2503 สงครามลับ สงครามลาว (63)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (63)

 

ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ

บันทึกการถอนตัวจากสกายไลน์ของฝ่ายเวียดนามเหนือครั้งนี้ ตรงกับรายงานของ พ.อ.เหงียน ชวง ซึ่งประสบความสำเร็จในการเข้ายึดที่หมายรองที่บ้านนาเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ.2514 ดังนี้

“ในที่สุดเมื่อเวลา 19.00 น. กำลังของฝ่ายเราก็เข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมด รวมทั้งคลังกระสุนและคลังอาวุธ ทำให้สามารถยึดอาวุธและสิ่งอุปกรณ์ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสามารถกำชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อฝ่ายอำนวยการด้านยุทธการให้ส่งรายงานไปยังกองบัญชาการส่วนหน้าว่า กรมของเราสามารถปลดปล่อยบ้านนาได้เรียบร้อยแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าถึงกับงงงันไปชั่วขณะเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ส่วนเข้าตีหลักของเราล้มเหลวในการเข้ายึดที่หมายล่องแจ้งและกำลังถอนตัว ข้าพเจ้าจึงออกคำสั่งให้หน่วยวางกำลังยึดรักษาพื้นที่บ้านนาไว้ให้เหนียวแน่นป้องกันการเข้าตีเพื่อยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายข้าศึก”

แม้การเข้าตีหลักต่อที่หมายล่องแจ้งจะล้มเหลว แต่การปฏิบัติตาม CAMPAIGN 74B ของฝ่ายเวียดนามเหนือจะยังคงดำเนินการต่อไป

 

ล่องแจ้งยังไม่ปลอดภัย

เมื่อภารกิจการกวาดล้างในบริเวณดังกล่าวของกองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และ 606 ได้เสร็จสิ้นลงแล้วจึงได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับสู่ล่องแจ้งเพื่อเตรียมการออกกวาดล้างในพื้นที่ถ้ำตำลึงและบ้านหินตั้งต่อไป

ขณะที่ได้เข้าปฏิบัติการในบริเวณดังกล่าวอยู่นั้น ฝ่ายข้าศึกได้ย้อนรอยกระจายกำลังกลับเข้าไปยึดครองพื้นที่ภูถ้ำแซอีกครั้งหนึ่ง

โดยได้สถาปนาที่มั่นตั้งรับให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์ด้วยการดักซุ่มโจมตีและยิงจรวดระยะไกลเข้าสู่ที่ตั้งของกองทัพแห่งชาติลาว และทหารเสือพรานอยู่ไม่ขาดระยะ

 

ภูถ้ำแซ : บีซี 601 602

15 มีนาคม 2514 ขณะที่บ้านนายังคงตกอยู่วงปิดล้อม บก.ผสม 333 ได้สั่งการให้เคลื่อนย้ายกองพันทหารเสือพราน บีซี 601 และ 602 ซึ่งเพิ่งประสบชัยชนะครั้งสำคัญที่บ้านห้วยทรายเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากเมืองปากเซมาสู่พื้นที่ทุ่งไหหิน

โดยให้ทั้งสองกองพันนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ “บก.ชาลี” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการปฏิบัติของทั้งสองกองพันนี้เป็นการเฉพาะ

ภารกิจแรกในพื้นที่ทุ่งไหหินของทั้งสองกองพันนี้ คือการเข้ายึดภูถ้ำแซคืน ซึ่งแม้ฝ่ายข้าศึกจะได้พยายามตีโต้ตอบผลักดันอย่างเต็มที่แต่ไม่สามารถสกัดการรุกของทั้งสองกองพันนี้ได้

ฝ่ายเราจึงสามารถยึดพื้นที่นี้กลับคืนได้อีกครั้งหนึ่ง

ต่อจากนั้นจึงได้มอบพื้นที่แห่งนั้นให้กองทัพแห่งชาติลาวเข้าไปสับเปลี่ยนเมื่อ 23 เมษายน 2514

 

ถ้ำตำลึง : บีซี 605-606

ถํ้าตำลึงเป็นที่หมายสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งแต่ละฝ่ายหมายมั่นเข้ายึดครอง

ขณะนั้นทหารเวียดนามเหนือยังคงกระจายกำลังเข้าแทรกซึมอยู่ทางตอนเหนือของถ้ำตำลึงเต็มพื้นที่

ดังนั้น บก.ฉก.วีพี จึงได้กำหนดให้ บก.ฉก.บราโว่ เป็นหน่วยบัญชาการให้กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และ 606 เข้าโจมตีข้าศึกบริเวณบ้านถ้ำตำลึง และบ้านหินตั้ง

โดยมอบหมายให้ฐานปืนใหญ่ซีบร้า เป็นหน่วยยิงสนับสนุน

 

19 มีนาคม 2514

ทั้งสองกองพันได้เคลื่อนย้ายทางอากาศไปลงที่สนามบินถ้ำตำลึงเพื่อเข้าโจมตีข้าศึกตามแผนโดยกำหนดให้บีซี605 เข้าโจมตีทางปีกขวา และบีซี 606 เข้าตีทางปีกซ้าย

เส้นทางการเข้าโจมตีของบีซี 605 ทางปีกขวานั้นเป็นพื้นที่จำกัดอยู่ในหุบเขาลึกแทบไม่สามารถเลือกใช้เส้นทางอื่นได้ เป็นการเสียเปรียบทางยุทธวิธี กองพันนี้จึงเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่สังหารของข้าศึกซึ่งอยู่บนชัยภูมิที่สูงกว่า ข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธนานาชนิดเข้าใส่ฝ่ายเราอย่างหนักทำให้ทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

แม้กองพันทหารเสือพรานนี้จะตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ แต่ก็ยิงต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ทำให้สามารถลดการสูญเสียลงได้ไม่น้อย

