แก้ปัญหาสินค้าแพงหูฉี่ จับตา ‘บิ๊กตู่’ หยิบไม้เรียวหวด สะสางแก๊ง ปั่นหัว ปั่นราคา/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

แก้ปัญหาสินค้าแพงหูฉี่

จับตา ‘บิ๊กตู่’ หยิบไม้เรียวหวด

สะสางแก๊ง ปั่นหัว ปั่นราคา

 

วันนี้ไม่ว่าจะเดินไปไหน ก็จะได้ยินเสียงบ่นถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคว่า “แพงหูฉี่”

ซึ่งหากมองไปที่ผู้ค้าก็หันมาตอบว่า เหตุเพราะต้นทุนผลิตและค่าใช้จ่ายปรับราคาสูงขึ้นทุกอย่าง อั้นไม่ไหวต้องปรับราคาขายส่งขายปลีก

เมื่อหันไปถามรัฐบาลว่าดูแลอย่างไร บ้างก็อ้างกลไกตลาดสินค้ามีขึ้นเดี๋ยวก็ลง หรือไม่หากถูกกดดันหนักก็ใช้มุขเดิม ขอความร่วมมือธุรกิจตรึงราคาสินค้า

น่าสังเกตคือ ครั้งนี้ใช้คำว่า ขอความร่วมมือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ไม่ชัดเจนเหมือนในอดีต ระบุให้ชัดขอตรึง 2 เดือน 3 เดือน หรือเลื่อนขั้นราคาไปก่อน 1 ปี

กะเทาะดูเหตุทำไม “หมูราคาแพง” ครั้งนี้ สังเกตเห็นต้นเหตุที่แตกต่างไปจากอดีต

ที่ผ่านๆ มา ปัญหาสินค้าราคาแพงจากของขาดหรือราคาตกต่ำจากของล้นตลาด ในกลุ่มพืชหรือปศุสัตว์มักเกิดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะฝนชุก น้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนอบอ้าวผิดปกติ

แต่ครั้งนี้ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องโทษ “ความล่าช้าการแก้ปัญหาและปล่อยให้ปัญหาสะสม”

ปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และน้ำมันปาล์ม ถูกโยงไปเรื่องปัญหาควบคุมโรคระบาดในสัตว์ไม่ได้ และวัตถุดิบที่ทำให้สัตว์และพืชเติบโตล้วนแห่ปรับราคาทั้งสิ้น

ทำให้ต้องสุ่มสำรวจถึงสถานการณ์ผลผลิตและทิศทางราคาด้านอาหาร ในอนาคต จะเจออะไรแพงขึ้นอีก!!

 

ย้อนดูราคาสินค้าเกษตรสัปดาห์แรกของการเปิดทำการหลังหยุดยาวขึ้นปีใหม่ 2565 ผ่านไป พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ป้อนโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มจากหาบละ 645 บาท เป็น 648 บาท ทิศทางทรงตัวระดับสูงตลอดเดือน

ราคากากถั่วเหลืองสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 19.90 บาท เป็นกิโลกรัมละ 20.10 บาท จากการเพาะปลูกที่บราซิลและอาร์เจนตินา แหล่งใหญ่ป้อนโลก ประสบปัญหาอากาศแห้งแล้งต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตใหม่อาจลดลงมาก สวนทางความต้องการใช้คงสูงต่อเนื่อง ปริมาณซื้อในตลาดมากขึ้น ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงสูงทรงตัว ส่งผลให้ราคากากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าปรับสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นอีกในสัปดาห์ต่อไป

สำหรับราคาข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามการซื้อขายข้าวตลาดต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 435 เหรียญสหรัฐ เป็นตันละ 438 เหรียญสหรัฐ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 383 เหรียญสหรัฐ เป็นตันละ 387 เหรียญสหรัฐ ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,300 บาท เป็นกระสอบละ 1,320 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,130 บาท เป็นกระสอบละ 1,150 บาท โดยแนวโน้มระดับราคาสูงต่ออีกในเดือนต่อไป

ส่วนราคาสุกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศแล้วสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม อยู่ที่กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 110 บาทจากเคยอยู่แค่ 70-80 บาท/ก.ก. คาดว่าความต้องการเริ่มทรงตัวเพราะราคาสูงจนคนหันบริโภคอาหารโปรตีนอื่นแทนมากขึ้น เป็นการสยบกระแสข่าวจะเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศนั้นไม่จำเป็นแล้วเนื่องจากต้องพิจารณาผลกระทบทั้งห่วงโซ่

ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 3,700 บาท และแนวโน้มราคาคงอยู่ในอัตราเท่าเดิมครั้งแรกในรอบ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สำรวจราคาไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อประกาศราคาแนะนำไก่เนื้อหน้าฟาร์ม 40 บาท/ก.ก. โดยยืนยันกับกระทรวงพาณิชย์จะคงไว้ถึงตรุษจีนค่อยทบทวนกันใหม่ ทำให้ราคาลูกไก่เนื้อคงที่ตัวละ 15.50 บาท ลูกไก่ไข่ตัวละ 28.00 บาท

ส่วนราคาไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศตรึงราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.90 บาท ตั้งแต่ 13 มกราคมเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ผลจากให้ความร่วมมือกับภาครัฐตรึงราคา

จากนั้นสินค้าอุปโภคหลายตัวตบเท้าเข้ายื่นเอกสารต้นทุนที่สูงขึ้น และขอปรับราคา 5-10% ทั้งสินค้าแปรรูปในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยยกปัญหาอาหารสัตว์และค่าใช้จ่ายถีบตัวสูงขึ้น

