คาดยอดป่วยโอมิครอนใน ‘อังกฤษ-สหรัฐฯ’ ถึงจุดพีค ‘อนามัยโลก’ เตือนอย่ารีบมองโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

คาดยอดป่วยโอมิครอนใน ‘อังกฤษ-อเมริกา’ ถึงจุดพีค ผู้ป่วยใหม่จ่อลดเร็ว อนามัยโลก เตือนหลายประเทศอย่ารีบปรับมุมมอง-การรับมือโควิด-19 เหมือนโรคประจำถิ่นแทนโรคระบาด

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเห็นสัญญาณว่าการแพร่ระบาดอันน่าตกใจของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนได้ถึงจุดสูงสุดแล้วทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากนี้อาจเห็นการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในทั้งสองประเทศดังกล่าว

เหตุผลสำคัญคือโอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ไม่เหลือผู้คนที่จะติดเชื้ออีก เพราะการแพร่ระบาดทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเพียงเดือนครึ่งหลัง ตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้

อาลี มกแดด อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สถิติการแพทย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงรวดเร็วพอๆ กับตอนที่มันเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยวอชิงตันมีรูปแบบการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ได้รับความเชื่อถือและมีอิทธิพลสูง โดยมกแดดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่าการติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.2 ล้านคนในวันที่ 19 มกราคมนี้ ก่อนที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกคนที่อาจติดเชื้อได้พากันติดเชื้อไปทั้งหมดแล้ว

มกแดดกล่าวด้วยว่า ในความเป็นจริงระบบคำนวณของมหาวิทยาลัยชี้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่แท้จริงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายรวมถึงผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ที่ 6 ล้านคนต่อวัน

ขณะที่ในอังกฤษ ข้อมูลของรัฐบาลชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ได้ลดลงเหลือเฉลี่ย 140,000 คนต่อวันเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ได้พุ่งสูงไปมากกว่า 200,000 คนต่อวันในช่วงต้นเดือนมกราคม

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้อังกฤษจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ อาทิ ทางตะวันตกเฉียงใต้และทางตอนกลางฝั่งตะวันตกของประเทศ แต่การแพร่ระบาดในกรุงลอนดอนน่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้ว

ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดความหวังว่าอังกฤษและสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ นั่นคือการแพร่ระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นราวหนึ่งเดือน ซึ่งดันให้สถิติผู้ติดเชื้อพุ่งสู่ระดับสูงสุด ก่อนที่จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ กระนั้นก็ดีความแตกต่างคืออังกฤษมีประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักในช่วงฤดูหนาวมากกว่าซึ่งอาจทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงออกมาเตือนว่าขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในระยะต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากการแพร่ระบาดหนักของโอมิครอนเกิดขึ้นเพียงในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา และยังคงต้องจับตาดูช่วงเวลาในอีกหลายสัปดาห์และอีกหลายเดือนต่อจากนี้ ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับระบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

ขณะที่ รอยเตอร์สรายงานว่า องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนเรื่องโรคโควิด-19 ว่าอย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนมุมมองและการรับมือเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดแทนที่มองเป็นโรคระบาด เหตุการแพร่เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนยังคงลุกลามและยังไม่มีท่าทีจะเสถียร

แคทเทอรีน สมอลล์วู้ด ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายฉุกเฉินประจำยุโรปของอนามัยโลกกล่าวว่า เรายังคงมีความไม่แน่นอนจำนวนมหาศาลและไวรัสที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ดังนั้น เราจึงไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแน่นอน

ท่าทีดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่ เปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีสเปน ออกมากล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการของ โควิด-19 โดยใช้วิธีการที่คล้ายกับการติดตามไข้หวัดใหญ่แทน เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง นั่นจะหมายความถึงการรักษาไวรัสแบบ “โรคประจำถิ่น” มากกว่าที่จะเป็นโรคระบาด