ทั้งยังได้รับการยิงสนับสนุนจากฐานปืนใหญ่ซีบร้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถประสานการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้อากาศจะปิด บีซี 605 จึงหลุดพื้นจากการโจมตีมาได้อย่างหวุดหวิด

แต่ในที่สุดกองพันนี้ก็ต้องขออนุมัติถอนกำลังกลับ

ส่วนบีซี 606 ทางด้านปีกซ้ายท้ายเมื่อเคลื่อนกำลังถึงบริเวณหุบเขาบ้านหินตั้งก็ถูกข้าศึกยิงโจมตีด้วยอาวุธหนักสกัดการรุกคืบไว้ทุกด้านเพื่อรักษาที่มั่นอย่างหวงแหนเช่นกัน เมื่อข้าศึกได้ตั้งมั่นบนพื้นที่เนินสูงข่มที่เหนือกว่า ฝ่ายเราก็จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ จึงเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อยกว่ากำลังพลของ บีซี 605

ฉก.บราโว่ เห็นว่าทั้งสองกองพันตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ จึงได้สั่งการให้ถอนกำลังไปรักษาเส้นทางด้านตะวันออกของสนามบินถ้ำตำลึง ซึ่งในระยะต่อมาได้เคลื่อนย้ายไปตั้งฐานอยู่บนเนินซีบร้า

แม้ในห้วงเวลานั้น ฝ่ายเราจะไม่สามารถเข้าโจมตียืดที่หมายในบริเวณดังกล่าวได้อย่างเด็ดขาดก็ตาม

แต่ทำให้ทราบกำลังและจุดที่ตั้ง รวมทั้งขีดความสามารถในการต้านทานของข้าศึกได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรบในขั้นต่อไป

 

ล่องแจ้งปลอดภัย

“ชาลี คเชนทร์” บันทึกต่อไปว่า

“ภารกิจกวาดล้างในช่วงฤดูฝนเพื่อให้ปลอดข้าศึกในการเกาะติดต่อฐานที่มั่นฝ่ายเราได้ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกกองพันได้ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามรอบๆ เมืองล่องแจ้งให้หมดไปแล้ว ยังเป็นการตัดทอนกำลังข้าศึกไม่ให้ประสานกับแนวหลังเพื่อส่งกำลังบำรุงให้แก่หน่วยในแนวหน้าได้สะดวก

อีกทั้งเป็นการยึดครองขยายพื้นที่การรบให้กว้างไกลออกไป ซึ่งจะสร้างความยากลำบากต่อฝ่ายข้าศึกในการเตรียมวางแผนรวมกำลังเข้าโจมตีฝ่ายเราในหน้าแล้ง หรือแม้แต่การบุกทะลวงถึงสันเขาสกายไลน์ และเมืองล่องแจ้งได้นั้นย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย เพราะต้องโจมตีฝ่าด่านต่างๆ ที่ตรึงแนวไว้รอบด้าน

ขณะนั้นภารกิจการกวาดล้างข้าศึกรอบๆ เมืองล่องแจ้งได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถยึดครองและขยายแนวรบได้ไกลในรัศมี 30 ตารางกิโลเมตร จนทำให้พ้นระยะการยิงจรวดลูกยาวของฝ่ายข้าศึกจากทุกด้าน

เมื่อใดที่ฝ่ายเราได้ขยายแนวไกลออกไป ต่างได้ตั้งฐานวางกำลังและดัดแปลงภูมิประเทศให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย

แม้กระนั้น หน่วยเหนือได้มอบหมายให้กองพันรักษาพื้นที่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น บางครั้งอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ต่อจากนั้นให้เคลื่อนย้ายเข้าสลับแทนในพื้นที่ของกองทัพแห่งชาติลาวหรือกองพันอื่นๆ”

“เมื่อได้รับคำสั่งให้ย้ายที่ตั้งเมื่อใด ทหารภายในหน่วยมักเกิดอาการเบื่อหน่ายต่อการสับเปลี่ยนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นั่นเป็นคำสั่งและเหตุผลของหน่วยเหนือที่ต้องการผลัดเปลี่ยนกำลังพลจากแนวหลังสู่แนวหน้าและหน่วยอื่นที่ทำศึกหนักได้กลับมาปรับกำลังพักผ่อนในแนวหลัง หรือต้องการพรางไม่ให้ข้าศึกตามไล่ล่าเกาะติดกองพันหนึ่งกองพันใดโดยเฉพาะ

อีกทั้งต้องการให้ทหารรู้จักและเกิดความเคยชินต่อพื้นที่ที่มีลักษณะแตกต่างกัน อันจะเป็นข้อได้เปรียบในการดำเนินกลยุทธ์ ดังตำราพิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า ‘ต่างพื้นที่ ต่างวิธีรบ’ การเคลื่อนย้ายฐานแต่ละครั้งต้องเตรียมการล่วงหน้าตามขั้นตอนกระบวนการทหาร ทุกคนต้องจัดสัมภาระประจำกายให้พร้อมสรรพ อีกทั้งต้องรับผิดชอบต่อการเคลื่อนย้ายยุทธปัจจัยภายในหน่วยให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการสู้รบให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ตามหลักการเคลื่อนย้ายเข้าสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่นั้น

กำลังพลทหารราบจะเดินทัพล่วงหน้าเข้าเคลียร์พื้นที่เป็นอันดับแรก

ขณะเดียวกันต้องเร่งการติดตั้งเครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้งานได้ทันที

ต่อจากนั้นการลำเลียงอาวุธหนักประจำกองพันหรือปืนใหญ่ประจำหน่วยจะต้องถูกจัดส่งทางรถยนต์หรือทางอากาศตามลำดับอย่างเร่งด่วน”