ตะกรุด ‘มหาปราบ’ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พระเกจิลุ่มแม่กลอง

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

ตะกรุด ‘มหาปราบ’ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พระเกจิลุ่มแม่กลอง

 

“หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ” หรือ “พระราชมงคลวุฒาจารย์” วัดเสด็จ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่กลองต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธา

สำหรับวัตถุที่ได้รับความนิยม คือ “ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา” เด่นด้านระงับดับภัย โชคร้ายกลายเป็นดี ดับทุกข์โศกหรือเรื่องร้าย ด้วยมีประวัติการสร้าง เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว และเป็นเครื่องรางของขลังประจำพระวรกายองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ออกศึกทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา (มังสามเกียดหรือมังกยอชวา) ทำให้ทหารพม่าแตกทัพไป

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “ตะกรุดมหาปราบ”

 

หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ

สำหรับตะกรุดมหาปราบ จะมีขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว สร้างตามแบบกรรมวิธีเดียวกับตะกรุดมหาระงับปราบหงสา แต่จะมีอักขระยันต์บางชุดที่ถูกถอดออกไป เนื่องด้วยกรรมวิธีการสร้างของตะกรุดปราบหงสาที่ยุ่งยาก จึงสร้างตะกรุดมหาปราบแทน ซึ่งทำได้ง่ายกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นตะกรุดที่หายากอยู่ดี เพราะกรรมวิธีการสร้างที่ยุ่งยากและพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของตะกรุดนั้น เป็นที่แสวงหาของคนเป็นอันมาก

อีกทั้งตัวของหลวงปู่ใจไม่นิยมทำตะกรุดให้กับลูกศิษย์ทั่วไปง่ายๆ ด้วยเกรงว่าคนเหล่านั้นจะเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี อันจะทำให้เกิดบาปกรรมและเกิดความเดือดร้อนแก่คนดีๆ ได้

วิธีการสร้างตะกรุดมหาปราบ จึงมีจุดสังเกตที่เหมือนกันคือเมื่อลงอักขระยันต์ต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการพอกผงยา ก่อนที่จะมีการนำเอาไปตากให้แห้ง จากนั้นใช้เชือกหรือด้ายดิบถักทับแล้วจึงลงรักปิดทอง เพื่อรักษาตะกรุดไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นอันเสร็จสิ้นการทำตะกรุด

หลังจากนั้นจะหาฤกษ์งามยามดีตามตำราที่ท่านร่ำเรียนมาจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว เพื่อทำพิธีเสกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีพุทธคุณดังต้องการ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธี

หลวงปู่ใจเคยกล่าวว่า “สำหรับตะกรุดโทนดอกใหญ่นั้น มีดีหลายอย่าง แต่ไม่ได้ทำมากนัก เพราะทำยาก จะให้ใครก็ต้องพิจารณาให้แน่ใจว่าเป็นคนดีจริงๆ ถึงจะทำให้”

 

ตะกรุดมหาปราบ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

 

เดิมชื่อ “ใจ ขำสนชัย” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2405 ที่ บ้าน ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ต่อมาครอบครัวอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

อายุ 21 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบางเกาะเทพศักดิ์ มีพระอาจารย์จุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “อินทสุวัณโณ”

ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม วิปัสสนากัมมัฏฐาน รวมถึงอาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ ตั้งใจเล่าเรียนธรรมทั้งอักษรไทยและขอมจนแตกฉาน มีความสนใจในด้านวิทยาคมต่างๆ และศึกษาวิชาทางสมาธิภาวนาจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระเกจิอาจารย์ชื่อดังกาญจนบุรี

พ.ศ.2434 พระอาจารย์จุ้ย พิจารณาเห็นว่าเป็นผู้มีความสามารถ ภูมิปัญญาความรอบรู้ พอที่จะดูแลตัวเอง และหมู่คณะได้เป็นอย่างดี และขณะนั้น วัดใหม่ยายอิ่ม ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ จึงมอบหมายให้ไปดูแลปกครอง

ทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างและพัฒนาวัดแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ จนเป็นวัดแห่งหนึ่งของสมุทรสงคราม ที่มีความใหญ่โต สวยงาม เป็นหน้าเป็นตา

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามหัวเมืองใหญ่ เสด็จมายังวัดแห่งนี้ ได้ประทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดเสด็จ”

ทรงคุ้นเคยกับวัดเสด็จ พระองค์ทรงมีเมตตาต่อหลวงปู่ใจ ดังจะเห็นได้จากอุโบสถที่สร้างใหม่นั้น ประทานทุนทรัพย์จ้างช่างหลวง ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้ นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงค์ที่เคยตามเสด็จ ยังร่วมบริจาคทรัพย์สมทบในการสร้างอีกด้วย

 

ย้อนกลับไปในสมัยที่หลวงปู่ใจกำลังสร้างวัดเสด็จ ต้องเดินทางไปที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปหาซื้อไม้มาสร้างวัด ท่านขึ้นล่องอยู่หลายปีจึงสร้างวัดได้สำเร็จ และทุกปี จะมาแวะพักที่วัดหนองบัว นำหมากพลูมาถวายหลวงปู่ยิ้ม ซึ่งท่านเคารพหลวงปู่ยิ้มมาก

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ยิ้มพูดกับท่านว่า ถ้าสนใจในวิทยาคมก็จะถ่ายทอดให้ ท่านจึงรีบขอเป็นศิษย์ทันที หลวงปู่ยิ้มมอบบทเรียนบทแรกว่าด้วยการทดสอบพลังจิต โดยจุดเทียนตั้งไว้ที่ขันน้ำมนต์ แล้วให้ท่านเพ่งกระแสจิตไปที่เทียนให้เทียนขาดกลางให้ได้ ถ้าทำได้เมื่อใดจึงจะมอบวิชาให้

หลวงปู่ใจทำอยู่ 7 คืน เทียนก็ไม่ยอมขาด หลังจากกลับมาพัก จึงตัดสินใจว่าถ้าหากคืนพรุ่งนี้ เทียนยังไม่ขาด ก็จะกลับอัมพวา ปรากฏว่าคืนวันที่ 8 ท่านทำได้สำเร็จ

หลวงปู่ยิ้มกล่าวชมว่า “เมื่อแรกเรียนท่านก็เก่งกว่าเสียแล้ว” เพราะหลวงปู่ยิ้มต้องทำอยู่นานถึง 15 วัน หลวงปู่ยิ้มจึงถ่ายทอดวิชาว่าด้วยการสร้างตะกรุดมหาระงับปราบหงสา ตะกรุดลูกอมอันเลื่องลือให้แก่หลวงปู่ใจจนหมดสิ้น

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุทธิสารวุฒาจารย์

วันที่ 5 ธันวาคม 2504 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมงคลวุฒาจารย์

มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2505 สิริอายุ 100 ปี พรรษา 78