโลกได้เร็วกว่านี้ โควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” จะไม่มีทางแพร่ระบาดได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม วัคซีน “คอร์บีแวกซ์” ก็ยังคงมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มเข้ามาระบาดครองโลกแทนที่สายพันธุ์เดลต้าแล้วในเวลานี้

แน่นอนว่าทีมพัฒนาวัคซีนคาดว่าจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์โอมิครอนในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่มีพบว่าวัคซีน “คอร์บีแวกซ์” นั้นอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้นานกว่าวัคซีนบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า การฉีด “คอร์บีแวกซ์” เป็นบูสเตอร์นั้นก็สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ด้วย

 

จริงๆ แล้ววัคซีน “คอร์บีแวกซ์” ไม่ใช่วัคซีนเพียงชนิดเดียวที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศยากจนเท่านั้น แต่ล่าสุด วัคซีน 2 ชนิดของประเทศคิวบาที่มีชื่อว่า “แอบดาลา” (Abdala) และวัคซีน “โซเบอร์นา 02” (Soberna 02) ที่ใช้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมในการพัฒนา มีต้นทุนถูก และมีผลการทดสอบในการทดลองเชิงคลินิกในการป้องกันอาการป่วยได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจเป็นความหวังใหม่ให้กับโลกได้ เมื่อคิวบาประกาศจะไม่จดสิทธิบัตรและเผยแพร่สูตรการผลิตสู่สาธารณะเช่นกัน

วัคซีนทั้งสองชนิดรัฐบาลคิวบาใช้ควบคุมโควิด-19 ในประเทศให้มียอดผู้ติดเชื้อลดลงได้หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ล่าสุด รัฐบาลประเทศเม็กซิโกกลายเป็นรัฐบาลล่าสุดที่อนุมัติให้มีการใช้วัคซีน “แอบดาลา” วัคซีนที่ต้องฉีดด้วยกัน 3 โดสแล้วเมื่อต้นปี 2022

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยังคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะรับรองให้มีการใช้วัคซีนทั้งสองชนิดของประเทศคิวบา ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะทำให้สามารถกระจายวัคซีนไปยังประเทศอื่นๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น

และนั่นคงทำให้ความหวังอันเลือนรางที่วิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลงนั้นอาจชัดเจนขึ้นได้บ้าง