หนักอกสุดคือ พ่อค้าแม่ค้าอาชีพอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ทยอยขึ้นป้าย ประกาศให้ลูกค้ารับทราบทั่วกัน จากนี้ ขอปรับราคาเมนูละ 5-10 บาท ไม่สนใจที่ภาครัฐออกมาประกาศว่ายังไม่ให้สินค้าใดขึ้นราคา แต่ในทางปฏิบัติ เกือบหาซื้อน้ำมันปาล์มขวด (ลิตร) ละ 55-56 บาทตามราคาแนะนำที่ระบุไว้กับกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้แล้ว ส่วนใหญ่ขวดละ 60 บาทขึ้นไป ทำให้ตอนนี้หันไปร้านอาหารใด เมนูหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40-45 บาท จากปีก่อน 30-35 บาทหากินได้ไม่ยาก

เรื่องนี้ทุกภาคส่วนระบุว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขจริงจัง และล้อมคอกก่อนเกิดปัญหา

 

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุไว้ว่า จากผลกระทบที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอดีต หากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบการเตือนภัยสินค้าเกษตรที่แม่นยำ หรือสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 3-6 เดือน ว่าไทยจะขาดแคลนสุกร หรือสินค้าประเภทอื่นๆ เมื่อไหร่ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ หรือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะไม่เดือดร้อนแบบในปัจจุบันนี้

อีกทั้งทางภาครัฐมีข้อมูลจำนวนสุกรในระบบอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงถือว่าระบบการเตือนภัยสินค้าฯ ในประเทศทำงานผิดพลาด หรือความจริงแล้วอาจไม่ได้ทำการแจ้งเตือนเลยก็เป็นได้

จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสุกรหรือสินค้าอื่นๆ ซ้ำอีก และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรราคาสินค้าของไทยไม่ให้แพงจนสู้เรื่องการส่งออกกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นเรื่องสุกรที่เริ่มขาดแคลนในช่วงนี้ ขอเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือในกลุ่มที่ไม่มีทุนรอน

นอกจากรัฐจะส่งเสริมเลี้ยงการเลี้ยงสุกรให้ใหม่แล้ว ต้องหาที่เลี้ยงให้ใหม่ด้วย เพราะหากฟาร์มนั้นเป็นฟาร์มที่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) แม้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแล้ว เชื้อโรคก็ไม่ได้ไปไหน

หากรัฐบาลยังยืนยันว่าให้เลี้ยงที่เดิม ถือว่าเดินมาผิดทาง ต่อให้เลี้ยงใหม่ก็เจ๊งเช่นเดิม

และในปี 2565 อุตสาหกรรมหมูก็อาจเดินหน้าต่อไม่ได้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งกฎในการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้เดินหน้ากิจการต่อ โดยหากรายใดต้องการความช่วยเหลือต้องย้ายที่เลี้ยงใหม่เท่านั้นจึงจะได้งบฯ สนับสนุนจากรัฐ

ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการเยียวยาสุกรที่เสียชีวิตหรือถูกทำลายจากโรคเอเอสเอฟ

เพราะถ้าให้งบประมาณไปแล้วไปเลี้ยงที่เดิมก็เท่ากับให้เงินไปเสียเปล่า

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องสนับสนุนผู้เลี้ยงรายใหม่เพราะมั่นใจได้ว่าปลอดจากเชื้อเอเอสเอฟแน่นอน เพราะเป็นการเลี้ยงในพื้นที่ใหม่

ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายกลางและรายใหญ่ที่มีทุนรอนอยู่บ้าง อยากแนะนำให้เปลี่ยนมาเลี้ยงไก่ในสถานที่เดิมเพราะโรคเอเอสเอฟไม่แพร่กระจายเชื้อในไก่ หรือย้ายที่เลี้ยงและใช้มาตรฐานการเลี้ยงสุกรแบบปิดแทน เพื่อป้องกันการเกิดโรคได้อย่างชัดเจนต่อไป

ขณะที่เรื่องการส่งออกสุกรมีชีวิตลืมไปได้เลย ในปี 2565 ไทยจะไม่มีรายได้จากส่วนนี้แน่นอน

 

ราคาสินค้าราคาอาหารแพงขึ้นแค่ไหน ก็สามารถวัดได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค ที่เราๆ เรียกว่าเงินเฟ้อนั้น สูงขึ้น 1-2% ต่อเดือน สูงขึ้นอีกครั้งในรอบ 3 ปี ซึ่งเราได้เห็นสัญญาณนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นมาถึง 2.71% เดือนธันวาคม 2565 เพิ่มขึ้น 2.17%

จากนี้คงต้องมาลุ้นต่อว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉุนขาด “ถ้าจะขึ้นราคาแล้วมีเหตุผลสมควร ก็คงไม่มีอะไร แต่ขอร้องว่า อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากก็แล้วกัน ต้องไปคำนวณที่ต้นทุน ไม่ใช่ราคาน้ำมันขึ้น 1 บาทหรืออะไรขึ้นแค่บาทเดียว แล้วไปขึ้นราคาสินค้าอื่น 5 บาท เอาเหตุผลอะไรมาขึ้นตั้ง 5 บาท ไม่เข้าใจ ขออย่าเห็นแก่ตัวกันในเวลานี้…”

จะเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น!!!